การเชื่อมโยงระหว่างไทยกับจีนผ่านมณฑลยูนนาน-กว่างซีจ้วง

12 ม.ค. 2568 | 06:00 น.

การเชื่อมโยงระหว่างไทยกับจีนผ่านมณฑลยูนนาน-กว่างซีจ้วง : คอลัมน์ลวดลายมังกร โดย... พลโท ดร.ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4061

พลโท ดร.ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศ ได้ประมวลและนำเสนอข้อพิจารณาในการเชื่อมโยงระหว่างไทยกับจีน โดยใช้สองเส้นทางผ่านมณฑลยูนนานและเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (กวางสี) กล่าวคือ

เส้นทางผ่านมณฑลยูนนาน โดยใช้ข้อคิดจากการที่จีนได้ประกาศให้อำเภอเหมิ่งล่า (บ่อหาน) ในพื้นที่สิบสองปันนา มณฑลยูนนาน เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระดับประเทศ 1 ใน 6 แห่งของจีน เพื่อนำร่องการพัฒนาพื้นที่ชายแดนของจีน กับ ประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกัน ตามยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงจีนกับภูมิภาคต่าง ๆ ภายใต้นโยบาย "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" หรือ ข้อริเริ่ม “สายแถบ และเส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI)

กล่าวคือ รัฐบาลระดับท้องถิ่นของมณฑลยูนนาน ได้ยึดถือนโยบายรัฐบาลกลางในเรื่อง "เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน” เพื่อเชื่อมตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ ด้วยการแปลงนโยบายส่วนกลางไปสู่การดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น

โดยได้แถลง “แผนสร้างเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษอำเภอเหมิ่งล่า (บ่อหาน) 2015-2025 (พ.ศ.2558-2568)” เพื่อเตรียมความพร้อมให้อำเภอเหมิ่งล่า กลายเป็นพื้นที่รองรับการเชื่อมโยงทั้งทางด้านการค้า การท่องเที่ยว คมนาคม ขนส่งและโลจิสติกส์ ที่เชื่อมสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เป้าหมาย ในการดำเนินการเพื่อเป็นศูนย์กลางคมนาคม เชื่อมโยงจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใน 5-10 ปีข้างหน้า ทั้งทางน้ำ ทางถนน อากาศ และรถไฟ

1.ทางน้ำ เส้นทางขนส่งทางแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงของสี่ประเทศ (จีน-ลาว-เมียนมา-ไทย) เปิดใช้ตั้งแต่ปี 2001 (พ.ศ.2544) และเป็นเส้นทางน้ำแห่งเดียวของจีนที่มู่งสู่ประเทศในอินโดจีน สิ้นสุดที่อำเภอเชียงแสนของไทย ระยะทาง 358 กม. รองรับเรือขนาด 300 ตัน และมีแผนจะขยายร่องน้ำช่วงจิ่งหง-หลวงพระบาง เพื่อรองรับเรือขนาด 500 ตัน โดยปี 2014 (พ.ศ.2557) เส้นทางน้ำในเขตสิบสองปันนามีปริมาณการขนส่งสินค้า 217,000 ตัน

2.ทางถนน เส้นทางคุนหมิง-กรุงเทพ (R3A) เปิดใช้ตลอดสายตั้งแต่ปี 2013 (พ.ศ.2556) โดยช่วงเสี่ยวเหมิ่งหยาง-บ่อหาน ระยะทาง 175 กม. อยู่ระหว่างขยายให้เป็นทางด่วน 4 ช่องทาง 

3.ทางอากาศ สนามบินสิบสองปันนา มีพื้นที่ 110,000 ตร.ม. มีรันเวย์กว้างยาวขนาด 45x2,400 เมตร สามารถรองรับโบอิ้ง 767 และแอร์บัส 330 ปัจจุบัน มีเที่ยวบินภายในประเทศ 21 เส้นทาง และต่างประเทศ 1 เส้นทาง (ไปหลวงพระบาง บินตรงโดย Lao Airlines) ปี 2015 (พ.ศ.2558) มีผู้โดยสารเข้าออก 4.15 ล้านคน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 23.5 เครื่องบินขึ้นลง 35,000 ลำ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6 และพัสดุ 8,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.6

4.รถไฟ มีแผนเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟจากคุนหมิง-บ่อหาน-ลาว-ไทย-สิงคโปร์ ช่วงมณฑลยูนนานจากคุนหมิง-ยวี่ซี มีรถไฟเส้นเก่าซึ่งเป็นระบบรางเดี่ยว ความเร็ว 120 กม./ชม. วิ่งอยู่ก่อนแล้ว และเส้นคู่ขนานซึ่งอยู่ระหว่างขยายให้เป็นระบบรางคู่ ความเร็ว200 กม./ชม. 

ส่วนเส้นทางจากยวี่ซี-บ่อหาน ได้มีพิธีเปิดการก่อสร้างไปเมื่อ ส.ค. 59 ส่วนในลาวก็ได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการรถไฟจีน-ลาวแล้วเช่นกันเมื่อ ธ.ค.58 โดยคาดว่าทั้งสองเส้นน่าจะสร้างเสร็จในเวลาใกล้เคียงกันคือประมาณปี 2021 (พ.ศ.2564)

สำหรับความสำคัญในการเชื่อมโยงสู่ประเทศไทย โดยเฉพาะอำเภอเหมิ่งล่า ซึ่งตั้งอยู่ทางใต้สุดของมณฑลยูนนาน หากเดินทางด้วยรถยนต์โดยใช้เส้นทางคุนหมิง-กรุงเทพ (R3A) จะต้องเดินทางออกจากจีนที่ด่านบ่อหานของอำเภอเหมิ่งล่า ผ่านด่านบ่อเต็นของลาว และออกจากด่านห้วยทรายของลาว เข้าด่านเชียงของ จังหวัดเชียงราย ระยะทาง 250 กม. ใช้เวลาเดินทางเพียง 4-5 ชม. 

