อาคารสีเขียวบานสะพรั่งในจีน (จบ)

08 พ.ย. 2564 | 13:06 น.
อัปเดตล่าสุด :08 พ.ย. 2564 | 20:19 น.
757

อาคารสีเขียวบานสะพรั่งในจีน (จบ) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย... ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

จีนยังพยายามใช้ประโยชน์จากพื้นที่ทุกส่วนให้เกิดประโยชน์ในการผลิตพลังงานสะอาด โดยเมื่อกลางปี 2021 คณะรัฐมนตรีจีนได้เห็นชอบให้กำหนดสัดส่วนการใช้แผงโซล่าเซลล์ในพื้นที่หลังคาอาคาร เช่น หน่วยงานของรัฐ 50% อาคารสาธารณะที่ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ 40% อาคารเชิงพาณิชย์และโรงงานอุตสาหกรรม 30% และที่อยู่อาศัยในพื้นที่ชนบท 20% ของพื้นที่หลังคาอาคาร

 

แม้กระทั่งการใช้พื้นที่ด้านซีกตะวันตกที่มีประชากรเบาบางและสภาพภูมิประเทศไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกต้นไม้ดังกล่าวมาปรับใช้เป็นพื้นที่เพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ ลม และแสงอาทิตย์

สำหรับท่านที่มีโอกาสไปท่องเที่ยวเมืองจีน เวลาเราเดินทางไปนอกเมืองก็อาจได้ยินไกด์ท้องถิ่นเล่าเรื่องราวและแนะนำบ้านของชาวนาชาวไร่จีนที่ใหญ่โต สูง 3-4 ชั้น และดูเรียบร้อยสวยงาม แถมหลังคาก็อาจติดตั้งจานดาวเทียม และแผงโซล่าเซลล์   

 

3. การเสริมสร้างความนิยมในอาคารที่ใช้พลังงานต่ำในสภาพอากาศที่เหมาะสม โดยที่จีนเป็นประเทศที่มีขนาดในเชิงภูมิศาสตร์ใหญ่ จึงมีสภาพอากาศที่แตกต่างกันมาก รัฐบาลจึงปลูกฝังจิตสำนึกของความประหยัดและพฤติกรรม “โลว์คาร์บอน” ในกรณีที่พื้นที่มีสภาพอากาศเหมาะสม

                           อาคารสีเขียวบานสะพรั่งในจีน (จบ)

ในส่วนของอาคารสาธารณะที่ล้วนเป็นของรัฐ อาทิ ศูนย์การประชุม สนามบิน และสถานีรถไฟ ก็ดูจะปฏิบัติกันจนเป็นเรื่องปกติ แถมยังกำหนดให้อาคารพาณิชย์ และอื่นๆ ของเอกชนต้องร่วมแคมเปญการประหยัดพลังงานด้วย 

 

ห้างสรรพสินค้า ภัตตาคาร/ร้านอาหาร และสถานที่สาธารณะในจีนไม่อาจตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศได้ตามอำเภอใจ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจวัดอุณหภูมิในแต่ละจุดเป็นระยะ หากเตือนแล้วไม่ปฏิบัติตามก็จะมีบทปรับ และการลงโทษอื่นเป็นลำดับขั้นไป รัฐบาลจีนถือว่า “พลังงาน” เป็นของส่วนรวม ใช่ว่ามีเงินแล้วจะซื้อได้!

 

แม้กระทั่ง วีแชต (WeChat) สื่อสังคมออนไลน์ชั้นนำของจีน ก็ยังมีแผนออกมินิโปรแกรมเพื่อเก็บสะสมแต้มเวลาที่เจ้าของโทรศัพท์มีพฤติกรรมดังกล่าว เช่น ใช้บริการขนส่งสาธารณะ และใช้รถไฟฟ้า และสามารถนำแต้มสะสมเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ได้ด้วย ซึ่งเราจะได้เห็นกันอย่างแพร่หลายในช่วงโอลิมปิกฤดูหนาวในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2022

 

สิ่งนี้ดูจะแตกต่างจากบ้านเราที่ตั้งอุณหภูมิภายในอาคารต่ำกว่าที่ควรจะเป็น จนต้องหันไปใส่เสื้อแขนยาวหรือติดเสื้อคลุมไปทำงานหรือเดินห้าง บางคนอาจมีประสบการณ์ “หนาวสั่น” เวลาไปดูหนังในโรงภาพยนตร์ จนต้องติดห่มผ้าผืนเล็กไปด้วยก็มี

 

ยิ่งในช่วงโควิด-19 ที่เราควรใช้เวลาในสภาพอากาศที่เปิดโล่ง แต่เราก็ไม่ได้ใช้โอกาสนี้อย่างจริงจัง นี่เรากำลังจะเข้าฤดูหนาวที่ข่าวว่าเราจะหนาวเร็วและนานกว่าหลายปี ก็ต้องลองลุ้นดูว่าเราจะช่วยประหยัดการใช้พลังงานได้มากน้อยขนาดไหน

 

นอกจากนี้ ผมยังสังเกตเห็นแท็กซี่ รถประจำทาง หรือคนขับรถยนต์ของกิจการเอกชนในจีนนิยมเปิดหน้าต่างรับอากาศบริสุทธิ์ในช่วงที่มีอากาศดี หรือเลือกใช้บริการขนส่งสาธารณะ เพื่อช่วยลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และลดการปล่อยคาร์บอนไดอ๊อกไซด์อีกด้วย

 

