คนจีนจะมาท่องเที่ยวเมืองไทยกันได้เมื่อไหร่ (1)

11 พ.ย. 2564 | 12:41 น.
อัปเดตล่าสุด :12 พ.ย. 2564 | 18:32 น.
3.8 k

คนจีนจะมาท่องเที่ยวเมืองไทยกันได้เมื่อไหร่ (1) คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย... ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

หลังจากที่ไทยเริ่มเปิดประเทศก็มีคำถาม มีความคาดหวัง และคำถามมากมายเกิดขึ้นตามมา เป็นต้นว่า คนจีนจะเข้ามาเที่ยวบ้านเราหรือไม่ และมีคนจุดประเด็นต่อว่า นักท่องเที่ยวจีนยังมาไทยไม่ได้แน่ เพราะรัฐบาลจีนยังไม่ไฟเขียวให้คนจีนเดินทางออกไปต่างประเทศ รวมทั้งยังเกิดคำถามว่าคนไทยจะเดินทางไปไหว้พระ ทำบุญ และ พักผ่อนในจีน ขณะที่นักเรียนนักศึกษาไทยจะกลับไปเรียนแบบ “ออนไซต์” (On Site) ที่จีนกันได้เมื่อไหร่ วันนี้เรามาไขข้อสงสัยนี้กันครับ ...

 

ในช่วงเกือบ 2 ปีหลังนี้ จีนพยายามแก้ไขปัญหาและกำกับควบคุมวิกฤติโควิด-19 โดยยอมรับความเสี่ยงในระดับที่ต่ำแบบสุดๆ กล่าวคือ รัฐบาลจีนยึดหลักการ “Zero-Covid” ตั้งเป้าให้มีคนติดเชื้อเป็นศูนย์ โดยที่ผ่านมา จีนทำทุกวิถีทางเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวมาโดยตลอด อาทิ การล็อกดาวน์ และการตรวจเชื้อเชิงรุก ทั้งนี้ รัฐบาลจีนยังได้ผูกเงื่อนไขในการเดินทางเข้าจีนไว้หลายประการ กลุ่มแรก ได้แก่ คนจีนที่ตรวจผลการติดเชื้อโควิด-19 ว่า เป็นลบ และมีเอกสารยืนยันผล สามารถเดินทางเข้าจีนได้

กลุ่มถัดมาได้แก่ ชาวต่างชาติที่มีใบอนุญาตทำงาน การเดินทางเพื่อพบปะของญาติพี่น้อง หรือ ดูแลญาติผู้ใหญ่ที่อาศัยอยู่ในจีน และคนในบางอาชีพ เช่น ลูกเรือ รวมทั้งกลุ่มคนที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน เช่น การเยี่ยมญาติที่ป่วยหนัก หรือ ร่วมงานศพของบุคคลที่เสียชีวิตอย่างปัจจุบันทันด่วน ทั้งนี้ คนเหล่านี้ต้องผ่านการทดสอบแบบกรดนิวคลีอิก ภายใน 48 ชั่วโมง ก่อนเดินทาง และหากได้รับการฉีดวัคซีนครบโดส (ตามที่กำหนด) คนเหล่านี้ก็จะสามารถเดินทางในจีนได้ด้วยความยืดหยุ่นในวงกว้าง

ยกตัวอย่างเช่น ผู้เดินทางเข้าจีนที่ไม่มีเที่ยวบินตรงไปยังเมืองจุดหมายปลายทาง (ต้องต่อเครื่องหรือพาหนะอื่น) ก็ต้องกักตัวในเมืองแรกอย่างน้อย 14 วัน ก่อนเดินทางต่อ และเข้าระบบการกักตัวเพิ่มเติมให้ครบตามที่เมืองปลายทางกำหนด ทั้งนี้ กลุ่มคนที่เดินทางเข้าจีนต้องกักตัวในศูนย์กักกันที่รัฐกำหนดเป็นเวลา 14-21-28 วัน แล้วแต่สถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ในช่วงเวลานั้น

 

ในทางปฏิบัติ เงื่อนไขการกักตัวดังกล่าวเป็นปัญหาอุปสรรคใหญ่ของคนจีน ที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวในต่างประเทศ เพราะโดยทั่วไปแล้ว นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มีวันลาพักผ่อนเพียง 7-10 วัน ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวไม่เพียงพอ แม้กระทั่งสำหรับการโดนกักตัวเมื่อเดินทางกลับเข้าจีนเสียด้วยซ้ำ ดังนั้น แม้ว่าไทยจะปลดล็อกการกักตัวและเปิดด่าน แต่นักท่องเที่ยวจีนที่มาเป็นหมู่คณะก็ไม่อาจเดินทางมาพักผ่อนที่ไทยได้