หรือ หากขนส่งสินค้าทางน้ำออกจากอำเภอเหมิ่งล่า ที่ด่านกวนเหล่ย ล่องไปตามแม่น้ำโขง ถึงด่านเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ระยะทางประมาณ 360 กม. ใช้เวลาเดินทาง 1-3 วัน ถือเป็นเส้นทางจากด่านชายแดนจีนถึงด่านชายแดนไทยที่สั้นที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งทางบกหรือทางน้ำ 

ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงของอำเภอเหมิ่งล่า ภายใต้การดำเนินการสร้างเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จึงเป็นเรื่องที่เราควรติดตามความเคลื่อนไหว เพื่อนำมาขยายให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทย

                      การเชื่อมโยงระหว่างไทยกับจีนผ่านมณฑลยูนนาน-กว่างซีจ้วง

ส่วนข้อพิจารณาสำหรับการเชื่อมโยงระหว่างไทยกับจีนผ่านเส้นทางเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (กวางสี) นั้น ควรใช้ข้อพิจารณาจากการที่จีนส่งเสริมความร่วมมือระหว่างจีน-อาเซียน โดยใช้เขตสาธิตการค้าเสรีกว่างซี ในพื้นที่ของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (กวางสี)  ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

1.รัฐบาลท้องถิ่นของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (กวางสี) ได้ประกาศ “โนบายสนับสนุนให้เขตสาธิตการค้าเสรีกว่างซีของจีน พัฒนาอย่างมีคุณภาพ” โดยกำหนด 30 มาตรการ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างจีนกับอาเซียน 

ทั้งนี้ ในการดำเนินการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมในเขตปกครองตนเองกว่างซีนั้น จะมีการออกเงินชดเชย คิดเป็นสัดส่วน  50-70% ของเงินทุนในการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น แก่บริษัทในห่วงโซ่อุตสาหกรรมระหว่างพรมแดนจีน-อาเซียน ภายใต้สถาบันการเงินข้ามชาติ บริษัทอีคอมเมิร์ซข้ามชาติ และโลจิสติกส์ข้ามชาติ เป็นต้น ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ 500 อันดับแรกของโลก ที่เปิดสาขาในเขตปกครองจนเองกว่างซีจ้วง (กวางสี) เพื่อดึงดูดบุคลากรระดับสูง 

นอกจากนี้ เขตสาธิตการค้าเสรีกว่างซี ยังส่งเสริมให้คนต่างชาติและนักศึกษาต่างชาติเข้ามาทำงาน สำหรับชาวต่างชาติที่มีความสามารถพิเศษและนักศึกษาต่างชาติที่มีคุณวุฒิผ่านเกณฑ์ ได้รับใบอนุญาตทำงานและใบอนุญาตพำนัก จะได้รับความช่วยเหลือทางการศึกษา และการรักษาพยาบาล

2.ในแผนระยะ 5 ปี การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของจีน ตั้งแต่ฉบับที่ 10-13 ระหว่างปี ค.ศ. 2001 – 2020 (พ.ศ.2544-2563) มุ่งใช้ศักยภาพของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (กวางสี) ซึ่งอยู่ระหว่างมณฑลยูนนานด่านหน้าในการเปิดความสัมพันธ์กับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) และมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าขายระหว่างประเทศ กล่าวคือ

2.1ได้กำหนดให้นครหนานหนิงซึ่ง เป็นเมืองเอกของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (กวางสี) เป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งระหว่างจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ "ประตูสู่อาเซียน" โดยการพัฒนาเครือข่ายการคมนาคมขนส่งทางบกให้เข้าถึงประเทศในกลุ่มอาเซียน ผ่านแนวคิดการสร้าง “ระเบียงเศรษฐกิจหนานหนิง-กรุงเทพฯ” (Nanning-Bangkok Economic Corridor) รวมทั้งการจัดตั้ง “ระเบียงเศรษฐกิจหนานหนิง-สิงคโปร์” (Nanning-Singapore Economic Corridor)  

2.2 การดำเนินโครงการก่อสร้างระบบการขนส่งต่อสินค้า (Transshipment Port System) และระบบการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์สำหรับสินค้าประเภทน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และแร่เหล็กนำเข้า รวมทั้งถ่านหินตามท่าเรือริมทะเลในเมืองต่างๆ เพื่อเชื่อมแนวพื้นที่เศรษฐกิจเส้นทางสายไหม ระหว่างเส้นทางสายไหมทางบกกับเส้นทางสายไหมทางทะเล ด้วยอาศัยความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่ตั้ง ในการพัฒนาบทบาทการเป็น "ข้อต่อ" ที่สำคัญทางยุทธศาสตร์ในกรอบข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative: BRI)

บทสรุป เขตสาธิตการค้าเสรีจีนกว่างซี ถือเป็นเขตนำร่องการค้าเสรีแห่งแรก ที่จีนตั้งขึ้นในเขตปกครองตนเองชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (กวางสี) โดยตั้งเป้าหมายเพื่อสร้างให้เป็นเขตการค้าเสรีที่นำร่องความร่วมมือระหว่างจีนกับอาเซียนด้วยมาตรฐานสูงและมีคุณภาพ


(ข้อมูลจากเว็บไซต์ https://www.yn.gov.cn/.../szfwj/201607/t20160722_143035.html , https://www.gov.cn/gongbao/content/2015/content_2909264.htm  , https://www.gov.cn/xinwen/2021-09/03/content_5635313.htm และเว็บไซต์ http://english.scio.gov.cn/.../02/content_75570549.htm )