เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้เปิดเผยรายงานความยั่งยืนประจำปี 2565 ภายใต้แนวคิด “ผู้นำด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อพรุ่งนี้ที่ดีกว่า” ที่จะขับเคลื่อนเป้าหมายยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนใน 15 เป้าหมายภายใต้กรอบการทำงาน 3 เสาหลัก Heart-Health -Home ที่ครอบคลุมทุกมิติของความยั่งยืนทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) โดยเฉพาะการนำการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มาเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายและแนวปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อม ในการกำหนดทิศทางการดำเนินงานของเครือซีพี
นายสมเจตนา ภาสกานนท์ ผู้อำนวยการด้านพัฒนาความยั่งยืน สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาลและสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เปิดเผยว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ตั้งเป้าหมายเป็นองค์กรความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2573 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 ครอบคลุมถึงการตรวจสอบย้อนกลับตลอดห่วงโซ่คุณค่า ของเครือซีพีทั้ง 21 ประเทศ 14 กลุ่ม
ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ คณะกรรมการบริหารความยั่งยืน จึงได้กำหนดแผนเพิ่มเติม ตามแนวทาง Science-based Targets (SBT) โดยมีเป้าหมายระยะสั้น ตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก Scope 1 และ Scope 2 อยู่ที่ 50% และ Scope 3 ตั้งเป้าหมายลดอยู่ที่ 25 % ภายในปี 2573 จากเดิมที่กำหนดลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบข่ายที่ 1 และขอบข่ายที่ 2 ลง 42 % และในขอบข่ายที่ 3 ลง 25% ภายในปี 2573 จากปีฐาน 2564
สำหรับการขับเคลื่อนนั้น มีการปรับแผนโดยจะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็น 100 % ภายในปี 2573 จากเดิมที่กำหนด 30 % ซึ่งปัจจุบันเครือซีพีมีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ 15 % ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ทั้งในรูปแบบ การติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop)
ส่วนที่ติดตั้งบนดิน (On Ground) และส่วนที่ติดตั้งแผงแสงอาทิตย์บนนํ้า (Solar Floating) ในปี 2565 มีการติดตั้ง Solar PV มีกำลังการผลิตรวมกว่า 153 MW สามารถประหยัดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ 257,899 MWh/ปี หรือประมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้มากกว่า 0.12 ล้านตัน CO2e รวมถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานและดำเนินโครงการอนุรักษ์พลังงานควบคู่ไปด้วย
“ที่ผ่านมามีจำนวนสถานที่ติดตั้้ง แผงโซลาร์เซลล์มากกว่า 5,000 แห่ง (โรงงาน ศูนย์กระจายสินค้า ร้าน 7-Eleven สถานี ฐานและชุมสาย) เทียบเท่าพลังงานที่ใช้ 0.56 ล้านกิกะจูล ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลงได้ 0.12 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า”
นายสมเจตนา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ มีการนำเชื้้อเพลิงชีวมวลมาใช้ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยกลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารมีนโยบายยกเลิกการใช้ถ่านหินทั้งหมด และหันมาใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวล เช่น ไม้สับ แกลบ กากถั่วเหลือง และซังข้าวโพด เป็นต้น สำหรับการผลิตไอนํ้าใน 106 โรงงาน เทียบเท่าพลังงานที่ใช้ 4.94 ล้านกิกะจูล ช่วยลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ 0.47 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
อีกทั้ง การนำมูลสัตว์และนํ้าเสียมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ เพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าและไอนํ้า ใน 252 ฟาร์ม เทียบเท่าพลังงานที่ใช้ 1.05 ล้านกิกะจูล ช่วยลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ 0.17 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า รวมถึงการซื้อใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC) จำนวน 265,000 REC คิดเป็นปริมาณลดกก๊าซเรือนกระจก 0.12 ล้านตันคาร์บอนได ออกไซด์เทียบเท่า
รวมถึงการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในการขนส่งจากเครือฯ และคู่ค้าธุรกิจเพิ่มมากขึ้น จากปี 2565 มีจำนวนยานยนต์ไฟฟ้าในการขนส่งกว่า 800 คัน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 2,914 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่าการปลูกป่าได้กว่า 278,000 ต้นต่อปี และยังได้มีการติดตั้งสร้างสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าให้กับลูกค้าที่สายธุรกิจค้าปลีก โดยเครือซีพีมีแผนงานที่จะขยายการติดตั้งสถานีชาร์จเพิ่มอีก 100 สาขา จากปัจจุบันมีจำนวน 24 แห่ง รองรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า รถยนต์ไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้า 1,013 คัน
ขณะเดียวกันเครือซีพี ยังดำเนินการดูซับ กักเก็บก๊าซเรือนกระจก โดยการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ ด้วยเป้าหมายการปลูกป่า 20 ล้านต้น ภายในปี 2568 ปัจจุบันดำเนินการปลูกแล้วราว 8.2 ล้านตัน อาทิ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ดำเนินการปลูกป่าแล้ว 14,189 ไร่ จากเป้าหมาย 5 หมื่นไร่ในปี 2573 เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง