ไทย ชูโมเดล BCG เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรลุยในตลาดโลก

22 พ.ย. 2567 | 16:47 น.
อัปเดตล่าสุด :22 พ.ย. 2567 | 16:48 น.

“นฤมล” พลิกชีวิตเกษตรกรไทย รับมือสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ชูโมเดล BCG เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ลุยตลาดโลก ตั้งเป้าสร้างความเท่าทียมให้เกษตรกรรายย่อย

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีเกษตรของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 3 กล่าวว่า ขณะนี้ ทั่วโลกกำลังเผชิญกับความท้าทาย ตั้งแต่ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ระบบอาหารที่ยั่งยืนจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) เพื่อบรรลุความท้าทายนี้ระบบอาหารโลกจะต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงเพื่อความยั่งยืน โดยมีการดำเนินการที่ประสานงานกันในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับโลก

ไทย  ชูโมเดล BCG เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรลุยในตลาดโลก

"ประเทศไทย" มีนโยบายรับมือกับความท้าทายต่างๆ โดยยึดหลักการขับเคลื่อนด้วยตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ โดยใช้โมเดลกล่าวสนับสนุนเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green)  ควบคู่ไปกับการใช้ทรัพยากรที่ดินและน้ำอย่างยั่งยืนเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ การเปลี่ยนแปลงระบบเกษตรและอาหารจะช่วยให้ภาคการเกษตรปรับตัวเข้ากับความท้าทายได้ดีขึ้น ขณะเดียวกัน จะส่งเสริมการพัฒนาการเติบโตที่ครอบคลุมโดยให้ความสำคัญกับเกษตรกรรายย่อย สตรี เยาวชน และกลุ่มด้อยโอกาสอื่นๆ เข้าถึงทรัพยากรและโอกาสต่างๆ อย่างเท่าเทียมกัน

นอกจากนี้ ประเทศไทยมีศักยภาพอย่างมากในด้านห้องปฏิบัติการวินิจฉัยโรคสัตว์ การควบคุมโรคระบาดสัตว์ข้ามพรมแดน การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพ เกษตรอัจฉริยะอัจฉริยะ  เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงโครงการหมอดินอาสาสมัคร ซึ่งประเทศไทยสามารถสนับสนุนและร่วมมือกับประเทศสมาชิกในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

ไทย  ชูโมเดล BCG เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรลุยในตลาดโลก

ในนามประเทศไทย รัฐมนตรีกล่าวสนับสนุนกรอบยุทธศาสตร์คุนหมิงสำหรับการเปลี่ยนแปลงระบบเกษตรอาหาร ภายใต้ GMS 2030 ซึ่งเป็นกรอบการดำเนินงานสำหรับประเทศสมาชิกของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และมุ่งหวังการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมในอนุภูมิภาค ทั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญของ GMS ที่รัฐมนตรีเกษตรของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่ได้ร่วมกันรับรองกรอบยุทธศาสตร์คุนหมิง เพื่อแสดงความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างความแข็งแกร่ง ความยืดหยุ่น และความยั่งยืนให้กับภาคการเกษตรและอาหารในอนุภูมิภาค

อนึ่ง เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างกรอบยุทธศาสตร์คุนหมิงสําหรับการเปลี่ยนแปลงระบบเกษตรอาหาร ภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 2030

 สาระสำคัญ
                   1. การประชุมรัฐมนตรีเกษตรของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 3 (The 3rd  GMS Agricultural Ministers’ Meeting) และการประชุมที่เกี่ยวข้อง จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 - 22 พฤศจิกายน 2567 ณ นครคุณหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน และที่ประชุมฯ จะพิจารณารับรองร่างเอกสาร 1 ฉบับ คือ ร่างกรอบยุทธศาสตร์คุนหมิงสําหรับการเปลี่ยนแปลงระบบเกษตรอาหาร ภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 2030 (GMS 2030 Kunming Strategic Framework for Transformation of Agrifood Systems)
                   2. ร่างกรอบยุทธศาสตร์คุนหมิงฯ มีสาระสําคัญ โดยเป็นกรอบยุทธศาสตร์ในการดําเนินงานด้านการเกษตรของประเทศสมาชิกในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ในระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2568-2573) เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานและความพร้อมในการรับมือต่อผลกระทบและความท้าทายที่เป็นภัยต่อความยั่งยืน และความสามารถในการฟื้นตัวของระบบเกษตรอาหาร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การตัดไม้ทําลายป่า และการเสื่อมสภาพของสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร โดยมุ่งเน้นการยกระดับความร่วมมือของอนุภูมิภาค การเสริมสร้างขีดความสามารถ และสนับสนุนเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม ซึ่งครอบคลุมการดําเนินงานที่สําคัญ ดังนี้ 1) การเกษตรที่มีความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมและมีความสามารถในการปรับตัวต่อสภาพอากาศ 2) ระบบความปลอดภัยทางอาหาร คุณภาพ และการตรวจสอบย้อนกลับ 3) ความหลากหลายทางอาหารและการเพิ่มประสิทธิภาพห่วงโซ่คุณค่า รวมถึงประเด็น Cross-cutting Issues ได้แก่ เยาวชน ความเท่าเทียมทางเพศ และกลุ่มที่ด้อยโอกาส เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม การมีส่วนร่วมของภาครัฐและเอกชนในกลไกทางการเงิน


                   ประโยชน์และผลกระทบ
                   กรอบยุทธศาสตร์คุนหมิงฯ เป็นการแสดงความมุ่งมั่นของประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในการแก้ไขปัญหาความท้าทายที่เป็นภัยต่อความยั่งยืนและความสามารถในการฟื้นตัวของระบบเกษตรอาหาร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การตัดไม้ทําลายป่า และการเสื่อมสภาพของสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร โดยกรอบการดําเนินงานในการเปลี่ยนแปลงระบบเกษตรอาหาร โดยให้ทุกภาคส่วนบูรณาการร่วมกัน ครอบคลุม และมีความสามารถในการแข่งขันระดับโลก เพื่อให้มีผลิตภัณฑ์เกษตรอาหารที่สะอาด ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบสนองต่อความต้องการ ที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคอาหารคุณภาพสูง ปลอดภัย และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทั้งในตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ นอกจากนี้ กรอบยุทธศาสตร์ยังตระหนักถึงความสําคัญของการให้การสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย สตรี เยาวชน และกลุ่มผู้ด้อยโอกาสที่มักถูกละเลยในระบบเกษตรแบบดั้งเดิม เพื่อให้แน่ใจว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดสามารถเข้าถึงทรัพยากร โอกาส และประโยชน์ทางการตลาดได้อย่างเท่าเทียมกัน