"Net Zero" กับโอกาสการลงทุนในไทย ที่นักลงทุนควรปรับตัว

01 ส.ค. 2566 | 06:00 น.

เทรนด์มาแรง "Net Zero" ถือเป็นโอกาสการลงทุนในไทย ที่นักลงทุนควรปรับตัว และมุมมองในการลงทุนให้อยู่ในกระแส "ESG" ให้มากขึ้น เพื่อความยั่งยืนในการลงทุนระยะยาว ตามทิศทางโลกอนาคต

เทรนด์มาแรงในช่วงนี้ที่ทั่วโลกต่างตื่นตัว ต่อกระแส "Net Zero" ซึ่งองค์กรต่างๆ พากันปรับเรื่อง "ESG" (แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน ซึ่งย่อมาจาก Environment, Social, และ Governance) ให้ได้ตามเป้าหมาย 80-90% อย่างบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกที่กำลังก้าวสู่ Net Zero หลายๆ แห่ง

ดังนั้นการที่บริษัททั่วโลกเริ่มเอาเรื่อง Net Zero มาเป็นเป้าหมายหลักที่ต้องไปให้ถึง ย่อมเป็นโอกาสของการลงทุนได้เช่นกัน โดยปี 2022 ที่ผ่านมาแม้เป็นปีที่แย่สำหรับภาคการลงทุน

แต่กลับมีเม็ดเงินไหลเข้ากลุ่ม Net Zero สูงสุดเป็นประวัติการณ์ หรือ ประมาณ 1,110 ล้านดอลลาร์ โดยหลักๆ แล้วเข้ามาลงทุนในกลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิก เป็นส่วนใหญ่

สำหรับนักลงทุนไทยควรปรับมุมมองการลงทุนให้อยู่ในกระแสที่เป็น Net Zero ให้มากขึ้นเพื่อความยั่งยืนในการลงทุนระยะยาว ตอบโจทย์กระแสโลก

\"Net Zero\" กับโอกาสการลงทุนในไทย ที่นักลงทุนควรปรับตัว

ข้อดีของการลงทุนหุ้น Net Zero

  • การเลือกหุ้นที่มีเป้าหมาย Net Zero เท่ากับเป็นการลดความเสี่ยงทางด้านนโยบายแล้วครึ่งหนึ่ง โดยนักลงทุนต้องเข้าใจว่าการหาหุ้นที่มีความเสี่ยงด้าน ESG ต่ำ เพื่อลดความเสี่ยงต่อนโยบายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มากกว่าการหาหุ้นที่มีอัตราการเติบโตหรือกำไรสูงสุด เพราะถ้าเทียบกับปัจจุบันปี 2023 กับปี 2030 ที่เป็นปีเป้าหมายที่ทั่วโลกพยายามเข้าถึง Carbon Neutrality เท่ากับเหลือเวลาเพียง 7 ปีเท่านั้น
  • การใช้พลังงานทางเลือกจะช่วยลดต้นทุนการใช้พลังงานระยะยาว ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มอัตรากำไรระยะยาวให้บริษัท แล้วส่งผลต่อผลการดำเนินงานที่ดีได้เช่นกัน
  • กระแสกดดัน Net Zero จะเพิ่มขึ้น ถ้าไม่ลงทุนหุ้นกลุ่มนี้หรือไม่ได้เอาเรื่อง ESG มาอยู่ในการลงทุน จะเสมือนถูกกันออกจากอะไรบางอย่าง และถ้าเลือกลงทุนที่มี Net Zero และ ESG จะได้ประโยชน์อื่นมากกว่าตัวเงินเพียงอย่างเดียว

ข้อเสียของการลงทุนหุ้น Net Zero

  • การจะลงทุนตามเทรนด์ Net Zero หรือ ESG ต้องระมัดระวังเรื่องการฟอกเขียว (Greenwashing) ที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ว่าสิ่งที่ลงทุนนั้นเป็นการมุ่งสู่ Net Zero ทั้งที่ความจริงอาจไม่ได้ดำเนินการจริง นักลงทุนอาจต้องศึกษารายชื่อหุ้นที่ผ่านการตรวจสอบ จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

แต่ก่อนที่จะเข้าไปลงทุนควรมีความเข้าใจก่อนว่า Carbon Neutrality กับ Net Zero ต่างกันอย่างไร?

