ปตท. สร้างสังคมยั่งยืน ควบคู่การเติบโตองค์กรมั่นคง

05 ต.ค. 2565 | 09:59 น.
อัปเดตล่าสุด :24 พ.ย. 2565 | 04:29 น.

2 ปีกว่า กับการทำหน้าที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ของ  “อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” ภาพของ ปตท.ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไป ภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ขององค์กร Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต”

“อรรถพล” ขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโต พร้อมกับการสร้างความมั่นคงที่ไกลกว่าพลังงาน เขา Restart ธุรกิจที่หลากหลายของ ปตท. ให้เดินหน้า ด้วยการขับเคลื่อนผ่าน ดิจิทัลทรานสฟอร์มเมชั่น ที่นำมาผสมผสานกับวิสัยทัศน์ Powering Life with Future Energy and Beyond แนวทางดังกล่าว ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ จากการลงมือทำ ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพ ชีวิต สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม

 

ในส่วนของการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ปตท. ได้รับรางวัลโครงการประเมินและจัดระดับธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน (Low Carbon and Sustainable Business: LCSB) ประจำปี 2565 ในระดับยอดเยี่ยม จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เป็นเครื่องการันตี

ปตท. สร้างสังคมยั่งยืน ควบคู่การเติบโตองค์กรมั่นคง


 “อรรถพล” ยังพูดถึงการให้ความช่วยเหลือในภาคสังคมที่มีหลากหลาย โดยเฉพาะการลดผลกระทบของประชาชนจากโควิด-19 ตั้งแต่ ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ด้วยความเชื่อที่ว่า...ทุกคนมี “ลมหายใจเดียวกัน” ทำให้เกิดโครงการลมหายใจเดียวกันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาและสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ สนับสนุนงบประมาณและอุปกรณ์ในการจัดตั้งโรงพยาบาล พร้อมจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์
ที่จำเป็น
 

หรือจะเป็นการร่วมมือกับพันธมิตร บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด (ปตท. ถือหุ้น 100%) จัดหาและนำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์อีก 1.2 ล้านเม็ด รวมทั้งร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และพันธมิตรทางการแพทย์ จัดตั้ง “หน่วยคัดกรอง และโรงพยาบาลสนามครบวงจร (End-to-End)” ภายใต้ “โครงการลมหายใจเดียวกัน กลุ่ม ปตท.” โดยหน่วยคัดกรองและโรงพยาบาลสนามครบวงจร (End-to-End) ได้ให้การรักษาผู้ป่วยรวม 14,228 คน ในระยะเวลา 9 เดือน (สิงหาคม 2564-มิถุนายน 2565)

ปตท. สร้างสังคมยั่งยืน ควบคู่การเติบโตองค์กรมั่นคง

โครงการลมหายใจเดียวกัน ปิดโครงการลงเมื่อ 30 มิถุนายน 2565 และได้ต่อยอดสู่โครงการ “ลมหายใจเพื่อน้อง” ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จัดกิจกรรม PTT Virtual Run ระดมทุนการศึกษาเพื่อเยาวชน ที่มีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษากว่า 60,000 คน ได้กลับเข้าเรียนอีกครั้งในภาคเรียนปีการศึกษา 2565 ต่อด้วยกิจกรรม “ก้าวต่อกับก๊อดจิ” เดิน-วิ่งสะสมระยะทางรวม 20 ล้านก้าวก๊อดจิ จัดตั้ง กองทุนแรกเริ่มศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในวิกฤตการศึกษาร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จำนวน 20 ล้านบาท สำหรับดูแลเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์หรือเหตุปัจจัยไม่คาดคิด ที่ทำให้มีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา


