นโยบายเหล็กจีนเปลี่ยน บีบไทยปรับตัวครั้งใหญ่ ลดพึ่งนำเข้า

04 ก.ย. 2564 | 09:31 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ก.ย. 2564 | 17:32 น.
8.2 k

อุตสาหกรรมเหล็กของไทยกว่าจะมาถึงวันนี้ผ่านวิบากกรรมมาหลายรูปแบบ เผชิญปัจจัยบวก-ลบสลับกันเป็นช่วง ๆ แต่ส่วนใหญ่จะหนักไปทางปัจจัยลบมากกว่า โดยเฉพาะการรับมือกับการแข่งขันทางการค้า การพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบต้นน้ำ และการต่อสู้กับคู่แข่งขันที่เป็นมวยคนละรุ่น

 

นโยบายเหล็กจีนเปลี่ยน บีบไทยปรับตัวครั้งใหญ่ ลดพึ่งนำเข้า

 

นายพงศ์เทพ เทพบางจาก รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ไทย (ส.อ.ท.) ฉายภาพใหญ่ผ่าน “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงสถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กในปัจจุบัน รวมถึงนโยบายอุตสาหกรรมเหล็กของจีนที่ต้องจับตาและการปรับตัวของอุตสาหกรรมเหล็กหลังโลกเผชิญพิษโควิด-19

 

นายพงศ์เทพ สะท้อนภาพรวมของอุตสาหกรรมเหล็กไทยว่า ในช่วง 3 ปีมานี้ ในเชิงโครงสร้างการผลิตเหล็กภายในประเทศ และการนำเข้าจากต่างประเทศ คงพูดได้ว่าไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก โดยจะเห็นว่าไทยยังคงมีโครงสร้างการบริโภคเหล็ก โดยพึ่งพิงการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ของปริมาณความต้องการบริโภคทั้งหมด ที่เหลือผลิตในประเทศร้อยละ 40 (กราฟิกประกอบ)

 

ขณะที่หากมองลึกลงไปในบางผลิตภัณฑ์ เช่น เหล็กทรงแบน (เหล็กแผ่นรีดร้อน, เหล็กแผ่นรีดเย็น, เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ฯลฯ) มีสัดส่วนการนำเข้าเกินกว่าร้อยละ 70 ซึ่งเป็นโครงสร้างแบบนี้ต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการใช้มาตรการปกป้องและตอบโต้ทางการค้าทั้ง safeguard และ anti-dumping แต่ผลลัพธ์ของสัดส่วนการนำเข้าที่ออกมาเป็นเครื่องยืนยันว่าไม่ค่อยมีผลต่อการนำเข้าเท่าใดนัก

 

ในกลุ่มเหล็กทรงยาว (เหล็กเส้น, เหล็กข้ออ้อย ฯลฯ) แม้สัดส่วนการนำเข้ามีเพียงร้อยละ 35 ดีกว่าเหล็กทรงแบนก็จริง แต่ก็เป็นแบบนี้มาหลายปีแล้วเช่นกัน โดยกลุ่มทรงยาวมีการแข่งขันสูงเพราะมีกำลังการผลิตของอุตสาหกรรมภายในประเทศเกินกว่าความต้องการเป็นเท่าตัว นับจากที่มีการย้ายโรงงานผลิตเหล็กที่ใช้เตาอินดักชั่นจากจีนมาตั้งในไทย

 

 

นโยบายเหล็กจีนเปลี่ยน บีบไทยปรับตัวครั้งใหญ่ ลดพึ่งนำเข้า

 

ราคาดีดตัวได้กำไรถ้วนหน้า

ต่อคำถามที่ว่า ทำไมราคาเหล็กขยับสวนกระแสในขณะนี้ว่า  สาเหตุหลักจริง ๆ ที่ผลักดันให้ราคาเหล็กทุกชนิดดีดตัวขึ้น มาจากภายนอกประเทศทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับนโยบายของจีนที่ยกเลิกการส่งเสริมการส่งออก และอนาคตอาจมีการเก็บภาษีส่งออกเหล็กเพิ่มขึ้นด้วย ไม่เพียงเรื่องภาษีเท่านั้น จีนยังมีนโยบายควบคุมและลดปริมาณการผลิต จากปีที่ผ่านมาจีนผลิตเหล็กได้ประมาณ 1,000 ล้านตัน เพื่อแก้ปัญหามลภาวะสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศและยังส่งผลประโยชน์ต่อประเด็นการควบคุมการปล่อยคาร์บอนที่ฝั่งยุโรปเพิ่มแรงกดดันในเรื่องนี้ ดังนั้นการปรับนโยบายของจีนในรอบนี้จึงได้ประโยชน์หลายทาง

 

ขณะที่ปัจจัยภายนอกอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อราคาที่เพิ่มขึ้นคือ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในฝั่งยุโรปและอเมริกาทำให้ความต้องการใช้เหล็กเพิ่มขึ้นจนด้านการผลิตที่หยุดไปก่อนหน้านี้เนื่องจากโควิดปรับตัวไม่ทัน จึงเกิดปัญหาเหล็กขาดตลาด ทำให้ธุรกิจเหล็กของไทยได้รับอานิสงส์ ผลประกอบการกำไรกันถ้วนหน้า

 

“แต่สิ่งที่อยากตั้งข้อสังเกตถึงกำไรจากผลประกอบการธุรกิจเหล็กไทยนั้น เป็นกำไรที่เกิดจากสต๊อกเดิมแทบทั้งสิ้น บางรายติดดอยมาเป็นปีด้วยซ้ำไป”

 

นโยบายเหล็กจีนเปลี่ยน บีบไทยปรับตัวครั้งใหญ่ ลดพึ่งนำเข้า

 

 

ครึ่งหลังเหนื่อยกำลังซื้อแผ่ว

นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่าให้จับตานับจากกรกฎาคม หรือครึ่งปีหลังนี้เป็นต้นไป ทุกคนล้วนแล้วแต่มีต้นทุนที่สูงเพราะเป็นของใหม่ราคาใหม่บนฐานใหม่ทั้งหมด การคาดหวังให้ราคาเหล็กในตลาดโลกโดยเฉพาะจากจีนซึ่งนำเข้ามามากสุดต่ำลงคงเป็นไปได้ยาก คงต้องวัดฝีมือกันในครึ่งปีหลังนี้ เพราะปัจจัยหลักภายในประเทศคือ กำลังซื้อและการเติบโตทางเศรษฐกิจยังไม่มีแนวโน้มที่ดีแต่อย่างใด การเพิ่มของราคาที่ผ่านมาจึงไม่ใช่มีสาเหตุมาจากปริมาณความต้องการบริโภคเหล็กของไทยที่เพิ่มขึ้น

 

อีกทั้งคนเริ่มชินกับมาตรการทางการค้าระหว่างประเทศในอุตสาหกรรมเหล็ก ที่ต้องทำใจที่จะอยู่กับมันมากกว่า และปรับตัวกันไป ต่อสู้กันไปตามช่องทางที่มี แม้ว่ามาตรการบางเรื่องมีการพัฒนาไปบ้างแล้วเช่น การหลบเลี่ยงตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti circumvention) ซึ่งมีกฎกระทรวงออกมาเรียบร้อยแล้ว แต่ในทางปฏิบัติคงไม่ง่ายนัก ขณะที่ผู้นำเข้าก็ยังคงหาช่องทางใหม่ ๆ ได้ตลอด ก็ว่ากันไม่ได้ เพราะเป็นเส้นทางของแต่ละฝ่าย แต่บอกได้เลยว่าโครงสร้างที่ไม่เปลี่ยนยังคงนำเข้าร้อยละ 60-70 ไม่ได้ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมเหล็กและภาพรวมทางเศรษฐกิจอย่างแน่นอน   

 

อย่างไรก็ตามคาดการณ์ว่าปี 2564 การบริโภคเหล็กโดยรวมของไทยน่าจะโตกว่าปีที่แล้วประมาณร้อยละ 5 และคงกลับไปใกล้เคียงกับปี 2562 ที่ประมาณ 17-18 ล้านตัน โดยการล็อกดาวน์งานก่อสร้างมีผลไม่มากนัก เนื่องจากมาล็อกดาวน์ในช่วงเข้า Low season และงานก่อสร้างภาครัฐซึ่งเป็นตัวสำคัญผลักดันความต้องการหลายหน่วยงานซื้อเหล็กไปแล้ว ภายใต้นโยบายการใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 ของกรมบัญชีกลาง จึงน่าจะส่งผลให้ปี 2564 ความต้องการไม่ลดลง

 

นโยบายเหล็กจีนเปลี่ยน บีบไทยปรับตัวครั้งใหญ่ ลดพึ่งนำเข้า

 

ส่องสถานะผู้ผลิตเหล็กในประเทศ

นายพงศ์เทพ กล่าวถึงสถานะผู้ผลิตในประเทศว่า การใช้กำลังผลิตโดยรวมเทียบกับปีก่อนน่าจะทรงตัวคือประมาณร้อยละ 40 ยกเว้นบางผลิตภัณฑ์ เช่น เหล็กแผ่นรีดเย็น ที่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ทำให้น่าจะเพิ่มกำลังการผลิตได้เต็มความสามารถ ขณะที่ผลิตภัณฑ์เหล็กเคลือบสังกะสีน่าจะอาการหนักสุดแม้ว่าจะมีการใช้มาตรการคุ้มครองระหว่างไต่สวนการทุ่มตลาดจากจีน แต่การใช้กำลังผลิตก็ยังไม่เกินร้อยละ 30 ทั้งนี้เพราะมีการหลบเลี่ยงการนำเข้าโดยการนำสังกะสีผสมอะลูมิเนียมและแมกนีเซียมเข้ามาจากจีนแทนเดือนละประมาณ 100,000 ตัน ผู้ใช้และผู้แปรรูปเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีหลายรายจึงมีการปรับแผนการตลาดโดยเปลี่ยนมาใช้ตัวที่ผสมอลูมิเนียมและแมกนีเซียมแทน