"Carbon Neutrality" คือการพยายามลดการปล่อยคาร์บอนลงให้ได้ เพื่อควบคุมปริมาณการปล่อยคาร์บอนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ส่วนที่เหลือที่ลดไม่ได้ต้องทำการชดเชย ด้วยวิธีอื่น อาทิ การใช้คาร์บอนเครดิต และการปลูกป่า

"Net Zero" คือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือการไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเลย 

ประเทศไทยถือได้ว่าเพิ่งเริ่มก้าวเข้าสู่ "Carbon Neutrality" แต่ทั่วโลกกำลังเดินสู่ "Net Zero"

เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทย ยังปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจกอยู่อันดับ 20 กว่าๆ ของโลก แม้ไทยไม่ได้เป็นประเทศที่ปล่อยคาร์บอนอันดับต้นๆ ของโลก แต่เมื่อดูผลกระทบด้าน Climate Change ไทยกลับเป็นอันดับที่ 9 ของโลกที่ได้รับผลกระทบในระยะยาว

รวมทั้งยังเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาภาคเกษตรเป็นหลัก และมีพื้นที่ประมาณ 40% เป็นพื้นที่ป่าไม้ โดยไทยมีกำหนดสู่ Carbon Neutrality ปี 2050 และ Net Zero ปี 2065

เมื่อเทียบกับประชาคมโลกที่รักษาคำมั่นสัญญา Carbon Neutrality ปี 2030 และ Net Zero ปี 2050 ถือว่ายังวิ่งตามนานาประเทศที่แซงไปก่อนแล้ว

อย่างไรก็ตามโอกาสการลงทุน Net Zero ในไทย หากมองในปัจจุบันไทยยังไม่มีอุตสาหกรรมไหนที่เข้าสู่ Net Zero อย่างสมบูรณ์แบบ ดังนั้นพอร์ตการลงทุนจะเป็นลักษณะผสมผสาน ระหว่างการลงทุนในพลังงานฟอสซิลอย่างน้ำมัน หรือไฟฟ้าที่ผลิตจากถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ กับการลงทุนในพลังงานทางเลือก

แต่สัดส่วนพลังงานทางเลือกจะค่อยๆ เพิ่มสัดส่วนขึ้น เพราะบริษัทในประเทศไทยส่วนใหญ่มีการปรับตัวไปสู่พลังงานทางเลือก ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจโรงไฟฟ้า ที่มีการสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือก หรือจะเป็นลักษณะการไปควบรวมหรือซื้อกิจการ (M&A) ที่มีการดำเนินงานด้านพลังงานทางเลือกอยู่แล้ว

\"Net Zero\" กับโอกาสการลงทุนในไทย ที่นักลงทุนควรปรับตัว

เทรนด์ Net Zero มีผลิตภัณฑ์ในการลงทุนที่ให้เลือกหลากหลาย

หุ้น : แม้ว่าบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยจะมีเป้าหมาย Net Zero ยังค่อนข้างน้อย แต่นักลงทุนสามารถพิจารณาได้จากรายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI หรือ Sustainability Investment ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจัดทำทุกปี ซึ่งล้วนเป็นบริษัทที่มีการดำเนินงานด้าน ESG ที่ดี หรือสามารถไปดูรายงานประจำปี 56-1 One Report ของแต่ละบริษัท ซึ่งจะมีการรายงานความยั่งยืนด้วย

กองทุนที่ลงทุนใน ESG : สำหรับกองทุนไทยเป็นกองทุน SRI Fund ที่อยู่ภายใต้การกำกับของ ก.ล.ต. ซึ่งมีรายชื่อหุ้นและกลุ่มการลงทุนแบบยั่งยืนที่ผ่านการตรวจสอบอย่างชัดเจน และยังสามารถตรวจสอบการปฏิบัติการฟอกเขียวเบื้องต้นได้จาก Morningstar Analytic เพิ่มเติมได้อีกทางหนึ่ง

ตราสารหนี้ : ตราสารหนี้ในประเทศไทยส่วนใหญ่คือ ตราสารหนี้สีเขียว หรือที่เรียกกันว่า Green Bond ส่วนใหญ่จะนำไปลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทางเลือกที่ออกโดยบริษัทจดทะเบียนไทย นักลงทุนสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม อาทิ อัตราผลตอบแทน วัตถุประสงค์การใช้เงิน อายุของตราสาร รวมถึงมาตรฐานในการออก Green Bond ได้จากสรุปข้อมูลสำคัญของตราสาร (Fact Sheet)

อ้างอิง : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)