Green Ancestor Worship ไหว้เจ้าอย่างไรให้รักษ์โลก

28 ก.พ. 2567 | 11:30 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.พ. 2567 | 12:27 น.

Green Ancestor Worship ไหว้เจ้าอย่างไรให้รักษ์โลก : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย... ผศ.ดร.วัชรพงศ์ รติสุขพิมล คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉบับ 3970

มนุษย์และความเชื่อเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันเสมอ แม้เวลาจะเปลี่ยนไปแต่การบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ไม่เคยเปลี่ยน โดยทำเพื่อหวังให้สิ่งที่ต้องการเกิดกับตนเอง เช่น ความรัก เงินทอง อำนาจ เป็นต้น 

สำหรับคนไทยเชื้อสายจีนแล้ว ก็จะมีการบูชาเทพเจ้าและบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ที่สำหรับคนไทยเรียกกันว่า “ไหว้เจ้า” ซึ่งเป็นเรื่องปกติสำหรับคนไทยเชื้อสายจีน โดยทุกเทศกาลสำคัญ เช่น ตรุษจีน สารทจีน รวมถึงตามวันพระจีน ย่อมมีการไหว้เจ้าเสมอ

โดยประกอบด้วยการจุดธูปและเทียน การเผากระดาษเงินทองให้บรรพบุรุษ และการสวดมนต์ ซึ่งเกิดจากความเชื่อที่ถูกส่งต่อกันมาว่า การจุดธูปและการสวดมนต์ เป็นการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และช่วยให้เกิดสมาธิ

รวมถึงบางคนยังเชื่อในอำนาจลึกลับจากบทสวด การเผากระดาษทำขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้า และเป็นการส่งของที่ลูกหลานอยากให้บรรพบุรุษได้รับผ่านควันที่ลอยสู่ท้องฟ้า 

 

โดยรวมแล้วสิ่งที่หวังตอบแทนจากการไหว้เจ้ามักจะวนอยู่ใน 3 ประการ ได้แก่ ความเจริญรุ่งเรือง ความสุข และ สุขภาพ แต่การกระทำสิ่งเหล่านี้ย่อมก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมาโดยไม่รู้ตัว

คุณผู้อ่านทราบหรือไม่ว่า การจุดธูปหนึ่งดอกในพื้นที่ระบายอากาศไม่ดีเสมือนกับการสูบบุหรี่ 1 มวน เพราะว่าควันธูปมีส่วนประกอบที่เป็นอันตรายหลายชนิด ทั้งสารก่อมะเร็ง ไม่ว่าจะเป็น เบนซีน บิวทาไดอีน และ เบนโซเอไพรีน ซึ่งเกิดการเผาไหม้ขององค์ประกอบของธูป สารเหล่านี้สามารถก่อมะเร็งได้หลายชนิดทั่วร่างกายเช่น มะเร็งปอด มะเร็งเม็ดเลือดขาว 

นอกจากนี้ยังมีสารเคมีอันตรายหลายชนิด เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ ที่สร้างความระคายเคืองกับระบบทางเดินหายใจและทำให้หมดสติหากสูดดมเข้าไปนาน ๆ 

สำหรับการเผากระดาษเงินกระดาษทองนั้น แถบสีทองบนกระดาษถูกเคลือบด้วยโลหะหลายชนิด ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ตะกั่ว การพับกระดาษทำให้สารตะกั่วบนกระดาษปนเปื้อนบนฝ่ามือ หากไม่ล้างมือแล้วไปหยิบของรับประทานก็เสมือนรับสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกาย

หรือหากเผากระดาษก็จะเกิดควันพิษซึ่งระคายเคืองและส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งแบบเฉียบพลัน เช่น อ่อนล้า ปวดท้อง ปวดข้อ หรือหมดสติ และ เรื้อรัง เช่น ระบบประสาทถูกทำลาย เพิ่มโอกาสการแท้งลูก และเสียชีวิต 

จากที่ได้กล่าวในข้างต้นจะเห็นได้ว่า ประเพณีการไหว้เจ้าที่แสดงออกถึงความกตัญญูและความเคารพนั้น นอกจากจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของตนเองแล้วก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ที่อยู่อาศัยใกล้เคียงด้วย ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์ เรียกว่า เป็นการสร้างผลกระทบภายนอกเชิงลบ (Negative Externalities) 

เช่น ควันพิษจากการเผาธูป หรือ เผากระดาษอาจไม่ต่างจากบุหรี่มือสองสำหรับเพื่อนบ้าน ขี้เถ้าจากการเผาที่ฟุ้งกระจายไปทั่ว รวมถึงอีกส่วนที่คนไม่ค่อยได้ใส่ใจนั่นคือ “ธรรมชาติและสิ่งรอบตัว” ซึ่งถูกละเลยจากการมองว่า เป็นเรื่องไกลตัว หรือ จากคำพูดง่าย ๆ ว่าคนอื่น ๆ ก็ทำกัน  
ควันจากธูปและการเผากระดาษ ยังก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 10 และ PM 2.5