 

ปรับตัวครั้งใหญ่หลังโควิด

ต่อคำถามที่ว่าการปรับตัวของอุตสาหกรรมเหล็กหลังพ้นวิกฤติโควิดจะเป็นอย่างไร  นายพงศ์เทพ มีมุมมองว่า ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า อุตสาหกรรมเหล็กมีความสำคัญต่อประเทศ แต่อุตสาหกรรมเหล็กของไทยที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนานเกินกว่าครึ่งศตวรรษ มีการลงทุนจากผู้ประกอบการไทย และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ แต่ในช่วง 20 กว่าปีมานี้อุตสาหกรรมเหล็กของไทยแทบไม่พัฒนาเมื่อเทียบกับหลายประเทศ เรายังไม่มีโรงเตาถลุง Blast furnace ที่เป็นต้นน้ำ เพื่อต่อยอดไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ชั้นสูง ทั้ง ๆ ที่เรามีผู้ประกอบการรายย่อยหรือ SME ที่มีความสามารถอยู่มาก จึงไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้

 

 “รอบอาเซียนเราล้วนแล้วแต่มีโรง Blast furnace แทบทั้งสิ้น เราจึงอยู่ในวังวนการนำเข้าเหล็กต้นน้ำ กลางน้ำ ในสัดส่วน 60-70% พ่วงด้วยปัญหาการใช้มาตรการตอบโต้ การหลบเลี่ยง ทั้งการใช้มาตรการทางภาษีและไม่ใช่ภาษี เช่น การกำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) วนไปวนมา ขาดการช่วยเหลือเกื้อกูลระหว่างกันอย่างใกล้ชิดและจริงใจ”

 

การปรับตัวหลังโควิด โดยเฉพาะนโยบายของจีนครั้งนี้น่าจะส่งผลต่อการปรับโฉมรูปแบบการทำธุรกิจเหล็กครั้งใหญ่ การจะปล่อยให้โครงสร้างอุตสาหกรรมพึ่งการนำเข้าร้อยละ 60-70 จะไม่ส่งผลดีอีกต่อไป เพราะผู้นำเข้าจะมีความเสี่ยงมากเกินไปทั้งจากราคาและค่าเงินบาทที่อ่อนตัว การเพิ่มสัดส่วนมาพึ่งผู้ผลิตในประเทศมากขึ้นน่าจะช่วยบาลานซ์ความเสี่ยงได้

 

เครื่องยนต์ศก.แผ่วเหลือแค่ส่งออก

นายพงศ์เทพยังกล่าวทิ้งท้ายถึงตัวช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจว่า  ถ้าเรามาพิจารณาสมการในการวัดความเติบโตทางเศรษฐกิจ 4 ตัว ที่มีผลต่อการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ พบว่า ตัวที่หนึ่งคือ การบริโภค ค่อนข้างชัดเจนว่านิ่งและติดลบเพราะกำลังซื้อเหือดแห้งเต็มที ตัวที่สองคือ การลงทุน โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ EEC ที่คาดหวังไว้มากวันนี้ข่าวค่อนข้างเงียบ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) คงสู้เวียดนามไม่ได้ แม้แต่บริษัทใหญ่ของผู้ประกอบการไทยเองยังแห่ไปลงทุนในเวียดนาม แถมยังมีผู้ลงทุนจากต่างประเทศเดิมถอนการลงทุนออกไปอีก

 

ตัวที่สาม การกระตุ้นของภาครัฐ นับจากนี้ไปคงไม่ราบรื่นเนื่องจากโครงสร้างเพดานหนี้สาธารณะ ฉะนั้นคงเหลือแค่ตัวสุดท้ายคือ ยอดสุทธิของการส่งออกหักด้วยการนำเข้า ซึ่งน่าจะเป็นความหวังอันยิ่งยวดในการประคองตัวเลขเศรษฐกิจ ครึ่งปีที่ผ่านมาก็เป็นบวกอยู่พอสมควร ค่าเงินบาทที่อ่อน ยิ่งเป็นแรงสนับสนุนให้เติบโตยิ่งขึ้น ฉะนั้นเราอาจเห็นค่าเงินบาทอ่อนแบบนี้ไปสักระยะหนึ่งเลยทีเดียว ซึ่งคงไม่เกิดผลดีต่อผู้นำเข้าเหล็ก ถึงได้เตือนว่าเราเดินมาถึงจุดเปลี่ยนที่ต้องปรับโครงสร้างการบริโภคเหล็กที่จะทำให้สัดส่วนการนำเข้าไม่มากเหมือนเดิมอีกต่อไป

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3711 วันที่ 5-8 กันยายน 2564