ไขรหัส ESG วงการแฟชั่นกับแม่ทัพ ‘บูติคนิวซิตี้’

14 ส.ค. 2566 | 13:29 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ส.ค. 2566 | 13:47 น.

เรื่อง ESG เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน ที่ย่อมาจาก Environment, Social, และ Governance ซึ่งปัจจุบัน ESG แทรกซึมเข้าไปอยู่ในทุกอุตสาหกรรม ไม่เว้นแม้แต่วงการแฟชั่นเสื้อผ้า

ซึ่ง “ประวรา เอครพานิช” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บูติคนิวซิตี้ จำกัด (มหาชน) บอกว่า การเดินหน้าสู่ ESG ทุกคนต้องตื่นตัว องค์กรต้องเปลี่ยนกระบวนการทำงาน ซึ่งต้องใช้พลัง และคนในองค์กร ก็ต้องพร้อมเปลี่ยนด้วย

ประวรา เอครพานิช "ประวรา” ในฐานะแม่ทัพใหญ่ ที่บริหาร บูติคนิวซิตี้ ผู้จัดจำหน่ายเสื้อผ้าหลากหลายแบรนด์ อาทิ Guy Laroche, Feraud, C&D, GSP และ Adolfo Dominguez เล่าว่า จากประสบการณ์กว่า 26 ปีที่เข้ามาเริ่มเรียนรู้ตั้งแต่ฝายผลิตสินค้า จนปัจจุบันกลายเป็นผู้บริหารใหญ่

ในอดีต “ประวรา” มีแนวคิดที่ได้รับการปลูกฝังมาว่า การทำเสื้อผ้า ต้องทำให้ผู้สวมใส่มีความสุข สร้างความมั่นใจให้กับเขา...จนวันนี้ แนวคิดเดิมก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง แต่เพิ่มเติมขึ้นมาด้วยคุณค่าทางสังคม ที่มี ESG เข้ามาเป็นแกนในการดำเนินงาน หลังจากธุรกิจรับผลกระทบรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้วันนี้ เธอต้อง “รีเซ็ท” องค์กรใหม่ ชัดเจนตั้งแต่การโฟกัสลูกค้าที่เจาะลึกลงไปในแต่ละเซ็กเม้นท์  

บูติคนิวซิตี้

ธุรกิจแฟชั่น ถือเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากช่วงโควิดที่ผ่านมา เพราะห้างปิด ไม่มีที่ขาย ไม่มีที่เที่ยว คนไม่เดินทาง ไม่ได้ออกนอกบ้าน...สองปีที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ยากมากสำหรับธุรกิจแฟชั่นเสื้อผ้า “ประวรา เอครพานิช” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บูติคนิวซิตี้ จำกัด (มหาชน) จากสถานการณ์ช่วงนั้นทำให้ต้อง “รีเซ็ท” ตัวเอง

บูติคนิวซิตี้ มีแนวทางในการดำเนินธุรกิจอยู่แล้ว 4 แนวทาง คือ Customer First ต้องตอบสนองลูกค้า, Timless Design ต้องเน้นคุณภาพ ใช้งานได้นาน, Circular Economy ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และ Keep Learning ต้องเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ รวมทั้งหาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาประยุกต์ใช้ จาก 4 แนวทางการดำเนินธุรกิจได้ถูกนำมาลงลึกในรายละเอียดของแต่ละส่วน

 

“โควิดทำให้เรารู้ว่าเทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยเราได้ เราพยายามทำทุกอย่างผ่านออนไลน์ กระดาษพยายามไม่ใช้ จัดการประชุมอยู่บน แคนวาส มันเป็นเรื่องเล็กๆ แต่กระดาษก็หายไปหลายลีม และยังมีเรื่องโซล่าเซลล์ ที่เราจะติดที่โรงงาน” แม่ทัพบูติคนิซิตี้บอกว่า การ Lean องค์กรเป้นเรื่องที่ต้องทำ โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริม ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ถือว่าบริษัทฯ ได้ปรับกระบวนการทำงานไปแล้ว ส่วนไหนที่ไม่จำเป็นก็ลดขั้นตอนลง ทำทุกอย่างให้สั้น 

 

ในกระบวนการผลิต ฝ่ายดีไซเนอร์ต้องมีความเข้าใจว่า เวลาออกแบบ จะวางแบบอย่างไร วางผ้าอย่างไร แล้วจะเหลือผ้าแค่ไหน เหลือแล้วจะนำไปทำอะไรต่อได้อีกหรือไม่ แม้แต่เส้นด้ายในการตัดเย็บ ก็ต้องดูว่า การเดินเส้นแนวนี้มันจำเป็นหรือไม่ ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องมี แต่ก็ต้องดูด้วยว่า ทำออกแล้วจะสวยงามหรือเปล่า เพราะนั่นคือสิ่งสำคัญที่ผู้สวมใส่ต้องการ 

 