โดยในช่วงตรุษจีนของปี 2561 วัดค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เฉลี่ยได้ 52 ถึง 62 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินมาตรฐานและมีค่ามากที่สุดถึง 78 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกิดจากการเผากระดาษเงินกระดาษทองในที่โล่ง 
การจุดประทัดและควันธูป

แม้จะเปลี่ยนมาใช้ธูปไร้ควันซึ่งสามารถช่วยลดปริมาณ PM ที่ช่วยลดควันได้ แต่ไม่สามารถลดปริมาณสารพิษและฝุ่นที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งฝุ่น PM ที่เกิดส่งผลต่อสุขภาพเช่น อาการแพ้และระคายเคือง เกิดปัญหาแก่ระบบทางเดินหายใจในระยะยาว และเกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัว 

เช่น ทำให้เกิดฝนกรด เกิดสารพิษปนเปื้อนลงในน้ำ ดิน และ เป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิต การเผาไหม้ยังก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ คาร์บอนมอนออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกส่งผลให้ภาวะโลกร้อนรุนแรงมากขึ้น และเศษขี้เถ้าจากเผานั้น ถูกกำจัดได้ยาก และหากปนเปื้อนเข้าสู่ระบบนิเวศจะก่อให้เกิดมลพิษอีกด้วย

นอกจากควันจากการเผาแล้ว ขยะมูลฝอยเป็นหนึ่งในปัญหาที่พบได้ตามศาสนาสถาน จากการศึกษาพบว่า มีขยะจากอาหารในช่วงวันตรุษจีนทำให้กรุงเทพฯ ติด 1 ใน 5 จังหวัดที่มีขยะเกิดขึ้นมากที่สุดของประเทศ นำมาซึ่งสัตว์รบกวนที่เป็นพาหะนำโรค เช่น หนู แมลงสาบ แมลงวัน ทำให้เกิดภาพและกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ 

และขยะเหล่านี้หากถูกจัดการไม่ถูกต้อง เช่น ถูกฝังลงดินจะทำดินขาดความอุดมสมบูรณ์ รวมถึงเกิดก๊าซมีเทนจากการหมักขยะซึ่งมีสมบัติไวไฟ และทำให้โลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 80 เท่า

และการถูกทิ้งลงในแหล่งน้ำซึ่งเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ รวมถึงเป็นแหล่งเกิดไมโครพลาสติก ที่สามารถก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพในระยะยาวได้เหล่านั้นอีกด้วย

จากที่กล่าวมาในข้างต้นจะ เห็นได้ว่า “การไหว้เจ้า” ที่ขาดการคำนึงถึงผลกระทบทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมนั้น สามารถเกิดผลเสียได้ทั้งกับตัวเองและคนรอบข้าง ความสบายใจที่ได้ปฏิบัติตามประเพณีอาจแลกมาด้วยสุขภาพของตนเอง คนรอบข้าง และสิ่งแวดล้อม 

ดังนั้น หากไม่แก้ไขกันในวันนี้อาจเสียใจในวันหลังได้ แม้ว่าเราอาจไม่สามารถเปลี่ยนความเชื่อของคนให้เลิกบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ แต่เราสามารถปรับความเชื่อเหล่าให้เหมาะสมกับปัญหาในปัจจุบันได้

                    Green Ancestor Worship ไหว้เจ้าอย่างไรให้รักษ์โลก

หากว่ากันในเรื่องของ “บุญบาป” แล้วคิดว่าทุกคนที่ไหว้เจ้าคงไม่ได้อยากได้บาปตอบแทนภายหลังการทำบุญ ดังนั้น เราสามารถปรับพฤติกรรมการกราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ประโยชน์ทั้งแก่ตัวเราเอง สังคม และสิ่งแวดล้อมได้ผ่าน “3 ป” ซึ่งทำได้ดังนี้

1. ปรับ แม้ว่าอาจจะรู้สึกขัดต่อความเชื่อของหลายคน ซึ่งคิดว่าการจุดธูป หรือ เผากระดาษเป็นข้อบังคับที่ต้องทำ แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้มีกฎที่ตายตัวของทั้งขนาดของธูป หรือ จำนวนของที่ต้องเผา

ดังนั้น ปรับลดจำนวนธูปและปริมาณการเผากระดาษลง ปรับขนาดของธูปที่จุดให้สั้น ดับธูปให้เร็วขึ้น หรือ ปรับจากการเผาในที่แจ้งให้เป็นการเผาในเตาเผา หรือ ภาชนะปิดเพื่อลดปริมาณควันที่เกิด ซึ่งในปัจจุบันครอบครัวเชื้อสายจีนเริ่มมีการปรับตัวโดยลดการจุดธูปและเผากระดาษ

