ขึ้นภาษี VAT มากกว่า 7% ท้าทายรัฐบาลแพทองธาร

08 ธ.ค. 2567 | 16:32 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ธ.ค. 2567 | 16:44 น.
928

ขึ้นภาษี VAT มากกว่า 7% ท้าทายรัฐบาลแพทองธาร : คอลัมน์ฐานโซไซตี โดย...ว.เชิงดอย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4,051

*** คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4,051 ระหว่างวันที่ 8-11 ธ.ค. 2567 “ว.เชิงดอย” ประจำการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่มีสาระ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเช่นเคย

*** นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และรมว.คลัง ได้เป็นประธานเปิดงานและกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ Financial  Policies for Sustainable Economy จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2567 ที่ผ่านมา โดยได้พูดถึงมาตรการด้านภาษีของประเทศ ว่า กระทรวงการคลัง มีแนวทางในการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ประกอบด้วย 1.ภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งที่ผ่านมามีการพิจารณา Global Minimum Tax (GMT) ที่ทำให้มีการปรับภาษีเงินได้นิติบุคคลของแต่ละประเทศ โดยไทยจะศึกษาการจัดเก็บจาก 20% เป็น 15%  2.ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งจะมีการศึกษาเพื่อจูงใจการทำงานในประเทศไทย อาจมีการพิจารณาจาก 35% เหลือ 15%    

และ 3.ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือ ภาษีบริโภค โดยทั่วโลกมีการเก็บระหว่าง 15-25% ในขณะที่ไทยเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเพียง 7% จากอัตราที่กำหนดไว้ 10% ส่วนสิงคโปร์จัดเก็บที่ 9% และประเทศในยุโรป มีการจัดเก็บที่ 20% นั่นแปลว่า วันนี้เราเก็บภาษีบริโภคในอัตราที่ต่ำอยู่

รองนายกฯและรมว.คลัง อธิบายว่า สำหรับภาษีบริโภค เป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่อยากบอกว่า หากเก็บสูงขึ้นในสัดส่วนที่เหมาะสม จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คนรายได้ต่ำอยู่รอด โดยช่องว่างระหว่างรายได้คนรวย และ คนจน จะลดลง เพราะจะนำรายได้เข้ากองกลาง และนำมาส่งผ่านให้คนรายได้น้อยผ่านมาตรการต่างๆ เช่น สาธารณสุข ที่อยู่อาศัย การศึกษา และ การรักษาพยาบาล เป็นต้น 

นอกจากนั้น สามารถนำเงินกองกลางไปสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับนักธุรกิจในประเทศ ซึ่งรัฐบาลจะเข้าไปช่วยเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ให้มีต้นทุนต่ำ เช่น บ่อบำบัดน้ำเสีย การขนส่ง ต้นทุนพลังงาน เป็นต้น เมื่อต้นทุนต่ำการส่งออกก็จะมีต้นทุนที่ต่ำลง

อย่างไรก็ดี ถ้าเก็บสูงขึ้น คนรวยมากๆ จ่ายสูงขึ้น คนรวยปานกลางจ่ายสูงขึ้น เงินกองกลางก็ใหญ่ขึ้น สามารถจัดงบประมาณส่งผ่านไปยังคนรายได้น้อย ผ่านมาตรการต่างๆ ได้ “การเก็บภาษีสูงเป็นเรื่องที่เราจะต้องพิจารณาอีกที ในแง่นโยบายการเงินทางด้านรายได้ของภาครัฐ ซึ่งผมนอนคิดทุกคืนว่าจะทำอย่างไร ก็จะทำให้คนเข้าใจก่อน เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน” ...ทั้งนี้มีรายงานจากกระทรวงการคลังว่า รองนายกฯ และรมว.คลัง ได้มอบหมายให้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และ กรมสรรพากร ศึกษาและพิจารณาในรายละเอียดเรื่องนี้ 

*** สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ผ่านมานับตั้งแต่ไทยเปลี่ยนแปลงจาก “ระบบภาษีการค้า” มาเป็นระบบ “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” จัดเก็บใน อัตรา 10% เมื่อปี 2535 ทุกรัฐบาลได้ออกพระราชกฤษฎีกาลดอัตราภาษี VAT ให้เหลือเพียง 7% มาโดยตลอด โดยจะประกาศเป็นปีต่อปี แต่ถ้าไม่มีการต่ออายุลดการจัดภาษี VAT จะกลับไปจัดเก็บที่อัตรา 10%

อย่างไรก็ตาม ตลอดช่วงที่ผ่านมามีกระแสข่าวลือมาตลอดว่า จะมีการขึ้นภาษีจัดเก็บ VAT เป็น 8% บ้าง 10% บ้าง แต่ก็ถูก “คัดค้าน” มาโดยตลอด เพราะการขึ้น VAT มีผลกระทบโดยตรงตกอยู่กับผู้บริโภค ที่จะต้อง “ซื้อสินค้า” หรือ “บริการ” ในราคาที่แพงขึ้น 

                                      ขึ้นภาษี VAT มากกว่า 7% ท้าทายรัฐบาลแพทองธาร

*** ล่าสุด ในการประชุม ครม. ที่มี แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2567 ได้มีมติคงภาษี VAT ในอัตรา 7% ต่อไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2567 ถึง 30 ก.ย. 2568 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้มีความเห็นเสนอแนะ ว่า ในระยะต่อไปที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวเข้าสู่ระดับศักยภาพมากขึ้น กระทรวงการคลัง ควรพิจารณาทยอยปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มให้สอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับการเพิ่ม

ประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล และขยายฐานภาษีให้มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อลดข้อจำกัดทางการคลัง และรองรับความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเงินโลก การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น 

*** อย่างไรก็ตาม มุมมองของ “ว.เชิงดอย” เห็นว่า ในเชิง “การเมือง”นั้น  การคงภาษี VAT ไว้ที่ 7% ได้ไปผูกติดกับเรื่องทางการเมืองไปเสียแล้ว เพราะหาก “รัฐบาล” ใด ขึ้นภาษี อันเป็นการผลักภาระไปให้กับประชาชนผู้บริโภค ด้วยการซื้อสินค้าหรือ บริการที่แพงขึ้น ทำให้มีภาระ “ค่าครองชีพ” ที่สูงขึ้น ก็จะทำให้เสีย “คะแนนนิยม” ทางการเมืองเอาได้ ยิ่งภาวะเศรษฐกิจของประเทศไม่ดี กำลังซื้อของประชาชนอยู่ในระดับต่ำ หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น มีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย ก็ยิ่งจะสร้างผลกระทบต่อประชาชนมากขึ้น ทีนี้ก็อยู่กับ “รัฐบาลแพทองธาร” แล้วหล่ะว่า ถ้ามีการเสนอให้ขึ้นภาษี  VAT มากกว่า 7% กล้าที่จะตัดสินใจขึ้นหรือไม่?...