พฤติกรรมไม่เหมาะสมในธุรกิจครอบครัวสามารถป้องกันได้อย่างไร

05 ธ.ค. 2567 | 05:05 น.

พฤติกรรมไม่เหมาะสมในธุรกิจครอบครัวสามารถป้องกันได้อย่างไร : Family Business Thailand รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

นักวิจัยได้ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมไม่เหมาะสมในธุรกิจครอบครัว รวมถึงสาเหตุและผลกระทบ โดยพบว่าความขัดแย้งในครอบครัว การเลือกปฏิบัติ และการกระทำที่ขาดจริยธรรมมักเกิดจากความพยายามรักษา "ความมั่งคั่งทางอารมณ์สังคม" (socioemotional wealth) เช่น การสืบทอดธุรกิจ การรักษาอัตลักษณ์องค์กร และความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครอบครัวและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นต้น

อย่างไรก็ตามบางครั้งความพยายามนี้อาจนำไปสู่การกระทำที่ขัดต่อจริยธรรมหรือกฎหมาย เช่น การแต่งตั้งสมาชิกครอบครัวที่ไม่มีคุณสมบัติเหมาะสมให้ดำรงตำแหน่งสำคัญในองค์กร โดยงานวิจัยมุ่งวิเคราะห์พฤติกรรม สาเหตุ และผลกระทบที่มีต่อธุรกิจและผู้เกี่ยวข้อง พร้อมเสนอแนวทางป้องกันและจัดการ เพื่อสร้างสมดุลระหว่างผลประโยชน์ของครอบครัวและความสำเร็จของธุรกิจ

พฤติกรรมไม่เหมาะสมในธุรกิจครอบครัวสามารถป้องกันได้อย่างไร

ข้อค้นพบ พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในธุรกิจครอบครัวแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่

1) พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมภายใน (Internal Dysfunctional Behavior) ซึ่งมุ่งเป้าไปที่บุคคลในองค์กร เช่น การต่อต้านการเปลี่ยนแปลง การเก็บความลับ การลักขโมยทรัพย์สินบริษัท การกลั่นแกล้ง การไม่เชื่อฟัง การมีอคติต่อพนักงานที่ไม่ใช่ครอบครัว การเลือกปฏิบัติทางเพศต่อสมาชิกครอบครัวที่เป็นผู้หญิง และความขัดแย้งในระดับองค์กร (เช่น การลำเอียงและความขัดแย้งในการกำกับดูแล) เป็นต้น

2) พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมภายนอก (External Dysfunctional Behavior) มุ่งเป้าไปที่บุคคลหรือองค์กรภายนอก เช่น การฉ้อโกง ความผิดปกติทางการเงิน การติดสินบน การคอร์รัปชัน การหลบเลี่ยงภาษี ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเชิงลบ และความไม่รับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร เป็นต้น ซึ่งพฤติกรรมทั้งสองประเภทล้วนสร้างผลกระทบต่อธุรกิจและผู้เกี่ยวข้องในวงกว้าง

สาเหตุและผลกระทบ สาเหตุของพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในธุรกิจครอบครัวมักเกิดจากความขัดแย้งภายใน เช่น ความไม่ลงรอยกัน ความแตกต่างทางบุคลิกภาพ และความขัดแย้งทางอารมณ์ ถือเป็นสาเหตุสำคัญของพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมระดับองค์กร ซึ่งส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพของบริษัท เช่น อัตราการลาออกของพนักงานสูง และความพึงพอใจในการทำงานต่ำ

ซึ่งปัจจัยที่กระตุ้นพฤติกรรมภายในที่ไม่เหมาะสมมักมาจากทัศนคติของสมาชิกในครอบครัว บริบทการทำงาน ลักษณะนิสัย เช่น นิสัยหลงตัวเอง (narcissism) และขาดความเชื่อใจกัน ขณะที่พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมภายนอก มักเกิดจากแรงกดดันภายนอกที่ครอบครัวไม่สามารถควบคุมได้ เช่น การจ่ายสินบนเพื่อขอใบอนุญาต การหลีกเลี่ยงภาษีเพื่อรักษาสถานะทางการเงินของธุรกิจ

