การปรับตัวของผู้ประกอบการไทยในเมียนมา

31 พ.ค. 2564 | 10:15 น.
อัปเดตล่าสุด :31 พ.ค. 2564 | 13:25 น.

การปรับตัวของผู้ประกอบการไทยในเมียนมา : คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

การเริ่มเข้าสู่บริบทของการทำการค้าอีกครั้ง หลังจากหยุดพักมานานถึงปีกว่าๆ เพราะสถานการณ์ COVID-19 เข้ามาสู่ประเทศเมียนมา ในช่วงแรกๆ แม้จะไม่ค่อยรุนแรงเท่าไหร่ แต่การระมัดระวังตัวของภาครัฐบาล ทำให้มีข้อกำหนดต่างๆ ถูกประกาศออกมาใช้บังคับ ทำให้การค้าขายแทบจะหยุดนิ่งไปเลย ตัวผมเองก็ตั้งแต่กลับเข้ามากรุงเทพฯเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ปี 2020 จนถึงขณะนี้ก็ไม่ได้กลับเข้าไปกรุงย่างกุ้งอีกเลย ตอนแรกก็ดูดีอยู่หรอก คิดว่าอย่างช้าก็ปลายปี 2020 น่าจะมีโอกาสกลับไปเมืองย่างกุ้งได้

แต่พอเจ้าวายร้ายโควิดออกมาอาละวาดระลอกสอง เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2020  และรุนแรงกว่าระลอกแรกเยอะมาก ความคิดที่จะได้กลับไปก็เลื่อนออกไปอีก และยิ่งมีการปฎิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ยิ่งทำให้การเดินทางถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนดเลยครับ ยิ่งเห็นการประท้วงอาริยะขัดขืน ในช่วงแรกของปราบปรามรุนแรงมากขึ้นทุกวัน ความหวังของผมก็ยิ่งเลือนลางเข้าไปทุกที มีเพื่อนๆประกอบธุรกิจในเมียนมา ถามไถ่เรื่องราวต่างๆเข้ามาเยอะมาก ผมก็ยิ่งใจเสีย แต่ไม่กล้าจะบอกให้ใครรู้ กลัวว่าน้องๆที่กำลังรอเข้าไปอยู่เหมือนกันจะใจเสียไปด้วย มาวันนี้เห็นมีการพัฒนาการด้านการเจรจาของการประชุมผู้นำอาเชี่ยนที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเชียเกิดขึ้น ความหวังเริ่มมาอีกแล้วครับ 

พอย่างเข้าสู่เดือนพฤษภาคม การประท้วงบนท้องถนนลดลงไปอย่างมาก ประชาชนเริ่มมองเห็นและกังวลเรื่องปากท้องกันแล้ว จึงได้เริ่มมีการออกมาทำมาหากินกันบ้างแล้ว เพียงแต่ยังหลงเหลือการป่วนเมืองด้วยระเบิดที่มีให้เห็นเกือบจะทุกวันที่ยังเป็นอุปสรรคอยู่ แต่น้องๆที่บริษัทผมก็ยังสามารถที่จะออกไปขายสินค้าได้บ้างแล้ว โรงงานต่างๆก็เริ่มมีการดำเนินการผลิตบ้างแล้ว ทุกอย่างเข้าสู่โหมดของปกติวิสัยของการดำรงค์ชีวิตแล้วละครับ ส่วนอุปสรรคต่างๆ ที่มีอยู่ก็คงจะต้องไปแก้กันหน้างาน ซึ่งผมก็คิดว่ายังคงขรุขระบ้างเป็นธรรมดาครับ         

การปรับตัวของผู้ประกอบการในวันนี้ คงจะต้องบอกว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีการทำความเข้าใจกับสภาพการเมืองการปกครองในปัจจุบันให้มากๆ ผมเชื่อว่ายุคใหม่ที่เรากำลังก้าวไปเผชิญหน้านั้น จะแตกต่างกับยุคประชาธิปไตยปกครองที่ผ่านมาสองสมัยแน่นอนครับ แต่ที่น่าจะเป็นนั้นคงจะดีกว่าในยุคมืดมาก เพราะในยุคมืดปี 1990 ที่ผมเคยมีประสบการณ์นั้น การสื่อสารไม่สามารถทำได้เลย ความเจริญก็มองไม่เห็น สังคมอยู่ในมุมที่มองจากทางมุมไหนก็หาความศรีวิไลไม่เจอเลย ผู้คนก็มองแล้วไม่มีความสุขเลย การใช้ชีวิตต้องอยู่ในความหวั่นเกรงว่าจะถูกจับผิด การใช้ชีวิตที่ฟุ้งเฟ้อไม่ได้เลย