                                  คนจีนจะมาท่องเที่ยวเมืองไทยกันได้เมื่อไหร่ (1)

นอกจากการโดนกักตัวเป็นระยะเวลานานดังกล่าว นักท่องเที่ยวยังต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายนับหมื่นหยวนสำหรับการกักตัวในช่วง 2 สัปดาห์แรกอีกด้วย สำหรับผมแล้ว เงื่อนไขการกักตัวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องระยะเวลาและค่าใช้จ่ายนี่แหละ คือ ปัญหาใหญ่สำหรับคนจีนที่ต้องการเดินทางมาท่องเที่ยวไทย

 

เท่านั้นไม่พอ การเดินทางก็ยังมีปัจจัยอื่นที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางไปท่องเที่ยวอีกด้วย จำนวนและความถี่ของเที่ยวบินในแต่ละหัวเมืองที่ลดลงจากสัปดาห์ละ 20 เที่ยวบิน เหลือเพียง 1-2 เที่ยวบิน ส่วนใหญ่เป็นเที่ยวบินของจีนเท่านั้น แถมยังถูกยกเลิก หรือ เลื่อนตารางบินอยู่เนืองๆ ขณะที่ค่าตั๋วเครื่องบินก็แพงกว่าเดิมมาก ราคาค่าตั๋วในเส้นทางหัวเมืองหลักของจีน-ไทย ในปัจจุบัน ก็มีราคาสูงกว่าในช่วงก่อนวิกฤติโควิด-19 ถึงราว 4-5 เท่าตัว

 

แม้ว่าจะมีข้อเรียกร้องจากหลายชาติให้รัฐบาลจีนปรับเปลี่ยนแนวทางดังกล่าวให้ยืดหยุ่นมากขึ้น แต่ดูท่าจะไม่เกิดขึ้นในระยะอันใกล้นี้ เหตุผลสำคัญเพราะสถานการณ์การติดเชื้อและการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ในจีนและหลายประเทศ รวมทั้งวัคซีนและยารักษาที่ยังขาดความชัดเจน

 

ผมจึงเชื่อมั่นว่า หากจีนยึดหลักการ “Zero-Covid” นี้อยู่ต่อไป โอกาสความน่าจะเป็นที่จีนจะเปิดด่านและปลดล็อกการกักตัวคนที่เดินทางเข้าประเทศภายในปี 2021 จึงเป็นศูนย์ ซึ่งนั่นก็เป็นการดับฝันนักท่องเที่ยวจีนประเภท “หมู่คณะ” ที่จะมาไทยไปด้วย

 

ประเด็นคำถามสำคัญถัดมาก็คือ ในแง่กฎหมาย รัฐบาลจีนได้ออกกฎหมายห้ามคนจีนเดินทางไปท่องเที่ยวในต่างประเทศหรือไม่ หรือ ประเทศไทยเป็นการเฉพาะหรือไม่

 

คำตอบคือ ไม่ ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่า นับแต่วิกฤติโควิด-19 รัฐบาลจีนไม่เคยออกกฎหมาย กฎระเบียบ หรือ ประกาศ ห้ามการเดินทางไปต่างประเทศอย่างเป็นทางการ แต่ใช้วิธีขอความร่วมมือให้คนจีนงดการท่องเที่ยวต่างประเทศในช่วงเวลานี้

 

แม้กระทั่ง สี จิ้นผิง ก็ทำเป็นตัวอย่างที่ดี โดยงดการเดินทางไปปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศ นับตั้งแต่ปลายปี 2019 ซึ่งประเด็นนี้อาจเกี่ยวข้องกับเรื่องภาพลักษณ์และเถียรภาพความมั่นคงของประเทศ และของโลกอีกด้วย

 

ท่านผู้อ่านคงพอจะจินตนาการได้ว่า อะไรจะเกิดขึ้นหากผู้นำจีนติดเชื้อโควิด-19 จากการเดินทางไปปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศ ดังนั้น เราจึงไม่เห็นผู้นำจีนเดินทางไปเข้าร่วมประชุมสำคัญใดๆ ในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประชุม G-20 ใน 2 ครั้งหลัง และ COP26 ที่กลาสโกว์เมื่อเร็วๆ นี้

 

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน

 

หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,730 วันที่ 11 - 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564