ค่าใช้จ่ายคนไทยพุ่ง 18,207 บาทต่อเดือน เปิด 5 อันดับสูงสุด

07 ม.ค. 2568 | 06:30 น.

สนค. เผย ค่าใช้จ่ายของครัวเรือน เดือนธ.ค. 67 เฉลี่ย 18,207 บาทต่อเดือน เปิด 5 อันดับใช้จ่ายสูงสุด ค่าเดินทาง-ค่าเช่าบ้าน-อาหาร Delivery-เนื้อสัตว์-อาหารตามสั่ง

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ของไทยเดือนธันวาคม 2567 เท่ากับ 108.28 เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2566 ซึ่งเท่ากับ 106.96 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น 1.23%

ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก) สูงขึ้น 0.79% ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากเดือน พฤศจิกายน 2567 ที่สูงขึ้น 0.80%

ทั้งนี้ จากข้อมูลกองดัชนีเศรษฐกิจการค้า สนค. รายงานค่าใช้จ่ายของครัวเรือน เดือนธันวาคม 2567 พบว่า ประชาชนมีค่าใช้จ่าย เฉลี่ย 18,207 บาทต่อเดือน

โดยกลุ่มหมวดสินค้าที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ พบว่ามีค่าใช้จ่าย เฉลี่ย 58.20% ต่อเดือน ประกอบด้วย

  • ค่าโดยสารสาธารณะ ค่าซื้อยานพาหนะ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าบริการโทรศัพท์มือถือ 4,222 บาทต่อเดือน เฉลี่ย 23.19%
  • ค่าเช่าบ้าน ค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน 4,004 บาทต่อเดือน เฉลี่ย 21.99%
  • ค่าแพทย์ ค่ายาและค่าบริการส่วนบุคคล 983 บาทต่อเดือน เฉลี่ย 5.40%
  • ค่าหนังสือ ค่าสันทนาการ ค่าเล่าเรียน และการกุศลต่าง ๆ 768 บาทต่อเดือน เฉลี่ย 4.22%
  • ค่าเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม และรองเท้า 373 บาทต่อเดือน เฉลี่ย 2.05%
  • ค่าบุหรี่ ค่าเหล้า ค่าเบียร์ 245 บาทต่อเดือน เฉลี่ย 1.34% 

ขณะที่ หมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 41.80% ต่อเดือน

  • อาหารบริโภคในบ้าน Delivery 1,681 บาทต่อเดือน เฉลี่ย 9.24%
  • เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ 1,652 บาทต่อเดือน เฉลี่ย 9.07%
  • อาหารบริโภคนอกบ้าน (ข้าวราดแกง อาหารตามสั่ง KFC Pizza) 1,295 บาทต่อเดือน เฉลี่ย 7.12%
  • ผักและผลไม้ 1,001 บาทต่อเดือน เฉลี่ย 5.50%
  • ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง 717 บาทต่อเดือน เฉลี่ย 3.94%
  • เครื่องปรุงอาหาร 438 บาทต่อเดือน เฉลี่ย 2.41%
  • เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 418 บาทต่อเดือน เฉลี่ย 2.30%
  • ไข่และผลิตภัณฑ์นม 408 บาทต่อเดือน เฉลี่ย 2.24%

อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบค่าใช้จ่ายทั้งหมดโดยไม่ได้แบ่งหมวดกลุ่มสินค้าพบว่า ประชาชนมีค่าใช้จ่าย 5 อันดับ ได้แก่

  1. ค่าโดยสารสาธารณะ ค่าซื้อยานพาหนะ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าบริการโทรศัพท์มือถือ
  2. ค่าเช่าบ้าน ค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน 
  3. อาหารบริโภคในบ้าน Delivery
  4. เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ 
  5. อาหารบริโภคนอกบ้าน เช่น ข้าวราดแกง อาหารตามสั่ง KFC Pizza