การเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตของธุรกิจครอบครัวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

22 พ.ย. 2567 | 05:13 น.

การเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตของธุรกิจครอบครัวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : Family Business Thailand รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

ธุรกิจครอบครัวถือเป็นรูปแบบองค์กรที่มีความโดดเด่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 60% ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในหลายประเทศ และมีสัดส่วนที่สูงกว่านั้นในกลุ่มบริษัทเอกชน

ธุรกิจครอบครัวเหล่านี้มักดำเนินกิจการสืบทอดต่อเนื่องกันมาหลายรุ่น และมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาค อย่างไรก็ตามเมื่อธุรกิจครอบครัวเข้าสู่การสืบทอดในรุ่นที่สองหรือสาม การสร้างระบบการกำกับดูแลครอบครัวที่มีประสิทธิภาพกลายเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อป้องกันความขัดแย้งภายในครอบครัว

ทั้งนี้ธุรกิจครอบครัวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องเผชิญกับความท้าทายที่หลากหลายและต้องปรับใช้กลยุทธ์เพื่อรักษาความสามัคคีของครอบครัว เพื่อให้สามารถรับประกันความสำเร็จในระยะยาวของธุรกิจได้ ธุรกิจครอบครัวที่ดำเนินมาหลายรุ่นมักเผชิญกับปัญหาภายใน เช่น ความขัดแย้งระหว่างทายาทที่มีความสามารถและความสนใจที่แตกต่างกัน

การเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตของธุรกิจครอบครัวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ซึ่งอาจกระทบต่อการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์และความต่อเนื่องของธุรกิจ การมีระบบการกำกับดูแลที่ชัดเจนทั้งในธุรกิจและครอบครัวจะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งและป้องกันการใช้อารมณ์นำในการตัดสินใจ หากขาดระบบดังกล่าว ธุรกิจครอบครัวอาจเผชิญกับความเสี่ยงจากปัญหาภายในที่ส่งผลต่อการสืบทอดและความมั่นคงของธุรกิจในรุ่นต่อไป

บทบาทของการกำกับดูแลครอบครัว การกำกับดูแลครอบครัวที่มีประสิทธิภาพเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยรับมือกับความท้าทายที่มาพร้อมกับการสืบทอดธุรกิจครอบครัวผ่านหลายรุ่น การสร้างกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนอย่างธรรมนูญครอบครัว หลายคนอาจคิดว่าธรรมนูญครอบครัวเป็นสิ่งที่รับมาจากตะวันตก ซึ่งดูเหมือนจะไม่เหมาะกับครอบครัวในเอเชีย

แต่ความจริงแล้วญี่ปุ่นและจีนมีประเพณีที่ยาวนานในการกำหนดกฎเกณฑ์สำหรับครอบครัวเจ้าของธุรกิจเพื่อรักษาชื่อเสียง อำนวยความสะดวกในการสืบทอดกิจการ และสืบสานจิตวิญญาณของการเป็นผู้ประกอบการ เช่น Mitsui Takahira ที่ได้วางหลักการในการแต่งตั้งผู้สืบทอดกิจการในกลุ่มธุรกิจมิตซุยในปี ค.ศ. 1722 รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์ด้านค่าตอบแทนและแนวทางการประพฤติตนของสมาชิกครอบครัว

ขณะที่กลุ่มตระกูลเหมี่ยว (Miu lineage group) ในจีน ซึ่งได้กำหนดค่านิยมครอบครัวสำหรับเจ้าของที่ดินรุ่นต่อ ๆ มาตั้งแต่ยุคราชวงศ์หมิง โดยระบุถึงบทลงโทษสำหรับสมาชิกครอบครัวที่ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวเอาไว้ ทั้งนี้การกำกับดูแลครอบครัวไม่เพียงหมายถึงการสร้างกฎเกณฑ์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งและส่งเสริมความเข้าใจร่วมกันภายในครอบครัว

ซึ่งถือเป็นการ “ลงทุน” ในด้านที่ละเอียดอ่อน เช่น การสร้างความสามัคคีภายในครอบครัว การส่งเสริมค่านิยมที่เหมาะสม และการรักษามรดกของครอบครัว ซึ่งช่วยสร้างความไว้วางใจระหว่างสมาชิกและลดข้อขัดแย้งภายในครอบครัว ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อครอบครัวขยายใหญ่ขึ้น การลงทุนของครอบครัวก็ยิ่งมีความสำคัญ การมีทิศทางที่เป็นแรงบันดาลใจในอนาคตจะช่วยให้รุ่นต่อ ๆ ไปมีความพร้อมในการขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่โอกาสใหม่ ๆ

กลยุทธ์ในการกำกับดูแลครอบครัวอย่างมีประสิทธิภาพ การกำกับดูแลครอบครัวอย่างมีประสิทธิภาพเป็นกุญแจสำคัญในการส่งเสริมความสำเร็จระยะยาวของธุรกิจครอบครัว โดยเริ่มต้นจากการสร้างโครงสร้างการกำกับดูแลที่เป็นทางการ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเป็นเอกภาพและการตัดสินใจที่มีประสิทธิผล

โครงสร้างนี้ควรกำหนดบทบาทและความรับผิดชอบของสมาชิกครอบครัวอย่างชัดเจน รวมถึงช่องทางการสื่อสารที่โปร่งใส กฎเกณฑ์ในการตัดสินใจ และกระบวนการแก้ไขข้อขัดแย้งที่เป็นระบบ ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของครอบครัวในกระบวนการต่างๆ

โดยหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญในการกำกับดูแลคือการจัดทำธรรมนูญครอบครัวที่ได้รับการตกลงร่วมกัน ซึ่งจะเป็นแนวทางในการตัดสินใจและการดำเนินงานที่ครอบคลุมทุกด้าน นอกจากนี้การจัดตั้งคณะกรรมการครอบครัวที่สามารถตัดสินใจแทนสมาชิกในครอบครัวได้ ยังเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ช่วยเสริมสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายในครอบครัวในเวลาที่จำเป็น

เช่น การประชุมครอบครัวที่จะทำให้สมาชิกทุกคนมีโอกาสแสดงความคิดเห็นและหารือเรื่องสำคัญร่วมกัน การลงคะแนนเสียงในประเด็นสำคัญยังเป็นกลไกที่ช่วยให้กระบวนการตัดสินใจเป็นไปอย่างโปร่งใสและยุติธรรม

ปัจจุบันเนื่องจากธุรกิจครอบครัวในเอเชีย รวมถึงประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่รุ่นที่สองหรือสาม จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะเริ่มต้นสร้างรากฐานที่มั่นคงโดยเร็วที่สุด ด้วยการวางโครงสร้างการกำกับดูแลที่แข็งแกร่ง กำหนดกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน ส่งเสริมการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ และนำความเป็นมืออาชีพเข้ามาใช้

เพื่อให้ธุรกิจครอบครัวสามารถรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้นระหว่างการเปลี่ยนผ่านจากรุ่นสู่รุ่นได้ ซึ่งการเตรียมธุรกิจครอบครัวให้พร้อมตั้งแต่วันนี้จะช่วยเปิดโอกาสที่มากขึ้นในอนาคตได้อย่างแน่นอน

 

ที่มา: Dieleman, M. (2024, February 7). Embracing change: Future-proofing family businesses in S-E Asia. The Business Times. https://www.businesstimes.com.sg/opinion-features/embracing-change-future-proofing-family-businesses-s-e-asia

 

ข้อมูลเพิ่มเติม: http://www.famz.co.th