‘ซื่อสัตย์-ตรงเวลา’ นำพา TIPAK ฝ่าทุกวิกฤต

07 ม.ค. 2566 | 17:14 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ม.ค. 2566 | 00:33 น.
552

ผู้นำมากประสบการณ์ ที่สามารถนำพาองค์กร TIPAK หรือบริษัท อุตสาหกรรมไทยบรรจุภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) ฝ่าวิกฤตใหญ่น้อยมาได้ ไม่ใช่เพราะโชคช่วย แต่เป็นด้วยฝีมือ และความซื่อสัตย์ เที่ยงตรง ที่เป็นคติประจำใจ

“วีรชัย มั่นสินธร” หรือ “คุณเอี๋ยม” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อุตสาหกรรมไทยบรรจุภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) หรือ TIPAK บอกเลยว่า ใช้ 2 หลักที่ยึดมั่นมาตลอด นั่นคือ การตรงเวลา และซื่อสัตย์ ซื่อตรง ทั้งต่อลูกค้า คู่ค้า และพนักงาน

‘ซื่อสัตย์-ตรงเวลา’ นำพา TIPAK ฝ่าทุกวิกฤต

“คุณเอี๋ยม” เจอวิกฤตแรกตั้งแต่เริ่มทำงาน เขาถูกเรียกกลับขณะเรียนอยู่ญี่ปุ่น เพราะทางบ้านประสบปัญหา ธุรกิจโรงงานกล่องกระดาษซวนเซมีหนี้กว่า 13 ล้านบาท เมื่อปี พ.ศ.2523 แต่ด้วยความที่เป็นคนขวนขวายหาโอกาส ก่อนกลับเมืองไทย 3 เดือน เขาใช้เวลาไปฝึกงานในโรงงานเครื่องจักรกล่องกระดาษที่ญี่ปุ่น เขาได้นำความรู้และหลักคิดที่ได้มาพลิกฟื้นธุรกิจครอบครัว 

“ตอนกลับมาก็ทำทุกอย่าง ทั้งผลิต ซ่อมเครื่อง ปรับปรุงเครื่อง เหมือนเป็นผู้จัดการโรงงาน และยังต้องหิ้วกระเป๋าไปขายของ เป็นเซล รวมทั้งคุยกับแบงก์ เจรจาเรื่องการเงิน”
 

“คุณเอี๋ยม” ใช้เวลาอยู่ 4-5 ปี กว่าจะพลิกฟื้นธุรกิจ จากปี 2523 ที่มียอดขายเดือนละ 8 แสนบาท หรือเกือบ 100 ล้านบาทต่อปี เคลียร์หนี้ไปเรื่อยๆ พร้อมทั้งเริ่มขยายธุรกิจ ทำให้ปี 2529 ยอดขายขยับไปเกือบ 200 ล้านบาท และยังขยายโรงงานไปที่มหาชัย

‘ซื่อสัตย์-ตรงเวลา’ นำพา TIPAK ฝ่าทุกวิกฤต

ธุรกิจกลับมาเติบโตขึ้นต่อเนื่อง จนมาถึงปี 2537 “คุณเอี๋ยม” ได้กู้เงินมา 20 ล้านดอลล่าร์สหรัฐเพื่อขยายการลงทุน และเริ่มสร้างโรงงานใหม่ที่ปราจีนบุรี ด้วยงบกว่า 500 ล้านบาท โรงงานใหม่ยังไม่ทันเดินเครื่อง ก็เจอเข้ากับวิกฤตใหญ่ต้มยำกุ้ง
 

“โรงงานจะสร้างเสร็จประมาณปี 2540 เป็นโรงงานที่ทันสมัยที่สุดในเซาท์อีสเอเชียแต่มาเจอลดค่าเงินบาท โรงงานยังเทสต์รันอยู่เลย ก็อีรุงตุงนังอยู่ปีหนึ่ง เรามียอดขายประมาณ 400-500 ล้านบาท เราจ่ายดอกเบี้ย 100 ล้าน จนเราก็ไม่ไหว ตอนนั้นรวมๆ เงินต้น ดอกเบี้ย เป็นหนี้อยู่กว่า 1,800 ล้าน เลยขอหยุดแบงก์ทั้งหมด เพื่อเอาเงินมารันธุรกิจ เพราะธุรกิจยังพอไปได้” 
 

