climatecenter

มหัศจรรย์ ระบบกักเก็บน้ำในถ้ำห้วยลึก พลิกโฉมพื้นที่สูง มีน้ำใช้ตลอดปี

    เปิดเรื่องราว "โครงการพระราชดำริ" ที่เปลี่ยนพื้นที่แห้งแล้งในภาคเหนือให้สมบูรณ์ น้ำใต้ดินเพิ่ม ดินชุ่มชื้น ผลผลิตเกษตรกรงอกงาม สร้างรายได้และชีวิตที่ยั่งยืน

"นับเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ที่ทำให้พื้นที่สูงในพื้นที่ภาคเหนือมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี ทั้งน้ำบนดินและน้ำใต้ดิน มีหนึ่งเดียวในประเทศไทย ทำให้ทุกคนมีน้ำใช้ตลอดทั้งปีอย่างเพียงพอทั้งอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร สร้างความชุ่มชื้นและความสมบูรณ์ให้พื้นที่เพาะปลูกได้เป็นอย่างดี” 

มหัศจรรย์ ระบบกักเก็บน้ำในถ้ำห้วยลึก พลิกโฉมพื้นที่สูง มีน้ำใช้ตลอดปี

นางสาวนภัสสร เมืองเมา หนึ่งในเกษตรกรผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการระบบกักเก็บน้ำในถ้ำตามพระราชดำริ (ถ้ำห้วยลึก) บ้านห้วยลึก เปิดเผยในระหว่างให้การต้อนรับนายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมด้วย นางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) และคณะอนุกรรมการฯ ในโอกาสติดตามการดำเนินงานของโครงการระบบกักเก็บน้ำในถ้ำตามพระราชดำริ (ถ้ำห้วยลึก) ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่  เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา

“ปัจจุบันประกอบอาชีพทางการเกษตรเป็นรุ่นที่ 2 ต่อจากพ่อแม่ บนที่ดิน 5 ไร่  โดยปลูกดอกเบญจมาศ และพืชผักเมืองหนาว เช่น สลัดแก้ว กรีนคอส กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค ผักกาดขาว โดยผลผลิตส่งจำหน่ายในตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่และตลาดในกรุงเทพมหานคร  โครงการนี้ทําให้ชาวบ้านมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี ทำให้ความชื้นในดินมีมากโดยเฉพะทางด้านล่าง ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่จะปลูก ลำไย มะม่วง และพืชผักเมืองหนาวต่างๆ ทำให้ผลผลิตดีสมบูรณ์ รู้สึกภาคภูมิใจและดีใจอย่างมาก นับเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ที่ทำให้พื้นที่สูงแบบนี้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี ทั้งน้ำบนดินและน้ำใต้ดิน มีหนึ่งเดียวในประเทศไทย ทำให้ทุกคนที่นี่มีน้ำใช้ตลอดทั้งปีอย่างเพียงพอ” นางสาวนภัสสร เมืองเมา กล่าว

มหัศจรรย์ ระบบกักเก็บน้ำในถ้ำห้วยลึก พลิกโฉมพื้นที่สูง มีน้ำใช้ตลอดปี

ด้านนายปา เลาจาง เกษตรกรสมาชิกโครงการหลวงห้วยลึก บ้านห้วยลึก หมู่ที่ 7 ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เผยว่า “เมื่อก่อนที่ยังไม่มีโครงการฯ ในพื้นที่ค่อนข้างแห้งแล้งแม้ในช่วงฤดูฝน ฝนที่ตกลงมาจะไหลลงสู่เบื้องล่างหายไปอย่างรวดเร็ว จากนั้นก็เกิดความแห้งแล้ง หลังจากมีโครงการฯ ปัญหานี้ก็หมดไป ก่อเกิดดินดี น้ำดี เพาะปลูกพืชผักได้รับผลผลิตสมบูรณ์ ทั้งชุมชนที่อยู่ใกล้โครงการฯ และทางด้านล่างของโครงการระบบกักเก็บน้ำในถ้ำตามพระราชดำริ (ถ้ำห้วยลึก)  
ซึ่งจะมีน้ำซึมจากใต้ดินลงไปได้ใช้ประโยชน์อย่างทั่วถึง”