“ประวรา” บอกอีกว่า ไม่ใช่แค่เพียงกระบวนการผลิต หรือการปฏิบัติในองค์กร แม้แต่การตกแต่งร้าน ก็สามารถลงรายละเอียดได้ วัสดุแบบไหนเหมาะสม จัดตั้งแล้วหมุนเวียนโยกย้ายได้หรือเปล่า เครื่องสปริงเคิลต้องหมุนขึ้นหรือหมุนลง ต้องลงรายละเอียดว่า ทำแบบไหนแล้วประหยัดวัสดุ ประหยัดพลังงาน และงานไม่ซ้ำซ้อน เพื่อไม่ให้เสียเวลา เสียพลังงาน โดยไม่จำเป็น 

 

สิ่งสำคัญคือ การปรับมายด์เซ็ทของคนในองค์กร ดังนั้น การพูดคุยสื่อสารจึงเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ทีมงานต้องพร้อมที่จะปรับเปลี่ยน และต้องคิดไปในทิศทางเดียวกัน ดูว่าต้องทำอะไร อะไรที่เหมาะสม เมื่อเทียบกับเป้าหมายที่จะเดินไปแล้ว แบบนี้ใช่หรือไม่ 

 

“การบริหารงาน เราเริ่มปรับเปลี่ยน และเปลี่ยนเรื่อยๆ แต่โควิด เป็นจุดกระชาก ในองค์กรก็จะมีคนเปลี่ยน คนไม่เปลี่ยน บางคนไม่เปลี่ยนเพราะเคยชินกับสิ่งนั้นๆ แต่เมื่อวันหนึ่งมันเกิดแรงกระชากก็เลยต้องปรับเปลี่ยน เราใช้ Discord ในการประชุม” ผู้บริหารหญิงกล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ “เราไปเห็นลูกใช้ discord ในการเล่นเกม เลยเอามาประยุกต์ใช้ มันเหมือนห้องประชุมที่ใครมาก็เขาได้เลย ไม่ต้องมานั่งกดรับ เหมือน ZOOM”  

 

จากการปรับเปลี่ยนและ Lean องค์กร ทำให้ที่ผ่านมา บูติคนิวซิตี้ต้นทุนไม่เพิ่ม และสามารถประหยัดเวลาได้มากขึ้น ส่วนของการวางกลยุทธ์ทางการตลาด ก็มองเรื่องเสื้อผ้าที่พยายามจัดเซ็กเม้นท์ไม่ให้ทับซ้อน และเน้นการเติมความสุขให้กับผู้สวมใส่ เช่น  การไปร่วมกับ ทาง THANN เติมความหอมเข้าไปเสื้อผ้า หรือการนำผ้าย้อมครามมาเพิ่มสีสันให้กับคอลเลคชั่น ซึ่งถือเป็นการสร้างความแปลกใหม่ สอดรับกับการสร้างความสุขให้กับผู้สวมใส่ โดยคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมไปด้วยพร้อมๆ กัน โดยในส่วนนี้ “ประวรา” บอกว่า เป็นการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ ที่ต้องพิถีพิถันในการคัดเลือกพาร์ทเนอร์ที่มีแนวคิดตรงกัน และสอดคล้องไปกับเป้าหมายทางธุรกิจที่เธอวางไว้

 

เพราะแฟชั่นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน การปรับเปลี่ยนมายด์เซ็ท และปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานให้เดินไปในแนวทาง ESG จึงต้องลงรายละเอียดยิบย่อยมากมาย 

 

“ประวรา” บอกว่า ตอนนี้ต้องกลับไปที่วัตถุประสงค์บูติคนิวซิตี้ จุดขายเป็นการบริการลูกค้า ออนไลน์คือความรวดเร็ว ครึ่งปีที่ผ่านมา ภาพรวมของธุรกิจดีขึ้นเยอะมาก เป้าหมายของเธอคือการเติบโตแบบแข็งแรง ไม่จำเป็นต้องเปิดสาขาเยอะแยะ เปิดไปแล้วต้องปิด หรือผลิตออกมาแล้วขายไม่ได้ คือโตแบบเหี่ยวๆ ไม่มีกำไร แบบนั้นบูติคนิวซิตี้ไม่ทำ 

 

“ตอนนี้เราก็ค่อยๆ ปรับ บริษัทเราอยู่มานาน ภาพจำ 50 ปี เราเข้ามารับช่วงต่อ แต่ก็ไม่ง่าย เสื้อผ้าเราไม่มีเจน แต่มันขึ้นอยู่กับสถานที่ที่ไป ว่ามันเป็นอย่างไร มันคือ กาละเทศะ เราอยากให้คนมีภาพจำของเรา คือ การมีความสุข การทำเสื้อผ้า เราทำให้เขามีความสุข ใส่แล้วมั่นใจคือ เขามีความสุข ใส่แล้วสดชื่น ใส่แล้วเย็น แฟชั่นถูกเจเนอเรทจากคนอื่น แต่ทางกลับกัน คือ เราใส่แล้วมีความสุข นั่นคือที่สุด”

 

นี่คือแนวคิดของนักบริหารหญิง “ประวรา เอครพานิช” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บูติคนิวซิตี้ จำกัด (มหาชน) กับเส้นทาง ESG 

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,912 วันที่ 10 - 12 สิงหาคม พ.ศ. 2566