นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดใจถึงภาพรวมการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเราวางแผนร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เราต้องการขับเคลื่อนให้เชียงใหม่เป็นเป้าหมายการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ซึ่งเราต้องการกลับมาให้เท่ากับก่อนโควิด-19 ให้ได้
ก่อนโควิด-19 มีนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวกว่า 1.2 ล้านคน ซึ่งในปี 2567 ที่ผ่านมา เชียงใหม่มีนักท่องเที่ยวเท่ากับก่อนเกิดโควิดแล้ว ดังนั้นเป้าหมายต่อไปในปี 2568 นี้ เราก็มองว่าจะทำให้สูงกว่าก่อนโควิดไม่มากนัก
โดยตั้งเป้าไว้ที่ มากกว่า 12 ล้านคนนิดหน่อย แต่เราคงไม่มากไปกว่านี้ เนื่องจากความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวของเชียงใหม่ก็จะอยู่ประมาณนี้
แต่สิ่งที่ทำให้เชียงใหม่มีรายได้เพิ่มขึ้น คือ 1.จำนวนวันพักเฉลี่ย จากเดิมค่าเฉลี่ยไม่เกิน 3 วัน เราก็ยืดวันพักเฉลี่ยไปเป็น 4 วันหรือมากกว่านั้น จากเดิมเคยใช้จ่ายไม่เกิน 1,500 บาท ก็นำเสนอสินค้าที่น่าสนใจมากขึ้น ก็เพิ่มเป็นวันละ 2,000 บาท โดยสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้เชียงใหม่เพิ่มจาก 1.2 แสนล้านบาท เป็น 1.6 แสนล้านบาทในปีนี้
การขับเคลื่อนรายได้เชียงใหม่จะทำให้มีช่องว่างระหว่างไฮซีซันและโลว์ซีซัน ไม่ต่างกันมาก เหมือนแต่ก่อน โดยทำช่วงไฮซีซันให้ยาวขึ้น ไม่ใช่แค่มาเที่ยวครึ่งหลังของเดือนธันวาคมจนถึงต้นเดือนมกราคมเท่านั้น แค่ 30 วันเท่านั้น แล้วอีก 11 เดือนจะทำอย่างไร
เราจึงพยายามทำให้ขายไฮซีซันได้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนทั้งเดือน จนถึงกุมภาพันธ์ทั้งเดือน ทำ 4 เดือนนี้ให้เป็นไฮซีซัน โดยมีทั้งการจัดอีเว้นท์ดึงนักท่องเที่ยว การสร้างความมั่นใจว่าเชียงใหม่เป็นเมืองที่สะอาด และมีความปลอดภัย จากวัฒนธรรมล้านนา ที่ไม่ทำร้ายนักท่องเที่ยว
แต่เราก็จะมีการจับตาคนย้ายถิ่นเข้ามาในเชียงใหม่ คิดเป็นสัดส่วน 45 % พยายามป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา และตัดไฟแต่ต้นลม ไม่ให้เกิดมาเฟียในพื้นที่ โดยฝ่ายปกครองและตำรวจเข้าใจตรงกันว่าจะสกัด ปราบปรามไม่ให้เกิดในเชียงใหม่เหมือนในเมืองท่องเที่ยวหลักอื่นๆ เพราะถ้าเกิดแล้วจะแก้ยาก
ผู้ว่าเชียงใหม่ ยังกล่าวต่อว่า ปีนี้ยอมรับว่าการทำให้การท่องเที่ยวช่วงไฮซัซัน เป็นโจทย์ยากมาก เพราะเดือนตุลาคม 2567 ที่ผ่านมาเจอปัญหาอุทกภัย จนเราเคยถูกพยากรณ์ว่าเชียงใหม่จะแย่ นักท่องเที่ยวยกเลิก รายได้จะหาย
แต่เราทำทุกอย่างเคลียร์พื้นที่ให้กลับมาสู่ปกติแล้วเสร็จสิ้นเดือนตุลาคม เน้นสร้างความเชื่อมั่น ทำให้ในเดือนพฤศจิกายน นักท่องเที่ยวพุ่งเข้าสู่จุดพีค
วัดได้จากการเดินทางเข้าสู่สนามบินเชียงใหม่ เรารับได้วันละ 3 หมื่นคน ก็มีนักท่องเที่ยวเข้ามา 3 หมื่นคน ตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน มาจนวันนี้เดือนมกราคม 2568 เกือบ 3.4 หมื่นคนต่อวันเฉพาะที่เดินทางผ่านสนามบินเชียงใหม่
ทั้งนี้ยังไม่รวมการเดินทางทางรถที่มากกว่านี้ 10 เท่า ซึ่งศักยภาพของสนามบินรองรับผู้โดยสารได้แค่นี้ จนกว่าแผนขยายสนามบินเชียงใหม่ของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. จะดำเนินการแล้วเสร็จ
