“ข้าวจีน” ไทยต้องเรียนรู้ ลุยหมื่นสายพันธุ์-ผลผลิตสูง จากอดอยากสู่ส่งออก

26 ต.ค. 2567 | 16:18 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ต.ค. 2567 | 16:50 น.

จีนเป็นผู้ผลิตข้าวอันดับหนึ่งของโลก แต่ละปีมีผลผลิตมากกว่า 200 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นสัดส่วน 30% ของผลผลิตข้าวโลก บริโภคในประเทศมากเช่นกัน 140 ล้านต้น ส่งออกปีละ 2.6 ล้านตัน

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์  พิศาลวานิช  ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่ปรึกษาบริษัท อินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ช คอนซัลแตนท์ (ไออาร์ซี) จำกัด

จีนส่งออกข้าวขาวไปฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ส่วนญี่ปุ่น เกาหลี และสหรัฐฯ ที่นำเข้าข้าวออร์แกนิคจากจีน ขณะที่จีนนำเข้าข้าวปีละ 3 ล้านตัน (ผ่านโควตานำเข้าปีละ 5.3 ล้านตัน)

ข้าวจีนมาถึงวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ช่วงต้นของการสถาปนาประเทศเมื่อ 1949 “คนจีนหลายสิบล้านคนอดตาย” เพราะการผลิตข้าวแบบรวมศูนย์ ทำให้ผลผลิตต่ำ ไม่พอกิน (ต่ำกว่า 500 กก./ไร่) ขณะนั้นประชากรจีน 500 ล้านคน

ในปี 1964 “หยวน ลองผิง (Yuan Longping)” นักวิชาการเกษตรของจีน ซึ่งต่อมาถูกขนานนามว่า เป็น “บิดาพันธุ์ข้าวลูกผสม (Hybrid Rice)” ใช้เวลา 9 ปี ในการพัฒนาพันธุ์ข้าวลูกผสมแรก ชื่อว่า “Nanyou2” ผลผลิตต่อไร่มากกว่า 2 ตัน หลังจากนั้นก็พัฒนาพันธุ์ข้าวลูกผสมอย่างต่อเนื่อง ข้าวพันธุ์ลูกผสมคือการนำจุดเด่นข้าวพันธุ์พื้นเมืองมาสร้างพันธุ์ใหม่

ผมแบ่งข้าวจีนออกเป็น 2 ส่วนคือ ร้อยละ 80 เป็นข้าวลูกผสม (ผลผลิตสูง ทนโรค ทนสภาพอากาศ ทนเค็ม) ที่เหลือเป็นข้าวอัตลักษณะท้องถิ่น

“มณฑลเฮย์หลงเจียง เมืองหลวงข้าวจีน” ผลิตข้าวมากสุดของประเทศ 35 ล้านตันข้าวเปลือก (17% ผลผลิตข้าวจีน) เฮย์หลงเจียงเป็นมณฑลอากาศหนาว ฤดูหนาวอุณหภูมิ -10 ถึง -30 องศา แต่ข้าวเฮย์หลงเจียงปลูกในช่วงฤดูร้อน (เมษายน ถึง ตุลาคม) อุณหภูมิ 20-25 องศา  

เหตุผลที่ทำให้เฮย์หลงเจียงปลูกข้าวมากสุด ทั้งที่อากาศหนาว เพราะมีฤดูร้อนยาว ดินดำ (ดินที่ดีที่สุดในโลก มีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน 120 ล้านไร่) มีน้ำเพียงพอ ทั้งธรรมชาติ (4 แม่น้ำ) และชลประทาน (จีนมีพื้นที่ชลประทานมากสุดของโลก) การพัฒนาพันธุ์ทนอุณหภูมิที่ลดลงในเวลากลางคืน (10-15 องศา) มีสถาบัน National Rice Science and Technology Innovation Institute

“ข้าวจีน” ไทยต้องเรียนรู้ ลุยหมื่นสายพันธุ์-ผลผลิตสูง จากอดอยากสู่ส่งออก

นอกจากนี้จีนยังมี “สถาบันวิจัยข้าวแห่งชาติ (Chinese National Rice Research Institute : CNRRI)” ที่หังโจว (Hangzhou) เจ้อเจียง (Zhejiang)  เป็นศูนย์วิจัยที่ใหญ่ที่สุดสำหรับการพัฒนาพันธุ์ข้าวและเทคโนโลยีการเกษตรของจีน (จีนมีสถาบันวิจัยข้าวระดับประเทศใหญ่ 7 แห่ง)

