environment

กทม. เดินหน้า "ห้องเรียนปลอดฝุ่น" หนุนพลังงานสะอาด พลิกโฉม 437 โรงเรียนปี 68

    กทม.บูรณาการหลายหน่วยงาน ปกป้องเด็กจาก PM2.5 เดินหน้าโครงการ "ห้องเรียนปลอดฝุ่น" ตั้งเป้าปรับปรุงครบ 437 โรงเรียนในปี 2568 พร้อมเสริมโครงการพลังงานสะอาดติดตั้งโซลาร์เซลล์ในโรงเรียน

นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนา “ห้องเรียนปลอดฝุ่น” เพื่อปกป้องเด็กนักเรียนจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 โดยร่วมมือกับโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่นของ สสส., กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, และห้างหุ้นส่วนจำกัด เติมเต็มวิสาหกิจเพื่อสังคม

ปัจจุบัน กทม. ได้ส่งมอบเครื่องวัดคุณภาพอากาศให้โรงเรียนในสังกัดแล้ว 382 ชุด จากเป้าหมายทั้งหมด 405 ชุด และตั้งเป้าพัฒนาห้องเรียนปลอดฝุ่น (Clean Air Shelter) สำหรับเด็กอนุบาล (อายุ 4-6 ปี) ในโรงเรียน 429 แห่ง รวมทั้งสิ้น 1,996 ห้องเรียน โดยดำเนินการปรับปรุงห้องเรียนใน 6 กลุ่มเขต แบ่งเป็น 995 ห้องในปีงบประมาณ 2568

รูปแบบการพัฒนาห้องเรียน

แนวทางการดำเนินการปรับปรุงห้องระบบเปิดให้เป็นระบบปิด แบ่งตามขนาดห้องเรียน 2 แบบ ได้แก่ ขนาดห้องเรียนที่มีพื้นที่มากกว่า 35 ตร.ม. และขนาดห้องเรียนที่มีพื้นที่น้อยกว่าหรือเท่ากับ 35 ตร.ม. โดยได้ทำการติดตั้งเครื่องปรับอากาศแบบแขวน ระบบ INVERTER พร้อมพัดลมระบายอากาศ เดินระบบ MAIN BREAKER ภายในห้อง ติดตั้งเครื่องวัดค่าคาร์บอนไดออกไซต์ CO2 ภาพอากาศ

นอกจากนี้ โรงเรียนวัดราชผาติการาม เขตดุสิต ได้เริ่มใช้ระบบเติมอากาศสะอาดความดันบวก โดยได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เพื่อเป็นต้นแบบห้องเรียนปลอดฝุ่น

พร้อมกันนี้ นายเอกวรัญญู ยังเผยว่า กทม. ได้ทำบันทึกความร่วมมือกับการไฟฟ้านครหลวง (MEA) ร่วมพัฒนาโครงการเมืองอัจฉริยะ และโครงการด้านพัลงงานทดแทน ในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบ และพิจารณาร่างสัญญาโดยสำนักการโยธา และสำนักการระบายน้ำ เพื่อเริ่มดำเนินการติดตั้งให้กับโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครขนาดกลางและใหญ่

โดยจะคัดเลือกจากโรงเรียนที่มีค่าไฟฟ้าเกิน 50,000 บาท/เดือนขึ้นไป ตั้งเป้ารวม 50 โรงเรียนในปี 2568 เพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (LOW CARB ON SOCIETY) เน้นความยั่งยืน ควบคู่กับการสร้างจิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมให้แก่บุคลากรของกรุงเทพมหานคร

เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีด้านพลังงานไฟฟ้า (DISRUPTIVE TECHNOLOGY) และเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และการเตรียมพร้อมรับมือปัญหามลพิษ เพื่อสุขภาพและอนาคตของเยาวชนในกรุงเทพมหานคร