วิกฤตสงครามอิสราเอล-ฮามาส ซ้ำเติมความเสี่ยงฟื้นเศรษฐกิจโลก

13 ต.ค. 2566 | 13:00 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ต.ค. 2566 | 13:14 น.

วิกฤตสงครามอิสราเอล-ฮามาส ซ้ำเติมความเสี่ยงฟื้นเศรษฐกิจโลก : คอลัมน์เปิดมุมคิด ดร.ธนิต โสรัตน์ โดย...ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3931

วิกฤตอิสราเอล-ฮามาส ซึ่งยกระดับกลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบเป็นข่าวดังระดับโลก ได้รับความสนใจจากสื่อและประชาชนคนไทยจนกลบข่าวเงินดิจิทัลวอลเล็ตหมื่นบาท ที่นักเศรษฐศาสตร์และกูรูรวมทั้งผู้ว่าการฯ และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยหลายท่าน ออกมาระบุว่ามีผลกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจไทยระยะยาว

ขณะที่ชาวบ้านออกมาหนุนรัฐบาลให้เร่งจ่ายเพราะต้องการเงิน นายกรัฐมนตรียืนยันว่าจ่ายแน่นอนโดยไม่เลือกคนมีสตางค์หรือไม่มีสตางค์ “จ่ายหมด” แบบเทหน้าตักต้องการให้เศรษฐกิจโตร้อยละ 5 แต่ที่ไม่ได้กล่าวคือ ภาระหนี้สาธารณะที่คงพุ่งและเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงิน-การคลัง รวมทั้งเงินเฟ้อ ตามด้วยดอกเบี้ยที่พุ่งสูงอยู่แล้วจะยิ่งสูงมากขึ้นไปอีก

ขอวกกลับมาที่สงครามอิสราเอล-ฮามาส มีผู้เสียชีวิตแล้วร่วม 1,700 คน บาดเจ็บเรือนหมื่น บ้านเมืองโดยเฉพาะในเขตฉนวนกาซาพังพินาศ แรงงานไทยโดนลูกหลงเสียชีวิตอย่างน้อย 18 คน ถูกจับเป็นตัวประกันมากกว่าสิบคน มีแรงงานไทยอีกเรือนพันรอการส่งกลับบ้าน

ด้านกองทัพอิสราเอลหลังตั้งหลักได้โต้กลับระดมพลเต็มอัตราสูงสุดในรอบ 5 ทศวรรษ ยกระดับกลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบ และกลายเป็นวิกฤตรอบใหม่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ขณะที่สงครามในภูมิภาคยูเครนยกเพิ่มดีกรีความรุนแรงกลายเป็น “Double Regional Crisis” 

ขณะนี้เริ่มเห็นการบานปลายจากการแบ่งขั้วแบ่งข้าง โดยประเทศปาเลสไตน์ ซึ่งกลุ่มฮามาสเป็นกลุ่มนักการเมืองเสียงข้างมากออกมาประณามอิสราเอล และ กลุ่มก่อการร้ายระดับโลก “ฮิซบอลเลาะห์” ซึ่งอิหร่านหนุนหลัง มีที่มั่นอยู่ทางเหนือประกาศเข้าร่วมวงเล่นงานอิสราเอล 

ด้านผู้แทนอิหร่านประจำยูเอ็น ที่ถูกมองว่า เป็นคนหนุนหลังประกาศว่าไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มฮามาส รวมทั้งผู้นำประเทศเลบานอน ประกาศไม่ต้องการเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งครั้งนี้ ที่ค่อนข้างแปลกกลุ่มประเทศอาหรับยังนิ่งโดยเฉพาะประเทศซาอุดิอาระเบีย เตรียมที่จะเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล

ด้าน ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกา ประกาศหนุนหลังอิสราเอล พร้อมส่งกองเรือบรรทุกเครื่องบินเข้าไปในพื้นที่ ขณะที่ประชาชนบางประเทศในอียู เช่น อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส ฯลฯ ออกมาเดินขบวนหนุนอิสราเอล

ประเทศไทยด้านเศรษฐกิจผลกระทบคงไม่มาก เนื่องจากการค้าระหว่างประเทศปี พ.ศ. 2566 คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 1.285 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ประมาณ 46,269 ล้านบาท โดยเกือบครึ่งหนึ่งเป็นการส่งออก เช่น รถยนต์และอุปกรณ์, อัญมณี-เครื่องประดับ, อาหารทะเลแปรรูป, ข้าว, เม็ดพลาสติก, ผลิตภัณฑ์ยาง ฯลฯ 

