บิ๊ก อิมแพ็ค เมืองทองธานี เดินหน้าสู่ Smart Cityดึงซอฟต์พาวเวอร์เพิ่มมูลค่า

28 เม.ย. 2567 | 17:07 น.
อัปเดตล่าสุด :28 เม.ย. 2567 | 17:15 น.

" คอลัมน์ซีอีโอ โฟกัส " บิ๊ก อิมแพ็ค เมืองทองธานี “พอลล์ กาญจนพาสน์” เดินหน้าสู่ยุค " Smart City" ดึงซอฟต์พาวเวอร์เพิ่มมูลค่า รับการท่องเที่ยว-การเดินทางฟื้นตัวปักหมุด โปรเจ็กต์โรงแรมระดับ 5 ดาว ขนาด 400-500 ห้อง ใกล้ริมทะเลสาบ

 

ขณะที่การท่องเที่ยวและการเดินทางกำลังฟื้นตัวขึ้นเรื่อยๆ ธุรกิจของกลุ่มบีแลนด์ โดยเฉพาะ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ก็ขยับตัวขึ้นรับกระแสทันที ซึ่ง “พอลล์ กาญจนพาสน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด บอกเลยว่า ตอนนี้ยอดการจองพื้นที่ในอิมแพ็ค เมืองทองฯ เติบโตขึ้นถึง 40% หากแต่ก็ต้องปรับตัว รับมือกับการแข่งขัน ที่มีปริมาณคู่แข่งรายเล็กรายใหญ่ทยอยเปิดตัวเข้าสู่สนามธุรกิจศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมที่มีอายุเกือบ 40 ปี

“พอลล์” กล่าวว่า การบริหารมันไม่ได้อยู่ที่ว่า ต้องเป็นยุคของเขา ยุคของพี่ชาย ปีเตอร์ กาญจนพาสน์ หรือยุคของคุณพ่อ ในฐานะผู้ที่นั่่งทำหน้าที่บริหาร อะไรที่ดีที่พ่อทำไว้แล้ว ก็ต้องคงไว้และพัฒนาต่อ ส่วนอะไรที่เปลี่ยนไป ก็ต้องปรับตัวให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในช่วงนั้นๆ

การเปลี่ยนแปลงของอิมแพ็ค เมืองทองธานีที่กำลังจะเกิดขึ้น “พอลล์” เล่าว่า มันเป็นครั้งแรกที่เห็นคุณอากับคุณพ่อจับมือกัน เรื่องของรถไฟฟ้าที่กำลังจะเข้ามา แต่ก็ไม่ใช่ว่ารถไฟฟ้าที่เข้ามาเป็นยุคของพอลล์ หรือปีเตอร์ จริงๆ มันเป็นอะไรที่เราเริ่มกับคุณพ่อด้วยกัน ไม่ใช่ว่าคุณพ่อทำแบบของเขา เราทำแบบของเรา อะไรที่ดี เราก็ทำตามแบบของเขา อะไรที่ไม่ดีเราก็ปรับตามแบบสิ่งแวดล้อมปัจจุบัน

สมัยนี้เรื่องเทคโนโลยี การใช้ชีวิตอยู่กับโทรศัพท์ เราต้องปรับตามยุค เรามีการพัฒนาแอป เพื่อให้ลูกบ้านใช้จ่ายค่าน้ำค่าไฟ อนาคตจะขยายการใช้ชีวิตมาบนดิจิทัลมากขึ้น ตั้งแต่กลางปีที่แล้ว ก็เริ่มศึกษาเรื่องสมาร์ทซิตี้ ซึ่งมันเหมาะให้เอามาพัฒนาต่อ เมืองเรามีประชากรเยอะ เรามีหน้าที่ดูแลคนและ ดูแลสิ่งแวดล้อม

ก่อนหน้านี้ เขาอาจจะมองว่า การลงทุนต้องใช้เงินสดลง แต่ในตอนนี้ หากเป็นโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่ อย่างโครงการที่กำลังมีแผนจะพัฒนาต่อเนื่อง บนพื้นที่ริมทะเลสาบในเมืองทองธานีประมาณ 200 ไร่ ลงเงินสดทั้งหมดก็คงไม่ไหว กระแสเงินสดก็ไม่เพียงพอ ดังนั้น ก็ต้องดูพาร์ทเนอร์ที่มีความสามารถเข้ามาช่วยเสริม โดยไม่ได้มองที่เรื่องเงินเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมองถึงความสามารถและศักยภาพของพาร์ทเนอร์ด้วย 

