เมื่อหน้าตาเฮลท์แคร์จีนถูกปรับโฉมครั้งใหญ่ (1)

03 ธ.ค. 2564 | 12:10 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ธ.ค. 2564 | 19:22 น.
1.4 k

เมื่อหน้าตาเฮลท์แคร์จีน ถูกปรับโฉมครั้งใหญ่ (1) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

เมื่อหลายวันก่อน ผมได้รับเชิญให้ไปพูดคุยเรื่อง “Transformation for Healthcare and Wellness Businesses in China” แก่หลักสูตรพิเศษ “Wellness and Healthcare Business Opportunity for Executives” รุ่นที่ 1 ที่คลาคล่ำไปด้วยผู้บริหารระดับสูงของรัฐและเอกชนในวงการดูแลสุขภาพ 

 

ในยุคที่โควิด-19 ไม่ยอมเหนื่อยอ่อน ยังคงพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ถาโถมใส่สังคมโลกอย่างไม่หยุดหย่อนเช่นนี้ ผมก็เลยขอนำเอาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่กำลังอยู่ในกระแสความสนใจ มาแบ่งปันให้กับผู้อ่านกันครับ ...
หากมองย้อนกลับไปในยุคปิดประเทศ จีนเคยถูกตราหน้าว่าเป็น “คนป่วยของเอเชีย” ในยุคนั้น เมืองจีนเต็มไปด้วยคนเจ็บป่วย แต่ละคนมีชีวิตเฉลี่ยที่สั้นมากราว 37 ปีเท่านั้น!

การสาธารณสุขของจีนในยุคนั้น ก็เต็มไปด้วยปัญหาและความท้าทายยิ่ง ด้วยแนวคิดของระบอบสังคมนิยม รัฐบาลจีนโดยกระทรวงสาธารณสุขพยายามจัดหาบริการด้านการสาธารณสุขแบบถ้วนหน้าให้แก่ประชาชน จีนมีประชากรจำนวนมากที่มีสุขภาพไม่สู้ดีนัก ต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่แตกต่างหลากหลายในแต่ละภูมิภาค และมีทัศนคติที่อยากอยู่ใกล้มือหมอ  

 

จากสถิติพบว่า คนจีนแต่ละคนไปใช้บริการรักษาพยาบาลของรัฐเฉลี่ยถึงราว 4.5 ครั้งต่อปี ซึ่งนั่นหมายถึง อุปสงค์การใช้บริการจำนวนมากมายมหาศาลในแต่ละปี จึงไม่ต้องแปลกใจที่สถานพยาบาลในจีนเต็มไปด้วยผู้คนที่ต้องการไปใช้บริการ คนไข้แต่ละรายต้องใช้เวลาเกือบทั้งวันกับการไปรอรับการตรวจโรค และรับยาปริมาณหยิบมือเพื่อรักษาตัวในราวหนึ่งสัปดาห์

ในเชิงภูมิศาสตร์ บริการรักษาพยาบาลของจีนก็พัฒนาไปในแนวทางเดียวกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ กล่าวคือ มาตรฐานบริการ แพทย์พยาบาล และเครื่องมืออุปกรณ์ที่ดีกระจุกตัวอยู่ในด้านซีกตะวันออกของจีน โดยเฉพาะในเมืองเอก และเมืองรองระดับที่ 2-3 และอาจสรุปได้ว่า ระบบสหกรณ์การพยาบาลในชนบทไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนในพื้นที่ได้ 

 

ขณะเดียวกัน ในช่วง 3 ทศวรรษหลังการเปิดประเทศ คนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในชนบท แต่ราว 2 ใน 3 ของจำนวนเตียงกลับกระจุกตัวอยู่ในเมือง สภาพการณ์นี้สะท้อนถึงความไม่สมดุลด้านบริการสาธารณสุขของจีน ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงส่วนใหญ่จึงยอมลำบากเดินทางไปเข้าคิวรักษาในโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงในเมืองใหญ่ ส่งผลให้ความต้องการมีลักษณะกระจุกตัวที่เพิ่มขึ้น

                              เมื่อหน้าตาเฮลท์แคร์จีนถูกปรับโฉมครั้งใหญ่ (1)