นอกจากนี้ ยังมีการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการสร้างงาน ภายใต้โครงการ Restart Thailand โดยปี 2564 เปิดรับกลุ่มแรงงาน พนักงาน และนักศึกษาระดับ ปวช. ถึงปริญญาตรีจบใหม่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เข้าทำงานกับกลุ่ม ปตท. และปี 2565 รับพนักงานเข้าทำงานเป็นครูผู้ช่วยสอน นักพัฒนาชุมชน งานบัญชีและการเงิน งานสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจ งานพัฒนาการศึกษา พนักงานสถานีบริการ NGV และงานเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อทำงานกับ ปตท. รวมทั้งจัดอบรมเพื่อเสริมทักษะความรู้ ก่อนลงพื้นที่ปฏิบัติงานจริง เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ตลอดจนเสริมสร้างทักษะอาชีพให้กับคนรุ่นใหม่

ปตท. สร้างสังคมยั่งยืน ควบคู่การเติบโตองค์กรมั่นคง
ปตท. ยังได้ขยายความช่วยเหลือสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว สนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วนให้กับพนักงานครึ่งหนึ่ง (วงเงินคนละไม่เกิน 5,000 บาท) เพื่อให้พนักงานใช้จ่ายในการเดินทางในประเทศ และการจัดสัมมนาภายในประเทศ
 

ตั้งแต่ปี 2563 ปตท. ใช้งบประมาณกว่า 1,200 ล้านบาท ไม่รวมความช่วยเหลือด้านพลังงาน ในการช่วยเหลือสังคมไทยจากผลกระทบโควิด -19


นอกจากนี้ ยังมีความช่วยเหลือทางด้านพลังงาน โดยตั้งแต่ต้นปี 2564 เป็นต้นมา ปตท. ได้ร่วมแบ่งเบาภาระต้นทุนค่าครองชีพด้านพลังงานไปแล้วกว่า 17,800 ล้านบาท อาทิ การให้ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม (LPG) แก่ผู้มีรายได้น้อยที่เป็นร้านค้าหาบเร่ แผงลอยอาหาร ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ตั้งแต่ ต.ค. 62- 30 ก.ย. 65 และล่าสุดให้ความช่วยเหลือต่อถึง ธ.ค. 65) การตรึงราคาขายปลีกก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ที่ 15.59 บาท/กิโลกรัม กลุ่มผู้ใช้รถ NGV ส่วนบุคคล และ ตรึงราคาขายปลีก NGV ในโครงการ “เอ็นจีวี เพื่อลมหายใจเดียวกัน” สำหรับผู้ประกอบอาชีพขับขี่รถแท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ 13.62 บาท/กิโลกรัม (ตั้งแต่ 16 พ.ย. 64-15 ก.ย. 65 และล่าสุดให้ความช่วยเหลือต่อถึง ธ.ค. 65)


 พร้อมกันนี้ ยังบรรเทาภาระต้นทุนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อบรรเทาภาระต้นทุนผลิตไฟฟ้าให้กับประชาชน โดยเลื่อนกำหนดชำระเงินค่าก๊าซฯ งวดเดือนพฤษภาคม 2565 มูลค่า 13,000 ล้านบาทจาก กฟผ. ออกไป 4 เดือน และไม่เรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยมูลค่าประมาณ 340 ล้านบาทที่จะเกิดขึ้น เพื่อมีส่วนช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับ กฟผ. ในการแบกรับต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับประชาชน รวมถึงจัดหาน้ำมันดิบเพื่อเพิ่มปริมาณสำรอง การตรึงราคาขายปลีกน้ำมัน และการนำร่องสนับสนุนเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นกรณีพิเศษจำนวน 3,000 ล้านบาท สนับสนุนภาครัฐ ในการแบ่งเบาภาระค่าพลังงานของประชาชน รวมทั้งเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านพลังงานของประเทศ


“ผมเชื่อมั่นว่า หากเราทุกคนร่วมมือร่วมใจ ดำเนินภารกิจให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป ปตท.จะยังคงแข็งแกร่งและเป็นพลังช่วยผลักดันให้ทุกชีวิตเติบโตได้อย่างยั่งยืนตลอดไป”

...นั่นคือคำกล่าวของซีอีโอ ปตท. 

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,824 วันที่ 6 - 8 ตุลาคม พ.ศ. 2565