มร.เกอร์นอท ริงลิ่ง กรรมการผู้จัดการ เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย เปิดเผยว่า ภาพรวมกลุ่มอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานปี 2566 ในไทย อาทิ อุตสาหกรรมก่อสร้าง ยานยนต์ เหล็กและเหล็กกล้า รวมถึงพลังงานไฟฟ้า พบสัญญาณการฟื้นตัวและมีแนวโน้มกลับมาเติบโต ประกอบกับนโยบายการผลักดันจากภาครัฐ และการลงทุนที่เพิ่มขึ้นของภาคเอกชน ส่งผลให้ความต้องการของวัตถุดิบห่วงโซ่การผลิต เทคโนโลยี และนวัตกรรมของกลุ่มดังกล่าวในประเทศเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการมีนวัตกรรมที่ไม่หยุดนิ่งถือเป็นความท้าทายสำหรับอุตสาหกรรมด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ ดังนั้นการที่ประเทศมีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ดี จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและขยายโอกาสการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
การเปลี่ยนแปลงล่าสุดข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าภาพรวมทางเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ของปี 2566 มีแนวโน้มการขยายตัวต่อเนื่องอยู่ที่ 3.6% แม้จะยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่แต่ก็เห็นสัญญาณการกลับมาของภาคการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะการลงทุนของภาคเอกชนที่คาดการณ์ว่าจะกลับมาขยายตัวได้สูงในปี 2567
ขณะที่ฝั่งของภาครัฐบาลก็มีนโยบายสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการ ทั้งการลงทุนด้านบริการและสาธารณูปโภค การลงทุนในผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง ตลอดจนอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า และอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้า รวมถึงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ เช่นยานยนต์ไฟฟ้า และ BCG ที่จะเข้ามาเป็นแรงหนุนสำคัญ
นอกจากนี้ยังได้มาตรการส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่ผลักดันคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษแต่ละภูมิภาค ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสให้ภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวกลับมาเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด
สำหรับเทรนด์ภาพรวมอุตสาหกรรมที่จะเข้ามามีบทบาทและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประกอบด้วย 4 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้าง มีแนวโน้มขยายตัวจากความคืบหน้าของโครงการเมกะโปรเจกต์ พร้อมด้วยการประมูลและเริ่มต้นโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ๆ โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นต้น
ส่วนด้านภาพรวมของอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ในไตรมาสที่ 2 คาดว่าจะยังคงหดตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า จากปัจจัยความผันผวนของต้นทุนพลังงาน ซึ่งอาจส่งต่อการปรับตัวของราคาเหล็กในตลาดโลก โดยก่อให้เกิดผลกระทบต่ออุปสงค์ความต้องการใช้เหล็กและเหล็กกล้า
อย่างไรก็ดี จากความคืบหน้าในโครงการก่อสร้างต่าง ๆ โดยเฉพาะโครงการสร้างสายไฟฟ้าและท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน พร้อมด้วยนโยบายการสนับสนุนอุตสาหกรรมของภาครัฐ จะช่วยส่งเสริมให้อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าในประเทศไทยเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง
อีกทั้งยังมีเรื่องของเทรนด์ยานยนต์และพลังงานไฟฟ้าที่น่าจับตา โดยฝั่งของอุตสาหกรรมยานยนต์ มีแนวโน้มเติบโตจากหลายปัจจัย ทั้งการฟื้นตัวของกำลังซื้อหลังเงินเฟ้อทยอยปรับลดลง กำลังการผลิตชิป (Microprocessor) ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญของการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ ประกอบกับนโยบายอุดหนุนการใช้รถไฟฟ้าแบบแบตเตอรี (BEV)
และการเร่งลงทุนในโครงข่ายการคมนาคมของภาครัฐ จะช่วยสนับสนุนอัตราการใช้รถและยานยนต์ในประเทศ รวมไปถึง อุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้า หรืออีวี (EV) ในประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องเช่นกัน จากความต้องการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยต่อปีที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นโยบายสนับสนุนการลงทุนตามแผนการพัฒนาระบบไฟฟ้าของประเทศไทย
รวมถึงนโยบาย Net Zero Carbon ที่เอื้อให้เกิดการลงทุนในการสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มการขยายตัวและการแข่งขันทางธุรกิจสูงโดยเฉพาะในฝั่งของผู้ผลิตรายใหญ่อีกด้วย
“จากปัจจัยบวกที่เป็นตัวกระตุ้นการเติบโตของกลุ่มอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทย ส่งผลให้อุปสงค์ของห่วงโซ่ของอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น การผลิตลวด เคเบิล ท่อ ท่อร้อยสาย อุตสาหกรรมหล่อโลหะ และโลหะการ ตลอดจนเครื่องจักร เทคโนโลยีการหล่อ นวัตกรรม และการให้บริการด้านวิศวกรรมที่ทันสมัย มีความต้องการเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง