หอการค้าไทยในจีน ฝ่าวิกฤติโควิดต้อนรับปีเสือ (3) 

30 ม.ค. 2565 | 11:35 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ม.ค. 2565 | 18:43 น.

หอการค้าไทยในจีน ฝ่าวิกฤติโควิด ต้อนรับปีเสือ (3) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

ผมขอพาทุกท่านกลับไปสู่งานสัมมนาประจำปีของหอการค้าไทยจีน “ฝ่าวิกฤติโควิด ต้อนรับปีเสือ” คิวถัดไปเป็นการบรรยายพิเศษของผู้แทนธนาคารกรุงเทพ (ประจำประเทศจีน) ในหัวข้อ “โอกาสและความท้าทายด้านธุรกิจหลังยุคโควิด-19 ภายใต้ RCEP และ BRI” ที่เข้มข้นไปด้วยสาระและมุมมอง เราไปเก็บตกกันเลยครับ ...

 

คุณเบนจามิน เฌอ (Che Wei) Head of Corporate Banking, Bangkok Bank (China) เริ่มต้นด้วยการเปิดประเด็นว่า ในปี 2021 เศรษฐกิจโลกคาดว่าจะเติบโต 5.6% เมื่อเทียบกับของปีก่อน และเราจะมีโอกาสและความท้าทายอย่างไรบ้างในปี 2022 นี้

เศรษฐกิจโลกในปีเสือมีแนวโน้มที่ดี โดยการฟื้นตัวของโลกโดยรวมจะเป็นผลจากกลุ่มประเทศหลักอันได้แก่ สหรัฐฯ และจีน ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตสูง ประเทศทั้งสองนี้จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก

 

อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวยังไม่อาจเกิดขึ้นได้อย่างสมดุล สหรัฐฯ อาจจะลดเงินสนับสนุนที่เคยให้กับประเทศกำลังพัฒนา ขณะเดียวกัน สถานการณ์โควิด-19 ที่กลายพันธุ์และแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง จะสร้างแรงกดดันอย่างมากให้กับหลายประเทศ 


ทั้งนี้ หลายฝ่ายคาดว่า การจัดสรรวัคซีนให้กับประเทศที่มีรายได้ต่ำคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในปีนี้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยเชิงบวกที่ช่วยให้กลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่มีโอกาสที่จะฟื้นตัว

 

ในกรณีของจีน แม้ว่าจะต้องเผชิญกับการตรวจพบเชื้อโควิด-19 ผุดขึ้นเป็นระลอกในช่วงปลายปีก่อนต่อต้นปีนี้ แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนก็ยังมีเสถียรภาพดีอยู่ 

 

หัวหน้าทีมวานิชธนกิจของธนาคารกรุงเทพ (ประจำประเทศจีน) เห็นว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้จัดระเบียบภาคธุรกิจในหลายอุตสาหกรรม รวมทั้งสถาบันการเงิน อาจเป็นผลดีในระยะยาว โดยมาตรการดังกล่าวอาจจะทำให้วิสาหกิจที่มีสภาพแวดล้อมที่ดีมีผลประกอบการที่ดีกว่าช่วงก่อนโควิดเสียด้วยซ้ำ 

 

อย่างไรก็ดี ผมสังเกตเห็นว่า ผู้บรรยายมีข้อห่วงใยเกี่ยวกับสภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ราคาธัญพืชและอาหารขยับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับแต่กลางปีก่อน ขณะที่ราคาพลังงานในปี 2022 ก็คาดว่าจะเพิ่มขึ้นราว 2% เมื่อเทียบกับของปีก่อน โดยน้ำมันดิบจะอยู่ที่ 74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล แม้ว่าซัพพลายน้ำมันดิบจะเพิ่มขึ้นในเชิงปริมาณก็ตาม
 

เหล่านี้จะส่งผลให้ดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภค (CPI) ในปีนี้เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูง ซึ่งหมายความว่าราคาสินค้าอุปโภคบริโภคจะขยับสูงขึ้นในปี 2022

 

ผู้แทนแบงก์กรุงเทพ (ประจำประเทศจีน) เห็นว่า ยุทธศาสตร์ “ข้อริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative) จะเป็นกลไกสำคัญและเต็มไปด้วยศักยภาพของการพัฒนาและเชื่อมโยงจีนกับหลายประเทศยาวตลอดไปถึงยุโรป ซึ่งจำแนกได้เป็น 6 ระเบียงเศรษฐกิจ ได้แก่

 

 1. จีน-มองโกเลีย-รัสเซีย 


 2. จีน-ยุโรป “ยูเรเซียใหม่”


 3. จีน-เอเชียกลาง-เอเชียตะวันตก


 4. จีน-คาบสมุทรอินโดจีน


 5. จีน-ปากีสถาน 


 6. จีน-เมียนมา-บังคลาเทศ-อินเดีย


ภูมิภาคเหล่านี้เป็นทั้งแหล่งพลังงาน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมองโกเลียและรัสเซีย) ตลาดสินค้า แหล่งรองรับการลงทุน และโอกาสในการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ อาทิ โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งและโทรคมนาคม ซึ่งการสนับสนุนส่งเสริมในเชิงนโยบาย ความพร้อมสรรพ และศักยภาพทางเศรษฐกิจของจีนเป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จในอนาคต  

 

แต่อย่างไรก็ดี หลายประเทศ/ภูมิภาคก็ยังมีปัญหาเศรษฐกิจภายในอยู่มาก เช่น ปัญหาหนี้ และการก่อการร้าย รวมทั้งธรรมชาติของการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ และอยู่บนพื้นฐานของความแตกต่างด้านภูมิรัฐศาสตร์และค่านิยมระหว่างกัน ที่จำเป็นต้องใช้เวลานานในการพัฒนา ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายไปพร้อมกัน


ภูมิภาคเอเซียกลางและเอเซียตะวันตกที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงและทะเลทราย มีสภาพแวดล้อมเหมาะกับการลงทุนที่ดี และอาจจะเป็นโอกาสใหม่ในด้านการขายสินค้า และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับจีน


ในคาบสมุทรอินโดจีน อาเซียนเป็นภูมิภาคหนึ่งที่น่าสนใจ โดยมีโอกาสในด้านการลงทุน และเอาประโยชน์จากเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน และ RCEP 


คุณเบนจามิน เฌอ ให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า ประเด็นเขตการค้าเสรีดังกล่าวนี้จะสร้างโอกาสใหม่ในหลายส่วน อาทิ โอกาสการลงทุน และโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะทำให้ประเทศในภูมิภาคนี้ได้รับประโยชน์ในระยะยาว 

 

โอกาสทางธุรกิจจากระเบียงเศรษฐกิจดังกล่าวว่าครอบคลุมในหลายส่วน ได้แก่ การพัฒนาเงินหยวนสู่สกุลเงินสากล ซึ่งนำไปสู่การผลักดันการใช้เงินหยวน การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โครงการเศรษฐกิจดิจิตัล โครงการพลังงานใหม่ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก 

 

เมื่อพิจารณาการพัฒนา BRI ควบคู่ไปกับ RCEP จะทำให้การค้าระหว่างกันมีความเสรีมากขึ้น ประเทศสมาชิกจะได้รับประโยชน์อย่างมากจากการลดอากรนำเข้าลงมาเหลือศูนย์ของกว่า 90% ของรายการสินค้าทั้งหมดที่ค้าขายระหว่างกัน ทั้งวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูป อันจะเป็นประโยชน์ต่อการค้า และเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานในประเทศสมาชิกที่เกี่ยวข้อง 

 

อย่างไรก็ดี ผู้บรรยายยังมองจากมิติภาคปฏิบัติว่า การได้รับประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมจาก RCEP ยังมีขั้นตอนและกระบวนการอยู่มาก เพราะยังขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการลงนามในสัตยาบรรณและการดำเนินการตามพันธะสัญญาของประเทศสมาชิก รวมทั้งการเปิดกว้างของกรอบความร่วมมือฯ ซึ่งต้องอาศัยเวลาและความร่วมมือ

 

ขณะเดียวกัน SMEs ก็ต้องอาศัยความสามารถในการแข่งขัน และการส่งเสริมด้านเทคโนโลยีที่สูงขึ้น รวมทั้งการสนับสนุนด้านเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งนับเป็นความท้าทายที่สูงลิ่ว เพราะจะเปิดการเสรีบนพื้นฐานที่ไม่เท่าเทียมกัน 

 

โดยจีนถือว่าเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจและมีบทบาทสูงในภูมิภาคนี้ และคาดว่าจะกลไกสำคัญที่เพิ่มโอกาสด้านการค้า การลงทุน การจัดซื้อจัดจ้าง และอื่นๆ 

 

ผู้บรรยายยังเห็นว่า นี่จะเป็นยุคแห่งการยกระดับอุตสาหกรรมภาคบริการที่จะเติบโตอย่างรวดเร็ว อาทิ การเงินการธนาคาร การรักษาพยาบาลออนไลน์ และอีคอมเมิร์ซ รวมทั้งขยายตัวของการทำงานออนไลน์ ทรัพย์สินทางปัญญา และการขนส่งระหว่างประเทศ 

 

นอกจากนี้ ผู้บรรยายยังกล่าวอย่างเชื่อมั่นว่า เมื่อมองออกไปในระยะยาว บทบาทของการใช้เงินหยวนในการชำระเงินระหว่างประเทศจะมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดระดับการพึ่งพาของจีนที่มีต่อสหรัฐฯ 

 

และเมื่อ RCEP เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม อาเซียนก็จะได้รับประโยชน์อีกมาก พร้อมทั้งทิ้งท้ายว่า ปีเสือนี้จะเป็นปีที่สำคัญ โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัว ซึ่งผมคิดว่าผู้ประกอบการไทยไม่เพียงแต่คาดหวัง แต่ยังสวดมนต์ภาวนาให้เกิดขึ้นจริง

 

ตอนหน้าผมจะพาไปเก็บตกสาระดีๆ ในช่วงของการเสวนาที่ผมไปร่วมเป็นผู้ดำเนินรายการเอง ห้ามพลาดนะครับ ...

 

เกี่ยวกับผู้เขียน :  : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน

 

หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,752 วันที่ 27 - 29 มกราคม พ.ศ. 2565