แม้กระทั่งในยุคหลังที่จีนเจริญขึ้นมาก สถานพยาบาลในจีนจำนวนราว 1 ล้านแห่ง ก็ยังคงเต็มไปด้วยผู้คน การขยายพื้นที่ให้บริการของโรงพยาบาลดูจะไม่ทันกับความต้องการ แต่หลายแห่งที่อยู่ในแหล่งชุมชนก็ติดข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่ 

 

ด้วยอุปสงค์ที่มากกว่าอุปทานดังกล่าว ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ทำให้การใช้บริการตรวจและรักษาสุขภาพในสถานพยาบาลแต่ละครั้งแม้จะ “ถูกตังค์” แต่ก็ “กินเวลา” ของการพักผ่อนและการทำกิจกรรมอื่นเป็นอย่างมาก ทุกครั้งที่ทีมงานของผมขอลาไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ผมรู้เลยว่าคนเหล่านั้นจะต้องหายหน้าไปอย่างน้อยครึ่งวัน การใช้บริการพยาบาลในจีนจึงไม่ใช่ประสบการณ์ที่ทุกคนถวิลหา หรืออยากกลับไปเผชิญอีก 

 

จีนยังเผชิญกับความท้าทายในมิติอื่น ค่าใช้จ่ายในการให้บริการสาธารณสุขโดยรวมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยิ่งเมื่อพิจารณาในรายละเอียดก็พบว่า ค่าใช้จ่ายต่อหัวก็เพิ่มขึ้น และแม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโตในอัตราที่สูงมากเพียงใด ก็ยังพบว่า สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านการสาธารณสุขต่อจีดีพีก็ยังคงเพิ่มขึ้นอยู่ดี สิ่งเหล่านี้เพิ่มแรงกดดันด้านงบประมาณกับรัฐบาลจีน

 

ขณะเดียวกัน แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในยุคนั้นก็เป็นศาสตร์ของจีนที่ใช้สมุนไพร การฝังเข็ม และการครอบแก้ว และมีจำนวนค่อนข้างจำกัด บริการของภาครัฐจึงไม่เพียงพอ ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ หลังเปิดประเทศสู่ภายนอกระยะหนึ่ง จีนได้เริ่มส่งคนไปศึกษาต่อด้านการแพทย์และสาขาที่เกี่ยวข้องในต่างประเทศเพื่อเรียนรู้ศาสตร์การแพทย์ตะวันตก แต่ก็ใช้เวลาอยู่นานกว่าที่แพทย์เหล่านั้นจะได้รับการยอมรับและเข้ามามีตำแหน่งบริหารในกระทรวงสาธารณสุขและสถานพยาบาลของจีน

 

แต่รัฐบาลจีนก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยพยายามสอดแทรกเรื่องการพัฒนาการรักษาพยาบาลเข้าเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายอื่น ในการต่อสู้กับปัญหาความยากจน รัฐบาลจีนก็ให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ควบคู่ไปด้วย

 

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อปลายปี 2015 รัฐบาลจีนยังได้ปรับปรุงโครงสร้างองค์กรในด้านนี้โดยยกระดับสำนักงานอาหารและยาแห่งชาติ (China Food and Drug Administration: CFDA) เป็นสำนักงานผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์แห่งชาติ (National Medical Products Administration: NMPA) ที่มีขอบข่ายความรับผิดชอบในเชิงกว้างและเชิงลึก 

 

แต่สิ่งที่ยืนยันอย่างหนักแน่นว่ารัฐบาลจีน ภายใต้การนำของ สี จิ้นผิง เอาจริงเอาจังกับการปฏิรูปด้านการสาธารณสุขเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2016 เมื่อจีนกำหนดแผนยุทธศาสตร์ด้านเฮลท์แคร์แห่งชาติ “Healthy China 2030” ซึ่งถือเป็นพิมพ์เขียวด้านการสาธารณสุขฉบับแรกนับแต่ก่อตั้งประเทศ ที่มี “สุขภาพ” เป็นแกนกลางของการพัฒนา 
 


เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3736 หน้า 4 ระหว่างวันที่ 2-4 ธ.ค.2564