โต้แย้งประกาศเปิดไต่สวนการทุ่มตลาดสินค้า ฟ้องคดีที่ศาลใด?

03 พ.ย. 2567 | 07:00 น.

โต้แย้งประกาศเปิดไต่สวนการทุ่มตลาดสินค้า ฟ้องคดีที่ศาลใด? : คอลัมน์อุทาหรณ์จากคดีปกครอง โดย...นายปกครอง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4041

欢迎光临! ฮวนอิ๋งกวงหลิน! เสียงตะโกนจากเหล่าบรรดาร้านค้าและร้านอาหารจีน ที่กล่าวต้อนรับและเชื้อเชิญลูกค้าให้เข้าร้านในย่านไชน่าทาวน์แห่งใหม่ของไทย เช่น รัชดา - ห้วยขวาง ท่ามกลางบรรยากาศจำลองแดนมังกร ให้พอได้สัมผัสกลิ่นอายวัฒนธรรมจีน

ซึ่งดูเหมือนว่าจะได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในยุคปัจจุบัน สังเกตได้จากการขยายตัวของร้านหม้อไฟหมาล่าในทุกหัวมุมถนน ไปจนถึงการนำเข้าสินค้าจากจีน ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมบันเทิงอย่างซีรีส์จีนที่บุกตลาดไทย จนหลายคนถึงกับเปรยว่า “หลงอยู่ในกำแพงเมืองจีน จนหาทางออกไม่เจอ” กันเลยทีเดียวครับ !

ในขณะเดียวกัน ภาคการส่งออกของจีนก็คึกคัก และบางกรณีก็อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยได้ เช่น กรณีสินค้าจากจีนที่ทะลักเข้าไทยจนเกิดกรณี “การทุ่มตลาด (Dumping)” ซึ่งหมายถึง การส่งออกสินค้าของประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง โดยมีราคาส่งออกต่ำกว่าราคาของสินค้าชนิดเดียวกันที่ขายภายในประเทศของผู้ส่งออกเอง นำมาซึ่งมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping) ของภาครัฐ เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ อันเป็นประเด็นปัญหาที่นำมาบอกเล่ากันในวันนี้ครับ  

กรณีเจ้าหน้าที่ได้ใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน ซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ อันถือเป็นการกระทำทางปกครอง เช่นนี้ ... ศาลปกครองจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวหรือไม่ เพราะเหตุใด ?

 

นายปกครองขอเชิญทุกท่านร่วมสดับรับฟังอุทาหรณ์จากคดีปกครอง ตอน : โต้แย้งประกาศเปิดการไต่สวนการทุ่มตลาดสินค้า ... ฟ้องคดีที่ศาลใด? กันเลยครับ !

ขอเท้าความถึงที่มาที่ไปของกรณีพิพาท ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อ ... อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ได้ออกประกาศแจ้งเปิดการไต่สวนการทุ่มตลาดสินค้าประเภทอะลูมิเนียมอัดขึ้นรูป ที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศจีน ตามมติคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาด และการอุดหนุนที่เห็นควรให้เปิดการไต่สวน 

สืบเนื่องมาจากมีกลุ่มบริษัทเอกชนหลายราย ร่วมกันยื่นคำขอในนามของอุตสาหกรรมภายในผู้ผลิตสินค้าชนิดดังกล่าว โดยได้รับการสนับสนุนจากผู้ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันภายในประเทศ เพื่อให้กรมการค้าต่างประเทศ มีการพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าที่ว่า เพราะส่งผลกระทบต่อกิจการของตนซึ่งผลิตสินค้าชนิดเดียวกันภายในประเทศ 

กรมการค้าต่างประเทศเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นบริษัทที่อาจเป็นผู้นำเข้าหรือผู้ใช้สินค้าดังกล่าว ซึ่งมีสถานะเป็นผู้มีส่วนได้เสีย จึงแจ้งให้ร่วมตอบแบบสอบถามเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาไต่สวน ว่าจะคัดค้าน หรือสนับสนุนการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือไม่ 

แต่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ประกาศดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากก่อนออกประกาศฯ มิได้มีการตรวจสอบว่า บริษัทผู้ยื่นคำขอและผู้สนับสนุนเป็นผู้นำเข้าสินค้าทุ่มตลาดจากจีนเองหรือไม่ ไม่ว่าจะนำเข้ามาในนามตนเองหรือนำเข้ามาในนามบริษัทอื่น ที่ผู้ยื่นคำขอและผู้สนับสนุนมีความเกี่ยวข้องเป็นเจ้าของโดยเป็นผู้ถือหุ้นกลุ่มเดียวกัน 

หากเป็นเช่นนั้น ก็จะไม่ถือว่าบริษัทผู้ผลิตดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมภายในประเทศ อันจะมีสิทธิยื่นคำขอเพื่อขอให้คณะกรรมการพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาดได้ จึงยื่นฟ้องกรมการค้าต่างประเทศ และอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ) ต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนประกาศพิพาท 

ศาลปกครองสูงสุดท่านพิจารณาแล้วเห็นว่า กระบวนการใช้อำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ที่อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542 แม้ว่าจะเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายที่เป็นการกระทำในทางปกครองก็ตาม

แต่การดำเนินการเพื่อให้คณะกรรมการฯ ได้พิจารณา และมีคำวินิจฉัยในชั้นที่สุดว่ามีการทุ่มตลาดตามคำร้องหรือไม่ กฎหมายดังกล่าวบัญญัติให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ เป็นศาลที่มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ เมื่อมีผู้ไม่พอใจคำวินิจฉัยชั้นที่สุดของคณะกรรมการฯ ดังกล่าว 

                       โต้แย้งประกาศเปิดไต่สวนการทุ่มตลาดสินค้า ฟ้องคดีที่ศาลใด?

นอกจากนี้ แม้คำสั่งในกระบวนการการทุ่มตลาดจะเป็นคำสั่งทางปกครอง แต่โดยที่มาตรา 7 (8) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ และวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 บัญญัติให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งเกี่ยวกับการทุ่มตลาด และการอุดหนุนสินค้า หรือ การให้บริการจากต่างประเทศ  

ดังนั้น การใช้อำนาจตามกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับการทุ่มตลาด และการอุดหนุนสินค้า หรือ การให้บริการจากต่างประเทศ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง 

ศาลปกครองสูงสุดยืนตามศาลปกครองชั้นต้นที่มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 382/2567)

สรุปได้ว่า ... ข้อพิพาทเกี่ยวกับกระบวนการการทุ่มตลาด และการอุดหนุนสินค้า หรือ การให้บริการจากต่างประเทศ ที่แม้บางกรณีจะมีลักษณะเป็นการใช้อำนาจทางปกครอง แต่กฎหมายในเรื่องดังกล่าวกำหนดให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ  

ทั้งนี้ กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ก็ได้กำหนดประเภทคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองไว้ อันได้แก่ การดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหาร การดำเนินการของคณะกรรมการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ และคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลแรงงาน ศาลภาษีอากร ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลล้มละลาย หรือ ศาลชำนัญพิเศษอื่นอีกด้วยครับ

ถึงตรงนี้ทุกท่านคงได้คลายข้อสงสัยในประเด็นดังกล่าวกันไปแล้ว วันนี้ขอกล่าวอำลาไปพร้อมกับคำว่า 欢迎下次光临, 再见! (ฮวนอิ๋ง เซี่ยชื่อ กวงหลิน จ้ายเจี้ยน) โอกาสหน้าเชิญใหม่ แล้วพบกันครับ ! 

ท้ายนี้ ... นายปกครองขอแนะนำหนังสือรวมถาม - ตอบ (ฉบับการ์ตูน) หัวข้อ รู้ไว้ ฟ้องได้ถูก ... “เรื่องเป็นคดีปกครองหรือไม่ ?” ผู้ที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://anyflip.com/htowh/fpml/