การส่งออกอัตราการขยายตัวร้อยละ 12.62 เส้นทางเดินเรือตรวจสอบแล้วยังปกติ สายการเดินเรือ (Liner) ยังให้บริการเป็นปกติ โดยสินค้าที่ไปอิสราเอลจะไปถ่ายลำที่ท่าเรือพอร์ตซาอิด ประเทศอียิปต์ หลังจากนั้นจึงจะขนถ่ายเปลี่ยนเรือ “Feeder Ship” ไปท่าเรือไฮฟา ซึ่งอยู่ในทะเลแดงตอนเหนือของอิสราเอล ด้านการท่องเที่ยวนักท่องเที่ยวอิสราเอล มาไทยปีละไม่น้อยกว่า 1.6 แสนคน 

                          วิกฤตสงครามอิสราเอล-ฮามาส ซ้ำเติมความเสี่ยงฟื้นเศรษฐกิจโลก

เศรษฐกิจไทยที่เกี่ยวข้องกับด้านแรงงาน มีแรงงานไทยที่ทำงานในอิสราเอล ผ่านทางรัฐต่อรัฐประมาณ 25,800 คน ตัวเลขนี้ยังไม่รวมแรงงานที่นำเข้าโดยเอกชนอีกจำนวนมาก ส่วนใหญ่แรงงานไทยทำงานในภาคเกษตรในพื้นที่ทางใต้บริเวณเมือง “Hadarom” ซึ่งเป็นพื้นที่ซึ่งทางฮามาส เข้ามาเข่นฆ่าผู้คน 

สำหรับนอกภาคเกษตรที่คนไทยเข้าไปทำ เช่น งานกุ๊ก หรือ งานช่าง โดยรูปแบบการทำงานจ่ายค่าจ้างเป็นรายชั่วโมง การทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์เฉลี่ยรายได้ 50,000-55,000 บาทต่อเดือน สัญญาการทำงานไม่เกิน 2 ปี สามารถต่อเป็นครั้งๆ สร้างรายได้ให้กับประเทศประมาณปีละ 2.4 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม วิกฤตที่เกิดในภูมิภาคฉนวนกาซา มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง เนื่องจากเป็นพื้นที่แหล่งผลิตพลังงานซึ่งภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นแหล่งผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลก ประเทศไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากภูมิภาคตะวันออกกลาง คิดเป็นครึ่งหนึ่งของการนำเข้าน้ำมันดิบทั้งหมด 

ที่ชัดเจนก่อนหน้าวิกฤตราคาน้ำมันโลกอยู่ในช่วงขาลง แต่หลังเกิดเหตุการณ์ราคาน้ำมันเริ่มกลับมาเป็นบวก โดยเฉพาะตลาดน้ำมันดูไบ ราคาเริ่มแตะ 90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล หากสงครามยืดเยื้อ และแผ่กว้างออกไปอาจให้เกิดวิกฤตราคาน้ำมัน เหมือนเมื่อครั้งเริ่มสงครามยูเครน-รัสเซีย จะทำให้เงินบาทมีความผันผวน

ปัจจุบันเงินบาทของไทยอยู่ในแนวอ่อนค่ามากกว่าประเทศในภูมิภาค ระยะเวลาหนึ่งเดือนอัตราแลกเปลี่ยน 34.910 บาท อ่อนค่าลงที่อัตรา 36.925 บาท/เหรียญสหรัฐ หรือ อ่อนค่าถึงร้อยละ 5.77

ขณะนี้ยังเร็วไปที่จะกล่าวว่าวิกฤตสงครามระหว่างอิสราเอล กับ กลุ่มฮามาส จะกระทบเศรษฐกิจ เนื่องจากยังเป็นแค่เริ่มต้น สงครามหากขยายเป็นวงกว้างย่อมกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ที่มีความเปราะบางเป็นทุนอยู่แล้วจากวิกฤตในคาบสมุทรยูเครน ซึ่งอาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ, ยุโรป รวมถึงจีน ปีหน้าอาจยังไม่ฟื้นตัวอย่างเป็นนัย 

หากเกิดวิกฤต “World Oil Crisis” รอบใหม่จะส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับสูงอยู่แล้ว ให้เพิ่มสูงขึ้นไปอีก รวมถึงกระทบความเชื่อมั่น ซึ่งจะมีผลต่อการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว และเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้