ปัจจุบันเชียงใหม่มีตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ตะวันออกกลาง อินเดีย จีน สหรัฐอเมริกา โดยมีการเปิดบินตรงเข้าเชียงใหม่มากขึ้น อาทิ สายการบินเอทิฮัด ทำให้มีนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางเพิ่มขึ้น และสายการบินอินดิโก้ จากอินเดีย ก็เตรียมจะเปิดบินตรงสู่เชียงใหม่ในปีนี้
ทำให้เชียงใหม่จะมีตลาดใหม่ๆเข้ามาเพิ่มขึ้น โดยที่ไม่ได้ไปแบกน้ำหนักอยู่ที่ตลาดนักท่องเที่ยวจีนอย่างเดียวเหมือนเมื่อก่อน ขณะเที่ยวบินตรงจากเอเชียตะวันออกก็มีอยู่แล้วมีทุกเมือง เช่น จีน 7 เมือง เกาหลี ญี่ปุ่น บินทุกวัน
ส่วนตลาดสหรัฐอเมริกามาเที่ยวเชียงใหม่อยู่แล้ว และเพิ่มขึ้นมาก แต่ต้องบินผ่านญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เพราะไม่มีบินตรงไทยไปต่อเครื่องที่ญี่ปุ่น และการเปิดสนามบินเชียงใหม่ 24 ชั่วโมง ก็ส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวเพราะทำให้เกิดการเชื่อมโยงเส้นทางบินระหว่างประเทศได้สะดวก
อย่างไรก็ตามปัจจัยท้าทายคือในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ คนเริ่มมีความกังวลเรื่องฝุ่นในเชียงใหม่ เราก็รับมือในเรื่องนี้ตั้งแต่ฝุ่นยังไม่มา โดยหยุดการเผาในพื้นที่เชียงใหม่ ซึ่งเป็นส่วนที่เราควบคุมได้เอง เพื่อลดฝุ่น PM 2.5 จากต้นตอ
โดยเปลี่ยนพื้นที่เตรียมเผา เป็นการไถกลบ เอาไปเลี้ยงสัตว์ ไปทำประโยชน์ รับซื้อใบไม้หน้าป่าทุกป่า เพื่อสร้างรายได้ โดยไม่ต้องไปเผาป่าหาเห็ด หาสัตว์ป่าแล้วไฟไหม้ทั้งป่า ซึ่งปีที่แล้วลดการเผาป่าไปได้กว่า 50 % โดยปีที่แล้วเชียงใหม่มีการเผาป่าราว 1 ล้านไร่ ลดเหลือ 5 แสนไร่ ปีนี้เราก็ต้องลดให้ได้มากขึ้น
เราจะพยายามเปลี่ยนพื้นที่เตรียมเผา เป็นการไถกลบทุกอำเภอ โดยขณะนี้ดำพืเนินการได้ 100% แล้ว ใน 19 อำเภอ รวมพื้นที่กว่า 231,642 ไร่ ทำให้ปัจจุบันปัญหาฝุ่นลดลงถึง 92% เทียบกับช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
ณ วันนี้เรายังถือว่าควบคุมได้อยู่ การเผาในพื้นที่ได้ดีอยู่ และคนที่เคยเผาเห็นประโยชน์ก็ให้ความร่วมมือ แต่อย่างไรก็ตามปัญหาฝุ่นที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะเกิดจากการเผาป่าในประเทศ 50% ส่วนอีก 50% มาจากการเผาของประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งเราพยายามจะลดการเผาในประเทศให้ได้มากที่สุด
ส่วนการแก้ปัญหาในระยะยาวก็ได้มีการหารือกับฝ่ายวิชาการต่างๆที่จะ เราเปลี่ยนชนิดการปลูกพืชจากพืชเชิงเดียวอย่างข้าวโพด เป็นพื้นยืนต้น อย่างกาแฟ หรืออย่างอื่นที่ชาวบ้านอยากปลูก เพื่อลดการเผาพื้นที่บนเขาไปปลูกข้าวโพด อย่าง กาแฟ
ผมก็ทำข้อตกลงกับทางอเมซอน ไว้แล้วโดยปตท.จะรับซื้อกาแฟจากการผลิตกาแฟแปลงใหญ่ 2 หมื่นตัน ตีเป็นพื้นที่ปลูกได้กว่า 1.5 ไร่ เรามองพื้นที่แม่แจ่ม และพื้นที่สูงเกิน 800 เมตรจึงจะปลูกกาแฟได้ โดยเราจะหาพันธุ์ ส่งเสริมให้ปลูก และหาแหล่งขายให้
แต่สิ่งสำคัญ คือ การหล่อเลี้ยงชาวบ้านในช่วง 3-4 ปีที่ผลิตภัณฑ์ยังไม่ออกทางรัฐบาลต้องมีมาตรการช่วยเหลือ ซึ่งเรื่องนี้อยู่ระหว่างการหารือ
