กลัวความล้มเหลว โรคระบาดใหม่ ในทายาทธุรกิจครอบครัว

12 ก.ย. 2564 | 05:56 น.

Designing Your Family Business รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์ และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

จากการศึกษาของ Mariwala Health Initiative และ Ascent Foundation พบว่าทายาทรุ่นใหม่ต้องเผชิญกับความท้าทายเฉพาะที่ไม่เหมือนใคร อันเนื่องมาจากการเข้าร่วมในธุรกิจครอบครัว สาเหตุของความเครียดเหล่านี้เรียกว่าสิ่งที่ทำให้เกิดความเครียดในชีวิตซึ่งทายาทต้องเผชิญ โดยแรงกดดันที่ชัดเจนที่สุดอย่างหนึ่งคือแรงกดดันในการพิสูจน์ตนเองต่อครอบครัวและเพื่อนฝูงในเครือข่ายสังคมเดียวกัน

 

ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบของความรู้สึกถูกบังคับให้เข้าร่วมธุรกิจครอบครัว ทั้งที่กลัวว่าจะไม่สามารถสืบสานมรดกที่คนรุ่นก่อนสร้างไว้ได้ ความรู้สึกว่า “ฉันไม่ดีพอ” ทำให้คนรุ่นใหม่เกิดความกดดันที่จะต้องประสบความสำเร็จอย่างมากต่อจากผู้ประกอบการคนเก่า ขณะที่ความท้าทายที่สำคัญประการที่สองคือโดยธรรมชาติของธุรกิจครอบครัว ซึ่งมีบุคคลมากกว่าหนึ่งคนเข้ามาเกี่ยวข้อง

 

จึงอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งในการมีปฏิสัมพันธ์กับสมาชิกในครอบครัว เช่น ความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่เกี่ยวกับวิสัยทัศน์ทางธุรกิจหรืออาจเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมในที่ทำงาน ขณะที่คนรุ่นใหม่อาจตั้งเป้าที่จะรักษาสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน แต่อาจแตกต่างไปจากมุมมองให้ “งานมาก่อน” ของคนรุ่นเก่า

 

ซึ่งความขัดแย้งดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดการแสดงออกทางอารมณ์ เช่น ความโกรธ ความสับสน และความคับข้องใจ เป็นต้น ทั้งนี้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ระบุว่าความขัดแย้งดังกล่าวทำให้พวกเขากลายเป็นคนสันโดษปลีกตัวจากสังคมและอาจส่งผลให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพร่างกายอีกด้วย

 

ความท้าทายทั้งสองประการในข้างต้นเมื่อรวมเข้ากับปัจจัยอื่นอีกจึงนำไปสู่อาการกลัวความล้มเหลวทั้งแบบที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคิดถึงวิธีการใหม่ๆ ในการทำธุรกิจหรือเพื่อการเติบโตในแง่ของผลกำไรและการขยายกิจการ ซึ่งการกลัวความล้มเหลวนี้ยิ่งมีมากขึ้นในคนรุ่นใหม่ที่เป็นนักคิด นักนวัตกรรม ผู้นำ ผู้กล้าเสี่ยง และคนที่ต้องแบกความคาดหวังของคนรุ่นเก่าเอาไว้

กลัวความล้มเหลว โรคระบาดใหม่  ในทายาทธุรกิจครอบครัว

ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากคนรุ่นใหม่ไม่มีพื้นที่ในการพูดคุยเกี่ยวกับข้อผิดพลาดหรือความล้มเหลว ทั้งนี้กลไกการแก้ไขปัญหาที่คนรุ่นใหม่จำเป็นต้องพึ่งพาอาจมีตั้งแต่การออกกำลังกาย การฟังเพลง การทำสมาธิ การเดินป่า การเล่นโยคะ ไปจนถึงการใช้สารเสพติดหรือยาเสพติด เป็นต้น ซึ่งแม้ว่าการมีวิธีรับมือกับความเครียดเหล่านี้จะเป็นเรื่องที่ดี

 

แต่วิธีการในข้างต้นล้วนเป็นวิธีการผ่อนคลายเฉพาะของแต่ละบุคคล อาจไม่เพียงพอหรืออาจก่อให้เกิดอันตรายได้ในบางกรณี จึงควรหาวิธีการบำบัดด้วยการพูดคุย (talk therapy) หรือขอความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นจะเป็นผลดีมากกว่าดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่คนรุ่นใหม่จะต้องมองหาหลายวิธีในการรักษาสุขภาวะทางใจ (mental well-being)

 

โดยส่วนหนึ่งของความรับผิดชอบนี้อยู่ที่คนรุ่นเก่าที่จะไม่กดดันคนรุ่นใหม่หรือหาเหตุผลให้เกิดความเครียด เช่น “ฉันเคยเจอปัญหาหนักกว่าเธอมาก ดังนั้นอย่าบ่นเลย” นอกจากนี้คนรุ่นใหม่จำนวนมากอาจรู้สึกโดดเดี่ยวเนื่องจากไม่มีใครเคยประสบกับสาเหตุของความเครียดเหล่านี้มากก่อน

 

ทั้งนี้การพูดคุยกับคนรอบข้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อนที่ไว้ใจได้เป็นวิธีที่ดีในการทำลายความรู้สึกโดดเดี่ยวได้ และไม่ว่าจะเป็นรุ่นพี่หรือเพื่อนเป็นสิ่งสำคัญเสมอที่จะพูดคุยในเชิงบวกเพื่อเป็นทางเลือกในการบำบัดด้วยการพูดคุยหรือการทำโค้ชชิ่ง (coaching) นอกจากนี้ครอบครัวควรมีค่านิยมที่กล้าจะล้มเหลว และใช้ความล้มเหลวเป็นบทเรียนในการพัฒนาสมาชิกครอบครัว

 

ที่มา: MARIWALA, R. 11 AUGUST 2021. THE MENTAL WELLBEING OF NEXT GENERATION ENTREPRENEURS. Available: https://www.campdenfb.com/article/mental-wellbeing-next-generation-entrepreneurs

ข้อมูลเพิ่มเติม: www.famz.co.th

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,713 วันที่ 12 - 15 กันยายน พ.ศ. 2564