เศรษฐกิจไทยสำลักนํ้า “ทรัมป์ 2.0” ชี้ชะตาปีหน้า

07 ธ.ค. 2567 | 07:00 น.

เศรษฐกิจไทยสำลักนํ้า “ทรัมป์ 2.0” ชี้ชะตาปีหน้า : บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,051 วันที่ 8 - 11 ธันวาคม พ.ศ. 2567

สภาพัฒน์เผยตัวเลขจีดีพี หรือ เศรษฐกิจไทย ไตรมาส 3 ปี 2567 ขยายตัว 3.0% และทั้งปีนี้คาดจะขยายตัวได้ 2.6% ส่วนปี 2568 คาดขยายตัว 2.3-3.3% หรือ ค่ากลางที่ 2.8% มี 4 ปัจจัยสนับสนุนได้แก่ การเพิ่มขึ้นของรายจ่ายภาครัฐ การขยายตัวของอุปสงค์ภาคเอกชน การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว และการขยายตัวต่อเนื่องของการส่งออกสินค้าไทย

ขณะที่ KKP Research กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร มองต่างออกไป การเติบโตจีดีพีไทยปี 2568 คาดจะขยายตัวได้ที่ 2.6% โดยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในทิศทางชะลอตัว แม้จะมีแรงสนับสนุนจากภาครัฐผ่านมาตรการแจกเงิน 10,000 บาท แต่ยังมี 4 ปัจจัยลบจาก 

หนึ่ง ปัญหาความสามารถในการแข่งขัน ที่สะท้อนจากการผลิตในภาคอุตสาหกรรมของไทยที่หดตัวลงอย่างต่อเนื่อง และยังมีความเสี่ยงชะลอตัวเพิ่มเติม หากมีการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ (อีก 10-20% ตามคำขู่ของโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทย

สอง ภาคบริการที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ช้าลง หลังจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าสู่ระดับปกติมากขึ้น และจะขยายตัวได้น้อยลง 

สาม การหดตัวของสินเชื่อภาคธนาคารจะยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งจะกระทบกับการบริโภคในระยะข้างหน้า

และ สี่ การเข้าสู่สังคมสูงอายุ จะกดดันแนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

อย่างไรก็ดี การคาดการณ์ของสำนักใดจะแม่นกว่ากันนั้น ยังรอดูกันยาว ๆ แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในรอบปีที่ผ่านมา ในส่วนของภาคการส่งออกไทยที่มีสัดส่วนต่อจีดีพีมากที่สุด ตัวเลข 10 เดือนแรกปี 2567 ขยายตัว 4.9% (มีมูลค่าส่งออกรูปเงินบาท 8.85 ล้านล้านบาท) 

ส่วนต่างชาติเที่ยวไทย ตัวเลข ณ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 เข้ามาแล้วทั้งสิ้น 31.3 ล้านคน สร้างรายได้แล้วไม่ตํ่ากว่า 1.46 ล้านล้านบาท ซึ่งหอการค้าไทยประเมินความเป็นไปได้ทั้งปี 2567 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยถึง 36 ล้านคน

ขณะที่จากสถานการณ์นํ้าท่วมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้ประเมินความเสียหายไว้ประมาณ 75,000 ล้านบาท ส่วนนํ้าท่วมใหญ่ภาคใต้ล่าสุด ประเมินความเสียหายในเบื้องต้น หากสถานการณ์คลี่คลายได้เร็ว น่าจะมีมูลค่าความเสียหายประมาณ 5,000-10,000 ล้านบาท รวมความเสียหายนํ้าท่วมทุกภาค น่าจะมีความเสียหายรวมราว 80,000- 85,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 0.6% ของจีดีพี และในปีหน้ายังมีความเสี่ยงที่เกิดขึ้นอีกจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น 

หากประเมินจากปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้องข้างต้น ทิศทางการขยายตัวของจีดีพีไทย ปี 2568 ยังมีปัจจัยเสี่ยงอยู่มาก โดยปัจจัยภายในที่สำคัญได้แก่ เสถียรภาพทางการเมืองของไทย หนี้ครัวเรือนที่ยังสูง กดทับกำลังซื้อ สถาบันการเงินยังคุมเข้มการปล่อยกู้สินเชื่อต่างๆ 

การกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในหลายมาตรการที่มีความล่าช้า เฉพาะอย่างยิ่งการแจกเงิน 10,000 บาท ให้กับประชาชนในทุกกลุ่มของประเทศ ภาคการผลิตหดตัวจากสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาด การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตของเกษตรกร และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ 

ส่วนปัจจัยจากนอกประเทศที่สำคัญได้แก่ นโยบายทรัมป์ 2.0 สงครามการค้า และ สงครามจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายคู่ของโลกที่ยังยืดเยื้อ จะยังคงส่งผลกระทบต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจ การค้า และ การลงทุนของโลก และ ของไทย 

ดังนั้น เป้าหมายรัฐบาลที่จะผลักดันจีดีพีไทยในปีหน้าให้เติบโตไม่ตํ่ากว่า 3% จึงมีความท้าทายอย่างยิ่งว่ารัฐบาลจะมีกึ๋นในการรับมือ และเพิ่มสปีดในการแก้ไขปัญหาได้ดีขนาดไหน

หน้า 6  หนังสือพิมพ์ฐานเศราฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,051 วันที่ 8 - 11 ธันวาคม พ.ศ. 2567