ผมยังจำภาพที่ญาติเพื่อนหุ้นส่วนผมเชิญไปทานข้าว แทนที่จะไปทานกันที่ร้านอาหาร เขาก็ไม่กล้าพาไปทาน เพราะจะเป็นที่จับตามองว่าเป็นคนมีอันจะกิน กลับต้องซื้ออาหารสดมาปรุงที่บ้าน เวลาทานอาหารกันในบ้านก็ต้องปิดประตู เหตุผลหลักคือเราจะไม่รู้เลยว่าข้างบ้านใครบ้างที่เป็นตำรวจบ้านหรือสายลับให้กับทางการเลย ดังนั้นทุกฝีก้าวต้องมีความหวาดระแวงกันไปหมด 

ยุคใหม่ที่กำลังจะมาถึงนี้ น่าจะดีกว่าในยุคนั้นเยอะ เพียงแต่ปัจจุบันนี้ประเทศเมียนมากำลังถูกหวยสองเด้ง คือเด้งหนึ่งเจอเจ้าวายร้าย COVID-19 เข้าไปเต็มๆ ส่วนเด้งที่สองเจอการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ดังนั้นการที่จะพัฒนาประเทศให้กลับมาอีกครั้ง น่าจะต้องเหนื่อยยากเอาการเลยละครับ พวกเราที่เป็นผู้ประกอบการที่อยู่ในประเทศเมียนมา สิ่งที่ต้องระมัดระวังมีอยู่หลายประการด้วยกัน ประการแรกคือต้องทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมาย อย่าสุ่มเสี่ยงเปิดช่องว่างให้ถูกจับไปดำเนินคดีโดยเด็ดขาด เพราะอย่าลืมว่าประเทศเมียนมานั้น ทางการเขามีหูมีตาราวกับตาสัปรด เราจะไม่มีทางรู้ว่านอกจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้านแล้ว ยังมีใครอีกบ้างที่เป็นตำรวจบ้านหรือตำรวจลับ

บางครั้งคนที่ทำงานอยู่กับเราหรือคนที่เราไว้ใจที่สุด อาจจะเป็นสายลับก็เป็นได้ ดังนั้นทางที่ดีที่สุด คืออย่าทำผิดกฎหมายโดยเด็ดขาด ประการที่สองคือการคิดว่าการมีสายสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหาร นั่นหมายถึง “Connection” แต่ความคิดเห็นส่วนตัวผม คิดว่านั่นเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องทำเลย เพราะบางคนที่ผมเคยเจอ จะมีทั้งสองด้าน มีทั้งที่ได้ดิบได้ดีร่ำรวยกับ Connection ก็มีไม่น้อย แต่ที่ต้องม้วนเสื่อกลับบ้านก็มีมากเช่นกันครับ ผมอยู่มาได้สามสิบกว่าปีนั้น ก็มาจากทำตัวติดดินให้มากที่สุด ไม่เคยอวดมั่งอวดมีกับใครเลย จึงอยู่รอดมาได้ครับ สิ่งที่เป็นคติเตือนใจที่ดีที่สุดคือ “หมูกลัวอ้วน คนกลัวมีชื่อเสียง” ครับ ไม่รอดสักราย

ประการต่อมาคือการที่จะลงทุนอะไรให้ระมัดระวังให้ดี ทางที่ดีที่สุดคือทำกับคนที่เราไว้วางใจที่สุด ผมเองก็มักจะคบกับเพื่อนชาวเมียนมาไว้หลากหลายพอควร บางคนก็ดีมากๆ ไม่เอาเปรียบเรามากจนน่าเกียจ บางคนก็ฉลาดเป็นกรด แต่ผมถือคติว่า “Give before Take” หรือการรู้จักให้มากกว่าการที่จะเอาของชาวบ้านเขาอย่างเดียว แน่นอนครับว่าในสามสิบปีมานี้ ก็ผ่านการให้มามากเลยครับ แต่สิ่งที่ได้กลับมานั้น บางครั้งเราจะไม่สามารถประเมินตัวเลขได้เลยครับ ยังมีสิ่งที่จะต้องเตรียมตัวเตรียมใจในการปรับตัวให้รับกับสถานการณ์ใหม่นี้อีกมากมาย เล่าไม่หมดเลยครับ ก็ได้แต่ขอให้ทุกท่านจงโชคดีในการดำเนินธุรกิจที่ประเทศเมียนมาครับ