ผมแบ่งข้าวที่ปลูกในจีนเป็น 3 แบบคือ ข้าวปลูกในมณฑลอากาศหนาว เช่น เฮย์หลงเจียง (ติดรัสเซีย) เหลียวหนิง  และจี้หลิน (ทั้ง 2 ติดเกาหลีเหนือ)  ข้าวที่ปลูกในมณฑลอากาศร้อน และข้าวปลูกในน้ำเค็ม  เช่น ปลูกข้าวน้ำเค็มในเมืองตงอิ๋ง (Dongying) มณฑลซานตง (Shandong) และเมืองหนิงโบ (Ninbo) ในมณฑลเจ้อเจียง (Zhejiang) ผลผลิต 1,500-1,800 กก./ไร่

ปี 2021 จีนมีพันธุ์ข้าวทั้งหมด 13,000 สายพันธุ์ เพิ่มขึ้นจากปี 2000 ที่มีเพียง 3,000 สายพันธุ์ (สถาบันวิจัยข้าวแห่งชาติ) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าวคุณภาพสูง (ไทยมีสายพันธุ์ข้าวหลากหลายสายพันธุ์จำนวน 132 ชนิด)

ข้าวพันธุ์ใหม่ที่จีนผลิตเพิ่มมากเพื่อตอบสนองความต้องการ คือ “ข้าวนุ่มและหอม” ชื่อว่า “Wu Chang” หรือ “Dao Hua Xiang” ซึ่งข้าวชนิดนี้เป็นที่นิยมมากในตลาดจีน จีนมีความต้องการประมาณปีละ 8 ล้านตัน แต่ไทยมีการปลูกข้าวชนิดนี้น้อย

เวียดนามได้เปรียบส่งออกข้าวชนิดนี้ เพราะเวียดนามหันมาส่งเสริมการปลูกเนื่องจากได้ราคาดี ข้าว Wu Chang ปลูกมากที่เมืองฮาร์บิน (Harbin) ซึ่งเป็นเมืองเอกของเฮย์หลงเจียง (Heilongjiang)  1 ใน 10 พื้นที่ที่ปลูกข้าวนุ่มหอมของจีนคือ ปลูกที่อำเภออู๋ช่างห่างจากฮาร์บิน 100 กม. เมืองฮาร์บินได้ชื่อว่า “เมืองหลวงข้าวคุณภาพดีของจีน”  นอกจากข้าวอู๋ช่างแล้วยังมีข้าวพันธุ์ “Songgeng 18 และ “Wuyou4” เป็นต้น

ข้อมูลจากหลายแหล่งอ้างอิงว่า จีนสามารถผลิตข้าวนุ่มได้ปีละ 60 ล้านตันข้าวเปลือก ร้อยละ 40 ผลิตในเฮย์หลงเจียง อย่างไรก็ตามข้าว “Wuchang” มีข่าวตามสื่อในประเทศแอฟริกา และอินเดียว่าเป็น “ข้าวปลอม (Fake Rice)” หรือ “ข้าวพลาสติก (Plastic Rice)” เมื่อหลายปีก่อนหน้านี้ แต่ที่ผมซื้อมากินจากจีน ก็ไม่ได้เป็นดั่งข่าวที่ออกมา

ผลผลิตข้าวจีนเพิ่มขึ้นทุกปี และยังตั้งเป้าส่งออกให้เพิ่มขึ้น ในขณะที่โควตานำเข้า 5.3 ล้านตันไม่เคยใช้หมด เพราะภายในประเทศผลิตข้าวเพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนการนำเข้า จีนทำทุกอย่างเพื่อพัฒนาข้าวโดยใส่งบประมาณเต็มรูปแบบ ทั้งอุดหนุน วิจัย พัฒนาพันธุ์ และเทคโนโลยี จากประเทศที่ข้าวกินไม่พอ สู่ประเทศที่ส่งออกข้าว  “ไทยคิดเรื่องนี้อย่างไร” ลองเหลียวมองหน่อยก็น่าจะดี