ด้วยหลักการทำงาน ที่ยึดมั่น คือ ความตรงเวลา มีหนี้ก็ไม่เคยยืด แม้แต่จ่ายเช็คก็เขียนวันตรงตามกำหนด ทำให้แบงก์วางใจ จนได้ปรับโครงสร้างหนี้ แบงก์ช่วยเต็มที่ ผู้บริหาร TIPAK ใช้เวลาอยู่กว่า 10 ปี ในการเคลียร์หนี้ จนได้กลับมาเดินหน้าธุรกิจเต็มที่อีกครั้ง จนปัจจุบันธุรกิจสามารถสร้างรายได้แตะ 3,000 ล้านบาทในปี 2565 และคาดว่าปี 2566 จะเติบโตได้อีกไม่ต่ำกว่า 10% 
  ‘ซื่อสัตย์-ตรงเวลา’ นำพา TIPAK ฝ่าทุกวิกฤต

“คุณเอี๋ยม” บอกว่า เทรนด์ของอุตสาหกรรมกระดาษ บรรจุภัณฑ์ กล่องกระดาษลูกฟูก ยังยั่งยืน ตอนนี้ยังไม่มีอะไรเลยที่เป็นสัญญาณว่าจะมาแทนกล่องลูกฟูก แม้จะเป็นธุรกิจที่ไม่หวือหวา การแข่งขันไม่สูง แต่ก็สามารถเดินหน้าได้เรื่อยๆ 
 แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โลกธุรกิจมีการปรับตัวเพราะการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เข้ามาดิสรัป ธุรกิจของเขาก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ทั้งราคากระดาษ ราคาน้ำมัน ที่ขึ้นจนตั้งหลักไม่ทัน ทำให้ธุรกิจขาดทุนไปปีหนึ่ง แต่หลังจากนั้น เมื่อปรับตัวได้ มีการวางแผน สร้างระบบ บริหารจัดการสต๊อก รวมทั้งพัฒนาบุคลากร ทำดิจิทัลทรานสฟอร์เมชั่น ช่วยให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้เร็วขึ้น แม่นยำ
มากขึ้น 
 

ธุรกิจกล่องกระดาษลูกฟูกของ TIPAK ขยายตัวมาเรื่อยๆ แม้ในช่วงวิกฤตโควิด ก็ไม่ได้รับผลกระทบ “ช่วงโควิดเราสติสตางค์ดี ทีมงานเข้มแข็ง เราเป็นโรงงานกล่องโรงงานเดียวที่ไม่ถูกปิดเลย”


 ...นั่นคือสิ่งที่ซีอีโอท่านนี้ภูมิใจ และยังลุยเดินหน้าธุรกิจต่อ ด้วยแผนการขยายสู่โซลูชั่นกล่องกระดาษลูกฟูกรูปแบบใหม่ๆ อาทิ กล่องอาหาร กล่องเครื่องสำอาง และอื่นๆ ที่อาจจะเดินหน้าด้วยการร่วมพาร์ทเนอร์กับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านต่างๆ หรือ อาจจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อขยายการลงทุนด้วยตัวเอง “คุณเอี๋ยม” บอกว่าตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุป แต่ปีหน้าได้เห็นการเปลี่ยนแปลงแน่นอน
 

ส่วนตัวเขาเอง “คุณเอี๋ยม” เล่าว่า กำลังค่อยๆ ขยับตัวออก เพื่อให้ลูกชายเข้ามาทำหน้าที่บริหารต่อ ส่วนตัวเองก็จะไปทำงานด้านสังคมมากขึ้น โดยขณะนี้นั่งเป็นประธานสถาบันความร่วมมือไทย-จีน นำความรู้ความสามารถที่มี มาส่งต่อให้กับคนไทยที่อยากไปค้าขายในจีน ด้วยการจัดคอร์สฝีกอบรมให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งคอร์สแรกจัดอบรมไปแล้วประมาณ 300 คน และมีแผนที่จะเดินหน้าต่อเนื่อง
‘ซื่อสัตย์-ตรงเวลา’ นำพา TIPAK ฝ่าทุกวิกฤต

“คุณเอี๋ยม” ทิ้งท้ายว่า เขายังคงดูแลธุรกิจโรงงานกล่องกระดาษลูกฟูกของครอบครัว แต่จะอยู่เบื้องหลังมากขึ้น ทำหน้าที่ให้ไดเร็คชั่น และหากมีเรื่องอะไรใหญ่ๆ ก็จะเข้าไปช่วยคิดช่วยตัดสินใจ ส่วนเวลาที่เหลือนอกจากช่วยเหลือสังคม ก็จะเดินทางท่องเที่ยว พักผ่อนหาความสุขใส่ตัว 

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,850 วันที่ 5 - 7 มกราคม พ.ศ. 2566