“การที่เราจะทำโครงการใหญ่ริมทะเลสาบ มันต้องใช้เงินมหาศาล เพราะฉะนั้น เราจะใช้แต่เงินสดอย่างเดียวมันไม่ได้ เราถึงบอกว่า เราต้องมีพาร์ทเนอร์ และเราไม่ควรเอาโปรเจ็กต์ใหญ่ๆ มาทดลองทำสิ่งที่ตัวเองไม่ถนัด อย่างเช่น รีเทล ถ้าเราไม่สร้างทีมที่แข็งแรง เราก็ต้องมีพาร์ทเนอร์ที่แข็งแรง แต่ตอนนี้ก็ยังไม่มีพันธมิตรมาพูดคุย ถ้าเราพูด เราก็คือฝันไปเรื่อยๆ มันก็โม้ได้ทุกอย่าง จะกลายเป็น forture teller เราไม่ใช่นักฝัน รอให้มีข้อมูล เราจะมาคุยกัน”

ด้วยความที่ไม่ใช่มนุษย์ขายฝัน “พอลล์” ต้องการมีแผนและลงมือทำจริงก่อน จึงจะพูดและให้ข่าวอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งเขาบอกว่า ช่วงครึ่งปีหลังมาสเตอร์แพนของโปรเจ็กต์ที่ดินริมทะเลสาบน่าจะเป็นรูปเป็นร่าง และสามารถเปิดเผยได้ ซึ่งแน่นอน จะต้องมีศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม นอกจากนี้ยังมีรีเทล เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ออฟฟิศ และโรงแรม ซึ่งเบื้องต้น สิ่งที่เขาจะลงมือทำก่อนคือ โปรเจ็กต์โรงแรมระดับ 5 ดาว ขนาด 400-500 ห้อง บริเวณสี่แยกใกล้ริมทะเลสาบการที่เริ่มโปรเจ็กต์โรงแรมก่อน เพราะ “พอลล์” มองว่า โรงแรมจะต้องมีสิ่งแวดล้อมที่ต้องสร้างเพิ่มเติม หากไม่ลงมือสร้างตอนนี้ โปรเจ็กต์ก็อาจจะขยับไปเรื่อยๆ 

“ความคิดของผม ถึงเรายังไม่มีพาร์ทเนอร์ เราก็ไม่จำเป็นต้องพัฒนาพื้นที่ทั้งหมดพร้อมกันทีเดียว โปรเจ็กต์โรงแรมที่เพิ่งเปิดไป เรากำลังทำแบบ ขออนุญาตก่อสร้างที่ตรงสี่แยกใกล้ๆ ทะเลสาบ เราเริ่มจากโรงแรม เตรียมพร้อมไว้ก่อน เพราะโรงแรมต้องมีสิ่งแวดล้อม เมื่อพร้อม ก็ค่อยๆ เติมไปเรื่อยๆ”

หากแต่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ก็ไม่ได้มีที่เพียงพื้นที่ 200 ไร่ริมทะเลสาบเท่านั้นที่รอการพัฒนา ผู้บริหารหนุ่มอารมณ์ดีคนนี้ บอกว่า ความสนุกของเมืองทอง คือ ทุกพื้นที่สามารถ Redevelopment ได้อีก ถ้าที่ทั้งหมดถูกสร้างเต็มแล้ว ก็ยังสามารถ Redevelopment พื้นที่เก่า อาคารเก่า สามารถสร้างและพัฒนาขึ้นใหม่ได้ ซึ่งอนาคตของอิมแพ็ค เมืองทองธานี คือ การ Redevelopment ไปเรื่อยๆ หรือสามารถพัฒนาต่อยอดร่วมกับพาร์ทเนอร์ใหม่ๆ ได้เสมอ

 “พอลล์” ยกตัวอย่างเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ที่รัฐบาลพยายามผลักดัน สำหรับอิมแพ็ค เมืองทองธานี มีความพร้อมที่จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการผลักดันงานด้านซอฟต์พาวเวอร์ ทั้งงานด้านวัฒนธรรม อาหาร งานดนตรี ภาพยนตร์ หรืองานดีไซน์ และอ่ืนๆได้เต็มที่ แค่เพียงรัฐบาลสนับสนุนผู้จัดงาน ก็เหมือนสนับสนุนอิมแพ็ค ไปด้วยเช่นกัน

  “โฟกัสของอิมแพ็ค คือ พยายามรับงานให้เยอะที่สุด ในมุมของบีแลนด์ ก็พัฒนาตัวริมทะเลสาบ แต่ระหว่างทางจะเกิดอะไรขึ้อีก ปลายปีก็จะมาคุยกันอีกครั้ง”

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,986 วันที่ 25 - 27 เมษายน พ.ศ. 2567