“ผลผลิตที่ได้ ส่งจำหน่ายให้แก่โครงการหลวงห้วยลึกทั้งหมด โดยเฉพาะพืชผักเมืองหนาวเป็นที่นิยมมาก รู้สึกดีใจที่มีโครงการเก็บกักน้ำแบบนี้  นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานโครงการฯ นี้มาให้แก่ราษฎรในพื้นที่ ทุกวันนี้มีน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูกพืช ผลผลิตดีมีคุณภาพ ขายได้ราคา ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ไม่ขัดสนเหมือนเมื่อก่อน ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นตามลำดับ” นายปา เลาจาง  กล่าว

นางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการ กปร. เผยว่า โครงการระบบกักเก็บน้ำในถ้ำตามพระราชดำริ (ถ้ำห้วยลึก) เกิดขึ้นจากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรบริเวณต้นน้ำแม่แตงในพื้นที่โครงการหลวงแกน้อย และโครงการหลวงพัฒนาที่ดินห้วยลึก อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2524 ได้พระราชทานพระราชดำริให้พิจารณาบริเวณที่เหมาะสมเพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก และพระราชทานลายพระหัตถ์กำหนดพิกัดบริเวณก่อสร้างอ่างเก็บน้ำดังกล่าวเป็น “เครื่องหมายกากบาท 3 จุดลงในแผนที่” 

มหัศจรรย์ ระบบกักเก็บน้ำในถ้ำห้วยลึก พลิกโฉมพื้นที่สูง มีน้ำใช้ตลอดปี

ซึ่งต่อมาพบว่าคือภูเขาหินปูนที่ภายในมีโพรงถ้ำขนาดใหญ่ สามารถกักเก็บน้ำได้ตามพระราชประสงค์ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันออกแบบก่อสร้าง และเริ่มก่อสร้างในปี 2548 แล้วเสร็จเดือนมีนาคม 2549 
“เป็นวิธีการกักเก็บน้ำอีกรูปแบบหนึ่ง ด้วยการลดการระเหยของน้ำขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศทำให้ระดับน้ำใต้ดินเพิ่มขึ้น เกิดความชุ่มชื้นแก่ผืนดินโดยเฉพาะช่วงฤดูแล้ง ขณะในฤดูน้ำหลากก็เป็นที่กักเก็บน้ำ ปัจจุบันสามารถส่งน้ำสนับสนุนให้แก่ราษฎรโดยมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ประมาณ 200 ไร่ นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มปริมาณระดับน้ำใต้ดินให้สูงขึ้น เกิดประโยชน์ต่อพื้นที่การเกษตร และการอุปโภค-บริโภค ของราษฎรด้านท้ายโครงการได้เป็นอย่างดี” เลขาธิการ กปร. กล่าว 

มหัศจรรย์ ระบบกักเก็บน้ำในถ้ำห้วยลึก พลิกโฉมพื้นที่สูง มีน้ำใช้ตลอดปี

โครงการระบบกักเก็บน้ำในถ้ำตามพระราชดำริ (ถ้ำห้วยลึก) มีอาคารดักตะกอนในลำห้วยลึกด้านเหนือถ้ำฯ เพื่อป้องกันตะกอนดินและเศษกิ่งไม้ไม่ให้เข้าไปภายถ้ำฯ ปรับปรุงการรั่วซึมบริเวณภายในและภายนอกถ้ำโดยการปิดรูโพรงต่างๆ ด้วยระบบเข็มดินซีเมนต์ ที่มีความสามารถในการรับน้ำหนักของชั้นใต้ดินและลดการรั่วซึมของน้ำผิวดินได้ดี ทำให้สามารถเก็บกักน้ำไว้ในถ้ำได้มากขึ้น โดยไม่กระทบต่อระบบนิเวศรอบพื้นที่โครงการฯ และจากปริมาณน้ำเก็บกักยังช่วยให้ระดับน้ำใต้ดินมีปริมาณและอาณาเขตที่เพิ่มขึ้น อันนำมาซึ่งประโยชน์ด้านความชื้นของผิวดินที่เอื้อต่อการใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรของราษฎรได้ตลอดทั้งปี