“ธนิต โสรัตน์” เชื่อขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ล้มกระดานบอร์ดไตรภาคี

06 ธ.ค. 2565 | 16:32 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ธ.ค. 2565 | 23:40 น.
1.2 k

“ธนิต โสรัตน์” รองประธานสภาองค์การนายจ้างฯ สะท้อนพรรคเพื่อไทย ประกาศนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 600 บาท ล้มกระดานบอร์ดไตรภาคี ที่ทำมานานกว่า 30 ปี แนะถ้าทำจริงนายจ้างต้องวางแผนยาว

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เปิดเผยถึงกรณีพรรคเพื่อไทย ประกาศนโยบาย ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 600 บาท และเพิ่มเงินเดือนนักศึกษาจบปริญญาตรี 25,000 บาทต่อเดือน ภายในปี 2570 หากได้เป็นรัฐบาล โดยระบุว่า 

 

การประกาศนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 600 บาท ถือเป็นการล้มกระดานของคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายรัฐบาล ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง โดยล้มเงื่อนไขการพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่มีมายาวนานกว่า 30 ปี

 

ทั้งนี้เนื่องจากการพิจารณาของคณะกรรมการไตรภาคี แต่ละครั้ง จะพิจารณาจากเงื่อนไข และองค์ประกอบต่าง ๆ ทั้ง อัตราการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ ความสามารถของนายจ้าง และลูกจ้าง อีกทั้งนโยบายนี้ยังมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการล้มกระดานในคณะกรรมการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน หรือสวัสดิการต่าง ๆ ตามมาอีกด้วย เช่นเดียวกับข้อกฎหมายว่าจะขัดต่อกฎหมายแรงงานหรือไม่

นายธนิต ระบุว่า การประกาศนโยบายค่าแรงวันละ 600 บาท ยังโชคดีหน่อยที่ไม่ได้ประกาศขึ้นในทันที เพราะจากที่ได้ฟังนโยบายพรรคเพื่อไทย ก็เตรียมปรับขึ้นในช่วงเวลา 5 ปีจากนี้ คือภายในปี 2570 ซึ่งการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบันก็ปรับขึ้นไม่เท่ากันในแต่ละจังหวัด 

 

ทั้งนี้หากพิจารณาอัตราค่าแรงขั้นต่ำของกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปัจจุบันเป็นฐานในการวิเคราะห์ จะพบว่า ล่าสุดมีการกำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำวันละ 353 บาท เมื่อปรับขึ้นเป็นวันละ 600 บาท เฉลี่ยแล้วจะปรับขึ้นประมาณ 250 บาทภายใน 5 ปี หรือเพิ่มขึ้นปีละ 50 บาทหรือเพิ่มขึ้นประมาณ 2.2 เท่าจากปัจจุบัน

 

“การเมืองก็คือการเมือง เพราะนโยบายที่ประกาศออกมาก็คืออะไรก็ได้ที่เรียกคะแนนนิยม ซึ่งพรรคเพื่อไทยเอง ก็ถือเป็นหนึ่งในพรรคชอบออกนโยบายประชานิยมอยู่แล้ว เพราะเมื่อย้อนไปดูนโยบายก่อนหน้านี้ พรรคเพื่อไทย ก็เคยประกาศค่าแรงวันละ 300 บาท ดังนั้นในการประกาศนโยบายครั้งนี้ก็เป็นหนึ่งในรูปแบบของการเรียกคะแนนนิยมเช่นกัน แต่การจะทำได้หรือไม่ก็ต้องไปดูว่า ขัดต่อกฎหมายแรงงานหรือไม่อีกด้วย”

อย่างไรก็ตามส่วนตัว มองว่า ในการหาเสียงของพรรคการเมืองจากนี้ไป ทุกพรรคการเมือง จะหันมาเล่นนโยบายประชานิยมในลักษณะนี้ออกมาอีกแน่นอน โดยบางพรรคอาจจะประกาศค่าแรงให้มากกว่าบางพรรคที่ประกาศออกมาแล้วด้วย โดยนายจ้างเองนั้น ก็ต้องมองเรื่องนี้ให้ออก และเตรียมความพร้อมรองรับเอาไว้ล่วงหน้าว่าจะรับไหวหรือไม่

 

“หากพรรคเพื่อไทยได้มาเป็นรัฐบาล ก็คงทำ แต่ก็มีข้อกังขาว่าเขาพูดตัวเลขที่ 5 ปี ซึ่งเชื่อว่าหลายคนที่อยู่ในพรรคก็เคยอยู่ในแวดวงการค้ามาก่อน ก็ต้องรู้ถึงผลกระทบต่อนายจ้าง โดยเป็นไปได้ว่านโยบายนี้ก็ไม่ได้ปรับขึ้นในปีแรก ขณะที่การเมืองอย่างเก่ง 4 ปี ก็ไม่รู้ว่าจะอยู่ถึงหรือเปล่า และถึงเวลานั้นก็อาจไม่รักษาคำพูดก็ได้”

 

นายธนิต กล่าวว่า สิ่งที่ภาคเอกชนต้องเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า สิ่งสำคัญคือ ต้องประเมินความเสี่ยงในระยะยาว และนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้มากขึ้น เพื่อลดต้นทุนแรงงาน หรือถ้าไม่ไหวจริง ๆ ก็พิจารณาย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีค่าแรงต่ำ ซึ่งทั้งหมดนั้นต้องดูความเหมาะสมกับสถานการณ์มาประกอบกัน

 

นอกจากนี้ ในการปรับขึ้นเงินเดือนเด็กจบปริญญาตรี 25,000 บาท ส่วนตัวไม่ได้หนักใจเรื่องนี้ เนื่องจากปัจจุบันเด็กจบปริญญาตรีบางส่วน ก็ได้เงินเดือนสูงกว่าค่าแรงปัจจุบัน 15,000 บาท โดยเฉพาะผู้ที่จบในสาขาเทคโนโลยี หรือสายเทคนิควิชาชีพ ซึ่งตลาดแรงงานมีความต้องการสูงอยู่แล้ว