ความจริงของ กฎ 3 รุ่น

09 ส.ค. 2564 | 06:36 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ส.ค. 2564 | 19:17 น.
716

Designing Your Family Business  รศ.ดร.เอกชัย  อภิศักดิ์กุล  คณบดีคณะวิทยพัฒน์  และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

เชื่อว่าทุกคนคงเคยได้ยินความเชื่อ หรืออ่านบทความที่อ้างถึง “กฎ 3 รุ่น” ที่กล่าวว่าธุรกิจครอบครัวส่วนใหญ่มักไม่สามารถอยู่รอดได้เกิน 3 รุ่น ดังภาษิตว่า “shirtsleeves to shirtsleeves” รุ่นปู่สร้าง รุ่นพ่อสานต่อ รุ่นหลานรอเจ๊ง ซึ่งอธิบายว่าเงินที่สร้างโดยผู้ประกอบการรุ่นหนึ่งจะหมดลงเมื่อไปถึงรุ่นลูกหลาน จนทำให้เข้าใจว่าธุรกิจครอบครัวนั้นมีความเปราะบางมากกว่าธุรกิจรูปแบบอื่น

 

แต่ในความจริงแล้วกลับมีข้อมูลบ่งชี้ว่าโดยเฉลี่ยแล้วธุรกิจครอบครัวมีอายุยาวนานกว่าบริษัททั่วไป รวมถึงยังครองรายชื่อบริษัทอายุยาวนานที่สุดในโลกเกือบทั้งหมด และอยู่ในตำแหน่งที่สามารถแข่งขันได้ในระบบเศรษฐกิจของศตวรรษที่ 21 อีกด้วย

 

เมื่อสืบค้นหาที่มาของแนวความคิดกฎ 3 รุ่น จึงพบว่ามาจากการศึกษาบริษัทผู้ผลิตในรัฐอิลลินอยส์ในปีค.ศ. 1980 ซึ่งการศึกษาครั้งนั้นถูกนำมาใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงอย่างแพร่หลายถึงอายุของธุรกิจครอบครัว โดยนักวิจัยได้เก็บตัวอย่างจากบริษัทต่างๆ และพยายามหาว่าบริษัทใดยังคงดำเนินกิจการอยู่ในช่วงเวลาที่ทำการศึกษานั้น

 

จากนั้นจึงทำการแบ่งกลุ่มบริษัทตามอายุกิจการให้ห่างกันกลุ่มละ 30 ปี ซึ่งเป็นการแบ่งแบบหยาบๆให้แต่ละรุ่นมีอายุ 30 ปีนั่นเอง โดยผลการศึกษาพบว่ามีเพียง 1 ใน 3 ของธุรกิจครอบครัวในการศึกษานี้ที่สามารถผ่านรุ่นที่ 2 ไปได้และมีเพียง 13% เท่านั้นที่ผ่านรุ่นที่ 3 ไปได้ ซึ่งข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับการศึกษานี้ได้แก่

           

ประการแรก การค้นพบหลักการดังกล่าวถูกนำไปอธิบายอย่างไม่ถูกต้อง โดยหลายคนอธิบายถึงผลการศึกษานี้ว่ามีเพียง 1 ใน 3 ของธุรกิจครอบครัวเท่านั้นที่สามารถผ่านรุ่นที่ 2 ไปได้ แต่แท้จริงแล้วผลการศึกษาระบุว่า 1 ใน 3 สามารถมีอายุกิจการถึง 60 ปี

 

หรือสามารถผ่านรุ่นที่ 2 ไปได้ ซึ่งเป็นการอนุมานเอาอายุของกิจการมาเป็นจำนวนรุ่นของการสืบทอดกิจการ ซึ่งจริงๆ อาจจะมีบริษัทอายุเกิน 30 ปี แต่ยังคงรุ่นหนึ่งบริหารงานอยู่ได้ก็ได้ ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังการใช้คำอธิบายให้ถูกต้อง

ความจริงของ กฎ 3 รุ่น

ประการที่ 2 นักวิจัยพบว่า 74% ของธุรกิจครอบครัวสร้างมาอย่างน้อย 30 ปี ขณะที่ 46% อยู่ได้นาน 60 ปีขึ้นไป และ 33% อยู่รอดได้ 90 ปีหรือนานกว่านั้น ซึ่งสิ่งที่การศึกษานี้ไม่ได้กล่าวถึงคือการเปรียบเทียบกับบริษัทประเภทอื่น

 

หากลองเปรียบเทียบในมิติอื่นจะพบว่าบริษัทที่ในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ 25,000 แห่งในช่วงปีค.ศ. 1950 ถึงค.ศ. 2009 พบว่าโดยเฉลี่ยแล้ว บริษัทเหล่านี้มีอายุการคงอยู่ของกิจการเฉลี่ยเพียง 15 ปี หรือภายใน 1 รุ่นเท่านั้นก่อนที่จะขายหรือปิดกิจการไป

 

นอกจากนี้ระยะเวลาของบริษัทใน S&P 500 ในปีค.ศ. 1958 บริษัทนั้นจะคงอยู่เป็นเวลา 61 ปี ขณะที่ในปีค.ศ. 2012 ระยะเวลาเฉลี่ยลดลงเหลือเพียง 18 ปี จากการวิเคราะห์ของ Boston Consulting Group ในปีค.ศ. 2015 ระบุว่าบริษัทมหาชนในสหรัฐฯ

 

กำลังเผชิญกับความเสี่ยงในการขายหุ้นภายใน 5 ปีถึง 32% ซึ่งหมายความว่าเกือบ 1 ใน 3 จะหายไปในอีก 5 ปีข้างหน้า ขณะที่ความเสี่ยงที่บริษัทมหาชนต้องเผชิญในลักษณะนี้มีเพียง 5% ในปีค.ศ. 1965

 

อย่างไรก็ตามท้ายที่สุดยังไม่มีการศึกษาข้อมูลเชิงลึกว่าเหตุใดบางธุรกิจครอบครัวถึงหายไป แน่นอนว่าอาจด้วยปัญหาข้อพิพาทในครอบครัวและปัญหาทางธุรกิจเป็นสาเหตุในบางธุรกิจ แต่ในกรณีอื่นๆเจ้าของอาจขายธุรกิจและเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ก็เป็นได้

 

ซึ่งนั่นคงไม่ใช่เรียกว่า “ล้มเหลว” ปัจจุบัน กฎ 3 รุ่น ยังมีให้เห็นอยู่แพร่หลายมากจนคนส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นคำทำนายที่เป็นจริง (Self-Fulfilling Prophecy) แต่แท้จริงแล้วธุรกิจครอบครัวจะอยู่ได้ยาวนานเพียงใดจึงขึ้นอยู่เจตจำนงค์ของผู้เป็นเจ้าของกิจการหาใช่กฎหรือคำทำนายใดๆ

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,703 วันที่ 8 - 11 สิงหาคม พ.ศ. 2564