ธุรกิจครอบครัว ฝ่าโควิด

26 ก.ค. 2564 | 18:07 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ก.ค. 2564 | 05:52 น.

Designing  Your Family Business รศ.ดร.เอกชัย  อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

ตั้งแต่ COVID-19 ระบาดทำให้บริษัทต่าง ๆ ต้องพากันปรับตัวใหม่ภายใต้วิกฤติ และมีงานวิจัยจาก Hitachi Capital Business Finance ที่พบว่าธุรกิจครอบครัวขนาดเล็กจำนวนมากมีความสามารถในการแก้ปัญหาและยืดหยุ่นอย่างไรในช่วงเวลาที่ต้องเผชิญวิกฤติที่ไม่เคยเกิดขึ้นมานี้

 

โดยผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า 57% ของผู้นำธุรกิจครอบครัวให้ความสำคัญกับการรักษาสุขภาพและการมีสุขภาวะที่ดีของพนักงานในช่วงการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ควบคู่ไปกับทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อปกป้องบริษัทไว้

 

ผู้นำธุรกิจครอบครัวเหล่านี้เปิดรับคำแนะนำจากบุคคลรอบข้างมากขึ้น ซึ่งการได้พูดคุยกับผู้อื่นเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกและแนวคิดว่าจะก้าวไปข้างหน้าอย่างไรมีความสำคัญอย่างมากในการตัดสินใจบริหารสถานการณ์วิกฤติ

ธุรกิจครอบครัว ฝ่าโควิด

ทั้งนี้การวิจัยยังพบความแตกต่างของวิธีการหาคำแนะนำของเจ้าของธุรกิจ โดยธุรกิจที่อายุน้อยซึ่งดำเนินการโดยผู้นำรุ่นใหม่จะใช้แหล่งข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่ และมักต้องการคำแนะนำในทันที จึงหันไปใช้ช่องทางออนไลน์และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเพื่อค้นหาข้อมูลที่ต้องการ ซึ่งพบว่าธุรกิจที่อายุน้อย (อายุกิจการน้อยกว่า 10 ปี) มีแนวโน้มที่จะใช้การหาข้อมูลออนไลน์และ Social Media ถึง 62%

 

ขณะที่ผู้นำธุรกิจที่มีอายุมากกว่ามักจะต้องการได้รับข้อมูลแบบเห็นหน้ากันมากกว่า ซึ่งอาจมาจากที่ปรึกษาที่เชื่อถือได้มากกว่าการค้นหาทางออนไลน์ โดยพบว่าธุรกิจที่อายุมาก (อายุกิจการมากกว่า 20 ปี) มีแนวโน้มที่จะใช้ที่ปรึกษามืออาชีพและเครือค่ายธุรกิจถึง 87% ซึ่งความแตกต่างระหว่างรุ่นนี้เกิดจากคนรุ่นก่อนที่คุ้นเคยกับโลกธุรกิจที่ต้องใช้ห้องประชุมเป็นเวทีในการหารือเพื่อแก้ปัญหาเป็นหลัก

 

นอกจากนี้ Joanna Morris หัวหน้าฝ่ายการตลาดและข้อมูลเชิงลึกของ Hitachi Capital Business Finance อธิบายว่าผู้นำธุรกิจครอบครัวจำนวนมากแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวมีความพิเศษเฉพาะตัว ด้วยการปรับตัวได้รวดเร็ว ยืดหยุ่น ประกอบการมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะรักษาธุรกิจไว้เหนือกว่าบริษัทที่ไม่ใช่ธุรกิจครอบครัว

 

กลุ่มธุรกิจครอบครัวใช้มุมมองธุรกิจระยะยาวสร้างโครงการเพื่อปรับทักษะและฝึกอบรมพนักงานให้มีทักษะใหม่ๆ ที่จำเป็นต่อธุรกิจในรูปแบบใหม่ นำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้ อย่างไรก็ตามธุรกิจครอบครัวกำลังทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อเอาชีวิตรอดเหมือนธุรกิจทั่วไป

 

แต่ธุรกิจครอบครัวที่ดีนั้นมีจุดแข็งที่พนักงานและลูกค้ามีความจงรักภักดี อีกทั้งยังสามารถสร้างสินค้า บริการ หรือโมเดลธุรกิจใหม่ได้ง่ายจากความเชี่ยวชาญของครอบครัว

 

เหตุผลเหล่านี้ทำให้ธุรกิจครอบครัวยังคงอยู่ได้ท่ามกลางบริษัทน้อยใหญ่ที่ทยอยล้มหายตายจากไปในวิกฤติครั้งนี้ 

 

ที่มา: Andrews, P. 2020. The Adaptability Of Family Businesses. Available: https://familybusinessunited.com/2020/11/09/the-adaptability-of-family-businesses/

 

ข้อมูลเพิ่มเติม: www.famz.co.th

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,699 วันที่ 25 - 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2564