รวมถึงศาลเจ้าหลายแห่งที่งดการจุดธูปลง เช่น วัดมังกรกมลาวาส ที่งดจุดธูป และห้ามนำธูปจากภายนอกเข้า

นอกจากนี้ ตามศาลเจ้ายังมีการเก็บธูปที่ปักลงกระถางแล้วเพื่อลดปริมาณควันที่เกิด ซึ่งข้อดีจากการลดการจุดธูป และเผากระดาษ นอกจากเป็นการรักษาสุขภาพแล้ว ยังช่วยประหยัดสร้างความปลอดภัยให้กับทรัพย์สินอีกด้วย เพราะนอกจากขี้ธูป หรือ ขี้เถ้า จะเก็บกวาดยากแล้วยังเป็นสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้อีกด้วย  

2. เปลี่ยน เปลี่ยนจากการบูชาด้วยธูปและกระดาษเงินทาง หรือ ของเซ่นไหว้ ให้เป็นการบริจาคเงิน แม้ว่าหลายคนอาจมองว่าการทำบุญด้วยเงิน อาจส่งความต้องการของพวกเขาไปสู่เทพเจ้า หรือ บรรพบุรุษไม่ได้

ในอดีตการบูชาเทพเจ้า หรือ ผู้ล่วงลับไม่ได้ใช้วิธีการเผา หรือ จุดธูป ตั้งแต่เริ่ม แต่ใช้การฝังของมีค่าไปพร้อมกับผู้ตาย ซึ่งต่อมาถูกเปลี่ยนกลายมาเป็นการเผากระดาษจากความเชื่อเรื่องโชคลาง 

ซึ่งถ้าหากว่ากันในด้านของประโยชน์แล้ว การบริจาคเงินนั้นสามารถถูกใช้เพื่อบำรุงรักษาศาสนสถาน นำไปสร้างบุญกุศลต่อ เช่น ไถ่ชีวิตโคกระบือ เป็นค่าอาหารกลางวันแก่เด็กยากไร้ หรือ ผู้ด้อยโอกาส ซึ่งสามารถเห็นผลได้ชัดเจน

รวมถึงไม่ก่อให้เกิดขยะและมลพิษให้เป็นปัญหาต่อไปด้วย หรือเปลี่ยนจากการทำบุญตามศาสนาสถาน เป็นการทำบุญกับโรงพยาบาล หรือ สถานศึกษาซึ่งในปัจจุบันยังขาดแคลนทุนทรัพย์และเครื่องมือที่ทันสมัยอีกมาก

3. ประยุกต์ โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนจากการกราบไหว้เจ้าที่ศาลเจ้าเป็นการไหว้ออนไลน์ จุดธูปไฟฟ้าทดแทนการจุดธูปของจริง

เช่น วัดเขมาภิรตาราม การเปิดเสียงประทัดจากลำโพงแทนการจุดประทัดจริง การเปลี่ยนเตาเผากระดาษแบบเดิมเป็นแบบไร้ควัน หรือแม้แต่การแก้ปัญหาโดยวิธีการพื้นฐาน เช่น การตั้งน้ำเป็นจุดดับธูปหลังไหว้เสร็จทันที 

การทำชุดของไหว้กองกลางเพื่อลดต้นทุนและปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้น การเปลี่ยนจากการจุดธูปมาก ๆ ประยุกต์เป็นธูป หรือ เทียนขนาดใหญ่เพียงแท่งเดียว การรับของมงคลเปลี่ยนจากการแจกใส่ถุงพลาสติก เป็นถุงผ้า หรือสร้างจุดเติมน้ำมนต์ใส่ขวดแทนการแจกขวดน้ำมนต์แทน 

ท้ายที่สุดนี้ การเมินเฉยต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้น ย่อมเกิดผลเสียที่ตามมาเสมอ ไม่ว่าจุดประสงค์ในการกระทำจะดีเพียงใด และการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่ได้จำกัดด้วยการบูชาด้วยวัตถุ หรือ พิธีกรรมซับซ้อนอันใหญ่โตเพียงอย่างเดียว

เพียงแต่เริ่มจากจิตใจที่พร้อมจะบูชา และการกระทำที่เหมาะสมตามสถานการณ์ ซึ่งนอกจากช่วยลดปริมาณเงิน แล ะทรัพยากรที่เสียไปแล้ว ยังช่วยให้โลกนี้น่าอยู่มากขึ้นกว่าในปัจจุบันอีกด้วย  

หมายเหตุ: ผู้เขียนขอขอบคุณคุณธนโชค วานิชผุงธรรมสำหรับการค้นคว้าข้อมูลของบทความนี้