เซี่ยงไฮ้ผุดสนามบินแห่งที่ 3 (จบ)

31 ต.ค. 2564 | 06:01 น.
586

เซี่ยงไฮ้ผุดสนามบินแห่งที่ 3 (จบ) คอลัมน์มังกรกระพือปีก ฉบับ 3727 หน้า 4 โดย... ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

ในท้ายที่สุด CAAC ตัดสินใจเลือกเมืองหนานทง มณฑลเจียงซู เป็นพื้นที่ก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ ด้วยเหตุผลสำคัญที่ว่า พื้นที่ในย่านนั้นตั้งอยู่ห่างจากเซี่ยงไฮ้ไปทางตอนเหนือราว 60 กิโลเมตร ซึ่งรายรอบไปด้วยสำนักงานใหญ่และฐานการผลิตของจีนและต่างชาติ และยังขาดสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการบิน 

 

สนามบินแห่งใหม่จะใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า “สนามบินนานาชาติเซี่ยงไฮ้หนานทง” (Shanghai Nantong International Airport) ซึ่งเราอาจเรียกกันสั้นๆ ว่า “สนามบินหนานทง” ก็ได้ ในอนาคตเมื่อเปิดให้บริการ สนามบินหนานทงจะช่วยลดความแออัดของสนามบินเดิมในเซี่ยงไฮ้ และเชื่อมโยงและยกระดับพื้นที่ด้านตอนเหนือของเซี่ยงไฮ้ และเมืองในตอนกลางของเจียงซูและพื้นที่ใกล้เคียง 

 

สนามบินแห่งใหม่ถูกออกแบบเพื่อให้บริการการบินทั่วไปและธุรกิจ (เครื่องบินส่วนตัว และสินค้า) และสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 50 ล้านคน/ครั้งต่อปี และใช้ลดความแออัดที่เกิดขึ้นในสนามบินหงเฉียว และผู่ตงในบางช่วงได้อีกด้วย 

 

โดยที่การใช้บริการเครื่องบินส่วนตัวในจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่สนามบินใหญ่ในจีนมักไม่ค่อยเปิดให้บริการแก่เครื่องบินดังกล่าว ทำให้จีนต้องการสนามบินทั่วไปและธุรกิจมากขึ้น

 

ในช่วง 5 ปีหลัง จีนสร้างสนามบินทั่วไปและธุรกิจถึงราว 200 แห่ง และขยายตัวในอัตราเฉลี่ยราว 10% ต่อปี ทำให้จีนมีสนามบินสำหรับอำนวยความสะดวกแก่เครื่องบินส่วนตัวกว่า 1,000 จุดในปัจจุบัน นอกจากนี้ วิกฤติโควิด-19 ยังอาจทำให้ความต้องการใช้บริการดังกล่าวจะขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้น 

 

ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่า สนามบินแห่งใหม่ตั้งอยู่ในมณฑลเจียงซู แต่ทำไมชื่อสนามบินจึงใช้คำว่า “เซี่ยงไฮ้” นำหน้า ว่าง่ายๆ ทำไมเซี่ยงไฮ้จึงเคลมว่าสนามบินใหม่เป็นสนามบินแห่งที่ 3 ของตน 

 

สนามบินแห่งใหม่นี้มีบริษัทด้านการบินของเซี่ยงไฮ้เป็นเจ้าของ บริษัทนี้จดทะเบียนนิติบุคคลเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยผ่านการอนุมัติของเลขาธิการของคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งกลุ่มธุรกิจท่าอากาศยานเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Airport Group) 

 

ในทางปฏิบัติ เซี่ยงไฮ้จะใช้เงินทุน ความรู้ ประสบการณ์ที่สั่งสมไว้ และอื่นๆ ในการลงทุนก่อสร้างและบริหารจัดการสนามบินแห่งใหม่  

 

ด้วยเหตุนี้กระมังที่มีกระแสข่าวว่า CAAC อาจจะใช้จังหวะของการมีสนามบินแห่งใหม่นี้ เดินหน้าปรับโครงสร้างองค์กรที่ทำหน้าที่กำกับดูแลสนามบินที่เกี่ยวข้องในระดับภูมิภาค โดยจะบูรณาการและพัฒนาสนามบินในบริเวณปากแม่นํ้าแยงซีเกียงเข้าด้วยกัน ตามนโยบายการพัฒนา “กลุ่มเมือง” (City Cluster) โดยใช้เซี่ยงไฮ้เป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค 

 

ในชั้นนี้ รัฐบาลนครเซี่ยงไฮ้และมณฑลเจียงซูได้ลงนามในความตกลงเพื่อวางแผน ก่อสร้าง และบริหารจัดการสนามบินใหม่ไปเรียบร้อยแล้ว โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนก่อสร้างราว 50,000 ล้านหยวนบนพื้นที่ขนาด 20 ตารางกิโลเมตร และเทอร์มินัลขนาด 160,000 ตารางเมตร ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะมีขนาดใหญ่กว่าของสนามบินหงเฉียวเสียอีก

 

การก่อสร้างสนามบินหนานทงคาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการภายในปี 2025 ซึ่งจะถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 14 (ปี 2021-2025) ของเซี่ยงไฮ้ที่ต้องการมีระบบการขนส่งอัจฉริยะที่มีประสิทธิภาพ และดีต่อสิ่งแวดล้อม

 

รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ผู้คนที่อาศัยในแถบปากแม่นํ้าแยงซีเกียง และบรรลุเป้าหมายระยะยาวที่เซี่ยงไฮ้ต้องการจะรองรับผู้โดยสารปีละ 180 ล้านคน/ครั้ง และสินค้า 6.5 ล้านตันภายในปี 2035

 

โดยที่รัฐบาลเซี่ยงไฮ้อยู่ระหว่างการก่อสร้างเส้นทางรถไฟใต้ดินที่เร็วที่สุดในโลกเชื่อมสนามบินหงเฉียวและผู่ตงเข้าด้วยกัน เส้นทางรถไฟสายนี้คาดว่าจะถูกขยายต่อไปยังสนามบินหนานทงอีกด้วยในอนาคต  

 

นอกจากนี้ สนามบินแห่งใหม่ยังจะเชื่อมโยงด้วยเส้นทางด่วนและรถไฟความเร็วสูง รวมทั้งเชื่อมต่อไปยังโครงข่ายรถไฟใต้ดินและขนส่งมวลชนในเมืองที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเซี่ยงไฮ้ อู่ฮั่น เหอเฝย และหนานจิง

 

หลังโครงการก่อสร้าง “สนามบินหนานทง” แล้วเสร็จ ก็จะทำให้นครเซี่ยงไฮ้ก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในไม่กี่เมืองในโลกที่มีสนามบิน 3 แห่งเปิดให้บริการ เฉกเช่นเดียวกับลอนดอน ปารีส มอสโกว์ และ นิวยอร์ก เพียงแต่เซี่ยงไฮ้จะมีระบบและโครงข่ายการขนส่งหลากหลายรูปแบบที่ทันสมัยและพร้อมสรรพให้บริการอย่างแท้จริง

 

อีกไม่นาน เซี่ยงไฮ้มี “ของเล่น” ใหม่ให้เราติดตามและไปทดลองใช้บริการกันอีกแล้ว ...

 

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน

 

หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,727 วันที่ 31 ตุลาคม - 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564