ในโลกแห่งความเป็นจริง … สิ่งเดียวกันอาจมีทั้งประโยชน์และโทษ เช่นเดียวกับการตั้งโรงงานผลิตเกลือสินเธาว์ ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้หลากหลาย เช่น การผลิตสบู่ น้ำยาทำความสะอาด โรงงานน้ำแข็ง ฯลฯ
ในขณะเดียวกัน ก็อาจสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำให้ดินเค็มจนไม่สามารถใช้พื้นที่เพาะปลูกได้ ในการกำหนดพื้นที่อนุญาตให้จัดตั้งโรงงานที่อาจสร้างผลกระทบดังกล่าว จึงต้องมีหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และพิจารณาหลายอย่างประกอบกัน
เช่นเดียวกับคดีพิพาทที่หยิบมาฝากวันนี้ ... ซึ่งเป็นเรื่องที่หน่วยงานของรัฐ ออกประกาศกำหนดท้องที่สำหรับตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จนชาวบ้านใกล้เคียงไม่เห็นด้วย เรื่องราวของคดีจะเป็นอย่างไร มาติดตามกันเลยครับ ...
เรื่องมีอยู่ว่า ... ผู้ฟ้องคดีทั้ง 12 ราย มีภูมิลำเนาและทำเกษตรกรรมในที่ดิน ซึ่งต่อมากระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอให้เป็นพื้นที่อนุญาตให้ทำเกลือและสูบน้ำเกลือใต้ดิน โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการ จากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีประกาศ เรื่อง กำหนดท้องที่ที่อนุญาตให้ตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์ และโรงงานสูบหรือนำน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดิน และได้มีผู้ประกอบกิจการทำเกลือสินเธาว์หลายราย ขออนุญาตตั้งโรงงานในท้องที่ดังกล่าว ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีทั้งหมดมีภูมิลำเนาและทำเกษตรกรรมอยู่
ผู้ฟ้องคดีและชาวบ้านใกล้เคียงไม่เห็นด้วย จึงได้ร้องเรียนต่อหน่วยงานราชการมาโดยตลอด รวมทั้งมีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ขอให้เพิกถอนประกาศดังกล่าวและเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานทำเกลือสินเธาว์ ซึ่งรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงว่า โรงงานได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ผู้ฟ้องคดี (12 ราย)
จึงได้ยื่นฟ้องกระทรวงอุตสาหกรรม (ผู้ถูกฟ้องคดี) ต่อศาลปกครองสูงสุด ขอให้พิพากษาเพิกถอนประกาศกำหนดท้องที่ที่อนุญาตให้ตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์ ในส่วนพื้นที่ที่มีข้อพิพาท
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยสรุปได้ว่า เมื่อพิจารณาคำปรารภของประกาศกำหนดท้องที่ดังกล่าวแล้ว เห็นว่า มีจุดมุ่งหมายในการควบคุมการประกอบกิจการทำเกลือสินเธาว์ การสูบหรือนำน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดินให้มีระบบ ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ทำให้น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ แหล่งน้ำชลประทาน เพิ่มความเค็มก่อความเสียหายต่อการเกษตร และไม่ทำให้ดินถล่ม หรือยุบตัวก่อความเสียหายต่อบุคคลและทรัพย์สิน อันมีเจตนารมณ์เพื่อป้องกัน และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ ยิ่งกว่าเพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจของประเทศ การดำเนินการทำเกลือและสูบน้ำเกลือ จึงต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข และมาตรการควบคุมที่ทางราชการกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมออกประกาศพิพาทดังกล่าว โดยมิได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ตามมาตรา 33 (1) แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 (ใช้บังคับขณะเกิดข้อพิพาท ซึ่งกำหนดให้การออกประกาศดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน) จึงเป็นกรณีที่ออกกฎโดยไม่ชอบด้วยรูปแบบ ขั้นตอน หรือ วิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กฎหมายกำหนดไว้ อันเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ดังนั้น ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ในส่วนที่พิพาท จึงเป็นกฎที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย พิพากษาให้เพิกถอน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ ฟส. 2/2567)
จากคดีดังกล่าวสรุปได้ว่า กรณีที่จะดำเนินการออกกฎ (ประกาศ) เพื่อกำหนดท้องที่ที่อนุญาตให้ตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์ ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายว่าด้วยโรงงานกำหนด กล่าวคือ ต้องผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรีก่อน
ทั้งนี้ ปัจจุบันเรื่องดังกล่าวต้องดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 โดยมาตรา 32 ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการออกประกาศในลักษณะเดียวกับคดีพิพาทนี้ว่า ให้รัฐมนตรีโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับความคุ้มครองจากการกำกับดูแลที่จะทำให้การตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์ไม่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือความไม่ปลอดภัยใด ๆ นั่นเองครับ
(ปรึกษาการฟ้องคดีปกครองได้ที่ “สายด่วนศาลปกครอง 1355” และสามารถศึกษาความรู้ที่น่าสนใจเกี่ยวกับคดีปกครองได้ที่ “ศูนย์การเรียนรู้ศาลปกครองออนไลน์ https://aclib.admincourt.go.th/ )
หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,060 วันที่ 9 - 11 มกราคม พ.ศ. 2568