ผู้ว่าเชียงใหม่ ย้ำว่า ตอนนี้สภาพอากาศในเชียงใหม่ยังดีอยู่ ยิ่งอากาศหนาวคนก็เดินทางมาเที่ยว เดือนมีนาคมฝุ่นจะมา เดือนเมษายน เราไม่กังวล เพราะแม้จะมีเรื่องฝุ่น แต่คนก็ยังเดินทางมาเที่ยวสงกรานต์ที่เชียงใหม่เหมือนทุกปี
ส่วนหน้าฝนเราก็เน้นขายการท่องเที่ยวช่วงหน้าฝน ซึ่งเป็นฝนหยดแรกของประเทศไทย เพราะน้ำหยดแรกของแม่น้ำเจ้าพระยามาจากแม่น้ำปิง น้ำหยดแรกของแม่น้ำปิงมาจากเชียงใหม่
เราพยายามขายความเฟรช ซึ่งวันนี้ตลาดใหม่ตอบโจทย์แล้ว อย่างอินเดีย ตะวันออกกลาง ตลาดตะวันตกมีมากขึ้น มาทดแทนตลาดจีนที่ยังไม่กลับมาเหมือนเดิม ซึ่งก็ทำให้ยอดนักท่องเที่ยวเชียงใหม่ไม่ตก แม้จีนจะยังไม่ได้บินเท่าเดิม แต่ยุโรปเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกันเชียงใหม่ก็จะมีโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวเดินทางได้สะดวกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การเดินทางมาเที่ยวน้ำพุร้อนสันกำแพง ซึ่งอยู่ใกล้เมือง ก็จะขยายถนนเป็น 4 เลนมาถึงที่นี่เลย
การปรับปรุงน้ำพุร้อนสันกำแพง ซึ่งได้รับงบจากกรมการท่องเที่ยว ราว 200-300 ล้านบาท ปรับปรุงอาคารให้ทันสมัย ทำออนเซ็นให้ตอบโจทย์สายสุขภาพ ใช้เวลา 2 ปีจะแล้วเสร็จ สร้างภาพลักษณ์ใหม่เป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาใช้บริการ
รวมถึงการขยายสนามบินเชียงใหม่ จะดำเนินการในปี 2568 จากวันนี้รับได้ 8.5 ล้านคน จะขยายเป็น 20 ล้านคนต่อปี จาก 3.4 หมื่นคนต่อวัน รับมา 5-6 หมื่นคนต่อวัน ถือว่าเพียงพอแล้วสำหรับเชียงใหม่
ขณะเดียวกันเชียงใหม่มีจุดขายอยู่ในทุกอำเภอ เราพัฒนาระบบโลจิสติกส์เชื่อมต่อให้ดีในการนำคนไปยังอำเภอต่างๆ และจังหวัดใกล้เคียง แม่ฮ่องสอน ไปต่อ ลำพูน ลำปาง จึงจะเห็นว่าคนในเมืองจึงไม่เคยล้นเชียงใหม่
โดยลดปริมาณคนเข้าตัวเมืองเชียงใหม่ แต่ให้ผ่านเมืองเชียงใหม่ออกไป ซึ่งเรามีถนนวงแหวน 1 หรือซุปเปอร์ไฮเวย์อยู่แล้ว มีถนนวงแหวน 2 ถนนจิตสมโภช 700 ปี ทำให้เกิดการใช้งานและรถไม่มาติดในตัวเมืองเชียงใหม่
ส่วนวงแหวน 3 ซึ่ง มี 4 เลน ไฟแดงอีก 13 แยก ก็ได้มีการนำเสนอรัฐบาลแล้วว่าจะสร้างสะพานข้ามแยกให้ครบ และขอเป็น 6 เลน จะเริ่มดำเนินการปี 2568-2570 ใช้งบหลายพันล้านบาท ซึ่งต่อไปรถก็จะวิ่งเข้าวงแหวน 3 แล้วเบี่ยงไปแม่ริม
รวมถึงการทำถนน 4 เลนในเส้นทางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 116 ทำให้การเดินทางจากดอยติ จ.ลำพูน ตัดเข้าสันป่าตองเชียงใหม่ มาเที่ยวดอยอินทนนท์ สะดวกขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้าตัวเมืองเชียงใหม่ เพื่อขึ้นดอยอินทนน์
รวมถึงถนนเส้นเหนือ 107 เชียงใหม่ แม่ริม แม่แตง แม่ฮ่องสอน ไปถึงแม่อาย เป็น 4 เลนตลอดสาย เริ่มดำเนินการแล้ว จะแล้วเสร็จหลังจากปี 2570 และเสนอถนนไปแม่ฮ่องสอน เส้นทางแม่มาลัย ไปปางมะผ้า ปาย แม่ฮ่องสอน เสนอให้ขยายจาก 2 เลยเป็น 4 เลน ซึ่งรัฐบาลเห็นชอบแล้ว
ทั้งหมดล้วนเป็นทิศทางในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชียงใหม่ ของผู้ว่าฯ ที่เกิดขึ้น
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,068 วันที่ 6 - 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568