ซึ่งแม้จะส่งผลเสียต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก แต่ก็ให้ประโยชน์ระยะสั้นแก่ธุรกิจครอบครัว เช่น การลดต้นทุน การได้เปรียบในการแข่งขัน และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เป็นต้น แต่ในระยะยาวกลับสร้างผลเสียมากมาย ได้แก่ ผลกระทบต่อครอบครัว เช่น ความรู้สึกมีสิทธิพิเศษในหมู่สมาชิกครอบครัว ชื่อเสียงที่มัวหมอง และความละอายใจจากพฤติกรรมที่ผิดพลาดในอดีต เป็นต้น

ผลกระทบต่อธุรกิจ เช่น ประสิทธิภาพที่ลดลง อัตราการลาออกของพนักงานสูง ปัญหาด้านกฎหมายและบทลงโทษทางการเงิน ผลกระทบร้ายแรงต่อผู้นำ (เช่น การถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย) เป็นต้น และผลกระทบต่อสังคม เช่น ความเสียหายทางสังคมและสิ่งแวดล้อม การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ความท้าทายที่เพิ่มขึ้นในภาคธุรกิจ เป็นต้น ซึ่งท้ายที่สุดทำให้ธุรกิจครอบครัวต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงในหลายด้าน

แนวทางการป้องกันสำหรับผู้นำธุรกิจครอบครัว ที่พึงนำมาพิจารณา ได้แก่

  • ปัญหาภายในครอบครัวส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ความขัดแย้งในครอบครัว เช่น การไม่ลงรอยกันและความก้าวร้าว อาจทำให้ธุรกิจเสียหาย ทั้งนี้การมีกฎเกณฑ์และแนวปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพจะช่วยป้องกันความขัดแย้งภายในครอบครัวไม่ให้ลุกลามเป็นปัญหาในองค์กรได้
  • ความสามัคคีในครอบครัวสำคัญต่อธุรกิจ ครอบครัวที่สามัคคีกลมเกลียวจะช่วยให้ธุรกิจแข็งแกร่งและประสบความสำเร็จ
  • หลีกเลี่ยงระบบอุปถัมภ์ (Nepotism) การแต่งตั้งสมาชิกครอบครัวที่ไม่มีคุณสมบัติเหมาะสมให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ อาจสร้างความไม่พอใจในองค์กร ดังนั้นควรใช้กระบวนการคัดเลือกที่โปร่งใสและยุติธรรม  เพื่อแสดงให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเห็นถึงความเหมาะสมของผู้ที่ได้รับการแต่งตั้ง
  • ลดแรงกดดันที่นำไปสู่การกระทำผิด ในสภาพแวดล้อมที่หน่วยงานภายนอกและการคุ้มครองทางกฎหมายอ่อนแอ ธุรกิจครอบครัวมีแนวโน้มที่จะเลือกทำ “สิ่งที่จำเป็น” เช่น การติดสินบน เป็นต้น ขณะที่การสร้างชื่อเสียงที่ดีและปรับปรุงกฎระเบียบจะช่วยลดโอกาสการกระทำผิดทางจริยธรรมได้

ธุรกิจครอบครัวที่มีอัตลักษณ์ชัดเจนและใส่ใจในชื่อเสียงมักมีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ทั้งนี้การทำความเข้าใจและจัดการพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในธุรกิจครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญ ในการรักษาความกลมเกลียวในครอบครัวและความยั่งยืนของธุรกิจ ดังนั้นธุรกิจครอบครัวควรให้ความสำคัญกับการประเมินผลกระทบของการตัดสินใจต่อธุรกิจอย่างรอบคอบ เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างการรักษาค่านิยมของครอบครัวและความสำเร็จของธุรกิจในระยะยาวต่อไป

 

ที่มา: Kidwell, R., Eddleston, K., Kidwell, L., Cater, J., & Howard, E. (2024, October 7). Why families and their firms behave badly. Family Business. Retrieved from https://familybusiness.org/content/why-families-and-their-firms-behave-badly