พลิกวิกฤติสู่ Re-engineering

17 ส.ค. 2564 | 04:57 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ก.ย. 2564 | 19:58 น.
837

Designing Your Family Business รศ.ดร.เอกชัย  อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

จากการศึกษาผลกระทบต่อภาคธุรกิจจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่สำรวจโดย Society for Human Resource Management (SHRM) พบว่า พนักงาน 1 ใน 5 คนรู้สึกเหนื่อยหน่ายในการทำงาน (burnt out) ส่วนเจ้าของธุรกิจที่ปกติต้องทำงานโดยเฉลี่ยกว่า 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทำให้ธุรกิจครอบครัวกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการรับมือกับไวรัสโคโรนาอย่างหนัก

 

ถึงแม้เจ้าของธุรกิจมักจะประสบกับความเครียดในการทำงานเป็นปกติ แต่ความเครียดเรื้อรังสามารถส่งผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพจิตของบุคคลได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากนมีโรคประจำตัวอยู่แล้วด้วย เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า และความบกพร่องของการรู้คิด เป็นต้น

 

ทั้งนี้การระบาดของโรคโควิด-19 ได้เพิ่มความเครียดให้กับเจ้าของธุรกิจจำนวนมากที่กำลังเผชิญกับระดับความเครียดสูงแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน อันเนื่องมาจากความเจ็บป่วยจากไวรัสโคโรนาของคนในครอบครัวและพนักงาน รวมถึงรายได้ของบริษัทที่หดหายไปด้วย ประกอบกับธุรกิจครอบครัวมีเส้นแบ่งระหว่างภาระเรื่องส่วนตัวและภาระทางธุรกิจที่ไม่ชัดเจนเหมือนบริษัททั่วไป

 

ดังนั้นเจ้าของธุรกิจครอบครัวจึงมักมีแนวโน้มในการเกิดความเหนื่อยหน่ายและความเครียดสูงมาก ทั้งนี้ความเครียดคือการตอบสนองของร่างกายต่อแรงกดดันจากประสบการณ์หรือสถานการณ์ในชีวิตที่ต้องเผชิญ โดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทได้แก่

 

แบบแรกเป็นความเครียดเฉียบพลัน (Acute Stress) เป็นความเครียดที่พบได้บ่อยที่สุด ส่งผลให้เกิดการตอบสนองแบบ “ต่อสู้หรือหนี” โดยที่อาการจะหายไปทันทีที่ความเครียดหายไป

 

แบบที่สองความเครียดต่อเนื่อง (Episodic Stress) เกิดจากมีความเครียดที่เกิดขึ้นทันทีเป็นประจำและบุคคลไม่มีเวลาฟื้นตัวจากความเครียด ซึ่งอาจส่งผลให้ความอดทนต่อความเครียดโดยรวมลดลง และความไวต่อสิ่งกระตุ้นเพิ่มขึ้น

พลิกวิกฤติสู่ Re-engineering

แบบสุดท้ายเป็นความเครียดเรื้อรัง (Chronic Stress) เป็นความเครียดระยะยาวจากสถานการณ์ที่เรารู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมผลลัพธ์ได้ ซึ่งอาจส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพจิตและร่างกาย นอกจากความเครียดเหล่านี้จะสร้างปัญหาอย่างมากให้กับเจ้าของธุรกิจแล้ว ยังส่งผลกระทบไปถึงพนักงานและการดำเนินกิจการอีกด้วย การรู้ตัวว่าเรามีความเครียดแบบไหนก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้ว

 

การจะรับมือวิกฤติโควิท-19 สำหรับธุรกิจครอบครัว นั้นมีความจริงอยู่สองประการคือ ผู้นำที่พาธุรกิจครอบครัวฝ่าวิกฤติได้สำเร็จมักจะมาจากคนในครอบครัว ผู้นำเป็นปัจจัยที่สำคัญเพราะ “ถ้าแม่ทัพถอดใจ กองทัพจะแพ้” ในช่วงเวลาวิกฤติองค์กรต้องการผู้นำที่เข้มแข็ง ไม่ยอมแพ้ต่อปัญหา

 

ในขณะเดียวกันครอบครัวคงฝากความหวังไว้กับคนนอกได้ยาก ครอบครัวจึงต้องลุกขึ้นมาร่วมแรงร่วมใจกัน และใช้จุดแข็งของธุรกิจครอบครัวที่ผู้นำจากครอบครัวมักจะเป็นคนมีจิตใจเข้มแข็ง รักองค์กรและพนักงานของตนเอง มีตัวอย่างของธุรกิจครอบครัวชั้นดีมากมายที่มีอายุหลายร้อยปี และแน่นอนว่าครอบครัวเหล่านี้คงต้องเคยฝ่าวิกฤติมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน

 

ความจริงอีกประการคือ ธุรกิจครอบครัวปรับตัวช้าในภาวะปกติ แต่ปรับตัวได้เร็วในภาวะวิกฤติ ครอบครัวชั้นดีมักจะใช้วิกฤติเป็นโอกาสในการรีเอนจิเนียริ่งธุรกิจเพราะมองเห็นว่าการทำธุรกิจแบบเดิมๆ นั้นโอกาสเติบโตต่อไปในอนาคตมีน้อย หรือรูปแบบการทำงานที่ทำอยู่ยังไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งในภาวะปกติที่ต้องทำงานแข่งกับเวลา รวมเงื่นไขด้านครอบครัวทำให้การจะเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างเชื่องช้า

 

แต่โควิด-19 นั้นทำให้ทุกอย่างช้าลง รวมถึงเงื่อนไขและสถานการณ์ต่างๆ ก็พิเศษ จึงเป็นโอกาสที่ดีในการปรับรูปแบบการทำธุรกิจเสียใหม่เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันระยะยาวของธุรกิจครอบครัว ด้วยการกำหนดทิศทางในอนาคตของธุรกิจ วางยุทธศาสตร์

 

รวมถึงจัดระบบการบริหารใหม่ทั้งของธุรกิจและครอบครัว หลายเรื่องที่ไม่เคยทำได้ในช่วงเวลาปกติแต่วิกฤติจะทำให้เรื่องยากๆ เหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เช่น ทำการสืบทอดธุรกิจ ทรานฟอร์มสู่ยุคดิจิตอล หรือเลิกธุรกิจที่ไม่ทำกำไร เป็นต้น

 

ที่มา: Managing Stress in a Family-Owned Business.  November 23, 2020.  In Human Resources.  Available:https://www.ahola.com/managing-stress-in-a-family-owned-business/

 

ข้อมูลเพิ่มเติม: www.famz.co.th

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,705 วันที่ 15 - 18 สิงหาคม พ.ศ. 2564