4. การส่งเสริมการปรับปรุงอาคารให้มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นและปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง จีนเดินหน้าเรื่องนี้อย่างจริงจัง เราจึงมักเห็นคณะสถาปนิกจีนและเทศจำนวนมากออกสำรวจและเสนอแนะรูปแบบการปรับโฉมอาคารเดิมทั่วจีน อาคารบ้านเรือนเก่าเหล่านี้ถูกปรับเปลี่ยนไม่เพียงเพื่อความสวยงาม แต่ยังรวมถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

แม้กระทั่งการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ก็ไม่เว้น จีนตั้งใจจะให้ Beijing 2022 เป็น “โอลิมปิกสีเขียว” ครั้งแรกในโลก โดยในส่วนหนึ่ง จีนได้นำเอาสนามกีฬาที่ใช้ในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน 2008 หลายแห่งมาดัดแปลงเพื่อใช้ในการแข่งขันครั้งนี้ แถมยังใช้วัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่ในการปรับปรุงสนามในครั้งนี้

 

เท่านั้นไม่พอ กระแสไฟฟ้าที่ใช้ในการก่อสร้าง การทดสอบระบบ การแข่งขัน และกิจกรรมพิเศษ รวมถึงการรื้อถอนหลังการแข่งขันทั้ง 26 แห่งใน 3 พื้นที่หลักล้วนใช้พลังงานสะอาดแบบ 100%

 

ในอีกส่วนหนึ่ง ในระหว่างการก่อสร้างสนามแข่งขันและศูนย์ฝึกกีฬาแห่งใหม่ จีนก็ยังให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียวที่มีอยู่เดิม ต้นไม้นับหมื่นต้นถูกโยกย้ายไปฟูมฟักนอกพื้นที่ระหว่างการก่อสร้างสนามฯ ก่อนจะนำกลับมาปลูกในพื้นที่เพื่อรักษาระบบนิเวศที่เป็นธรรมชาติมากที่สุด

 

คำถามสำคัญตามมาก็คือ จีนยังต้องหรือควรทำอะไรอีกบ้าง ประการแรก รัฐบาลจีนมีภารกิจอีกหลายอย่างรออยู่ ภายหลังการกำหนดเป้าหมายใหญ่ในระยะยาว จีนในวันนี้ต้องกำหนดเป้าหมายย่อยในแต่ละระยะ

 

ยกตัวอย่างเช่น เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายระยะยาวในปี 2030 การใช้พลังงานที่มิใช่ฟอสซิลจะต้องมีสัดส่วนเป็น 25% ของการใช้พลังงานพื้นฐานโดยรวม ซึ่งหมายถึงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์รวมของจีนจะทะลุ 1,200 ล้านกิโลวัตต์

 

ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนยังต้องกำหนดแผนงานการพัฒนาอาคารสีเขียวที่ชัดเจน และออกมาตรการด้านการเงินและการคลังเพื่อจูงใจให้เอกชนและประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการในวงกว้าง

 

นอกจากนี้ โดยที่จีนเป็นประเทศที่มีขนาดในเชิงภูมิศาสตร์ใหญ่ และแตกต่างในเชิงความเจริญในการพัฒนา รัฐบาลจีนจึงต้องพยายามขยายพื้นที่การดำเนินโครงการอาคารสีเขียวให้กว้างขวางมากขึ้น โดยให้ครอบคลุมจากเมืองใหญ่ไปยังเมืองรอง และจากชุมชนเมืองไปสู่ชนบท รวมทั้งจากพื้นที่ด้านซีกตะวันออกของจีนไปยังพื้นที่ตอนกลางและซีกตะวันตก  

 

โดยในชั้นนี้ มีกระแสข่าวว่า รัฐบาลจีนได้เตรียมกำหนดระบบและจัดตั้งองค์กรที่รับผิดชอบการพัฒนาอาคารสีเขียวที่ครอบคลุมทั้งพื้นที่ชุมชนเมืองและชนบทเป็นการเฉพาะภายในปี 2025 (สิ้นสุดแผนพัฒนา 5 ปีฉบับ 14) และยกระดับการดำเนินงานเพื่อต่อสู้กับภาวะโลกร้อนอย่างรอบด้านภายในปี 2035 (สิ้นสุดแผนฯ 16)

 

ขณะที่ภาคเอกชนในทุกขนาดธุรกิจก็ควรเข้ามามีส่วนร่วมในเชิงรุก โดยให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และการเพิ่มระดับออกซิเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจหลัก สิทธิประโยชน์จากภาครัฐน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะได้รับประโยชน์ในที่สุด ขณะเดียวกัน สถาบันการเงินก็ควรส่งเสริมสินเชื่อสีเขียว และสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียวให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

 

ประการสำคัญ ภาคประชาสังคมก็ต้องตระหนักถึงความสำคัญของ “โลกสีเขียว” อย่างแท้จริง จากกรณีศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาอาคารสีเขียวดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ประชาชนนับว่ามีส่วนสำคัญยิ่งต่อความสำเร็จในการดำเนินโครงการอย่างเป็นรูปธรรมในวงกว้าง การพัฒนาโครงการฯ ให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนจึงต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจด้านสิ่งแวดล้อม และความมุ่งมั่นตั้งใจที่คนในยุคปัจจุบันต้องการสร้าง “ท้องฟ้าที่ปลอดโปร่ง ผืนดินที่อุดมสมบูรณ์ และสายน้ำที่สดใส” แก่คนในยุคหน้า

 

อีกไม่นาน อาคารบ้านเรือนที่เต็มไปด้วยต้นไม้ในจีน จะไม่ใช่สิ่งที่แปลกตาอีกต่อไป เพราะอาคารสีเขียวกำลังจะบานสะพรั่งทั่วจีน และก้าวสู่เบอร์หนึ่งของโลกในด้านนี้กันแล้ว

 

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน