ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมูลค่ารวม 2.2 - 2.4 แสนล้านบาทกลับมาคึกคักและส่งสัญญาณฟาดฟันกันตั้งแต่ต้นปี ถือเป็นการฉีกตลาดกับการปรับแนวรบ รุกก่อนสร้างยอดขายก่อน โดยเฉพาะตลาดเครื่องปรับอากาศ ที่แม้สภาพอากาศในช่วงต้นปีค่อนข้างเย็นและคาดว่าจะยาวนานไปจนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ แต่การแข่งขันกลับสวนทางระอุขึ้น โดยไม่ต้องรอเข้าซัมเมอร์
ด้วยหลากปัจจัยทั้งการแข่งขันเพื่อช่วงชิงยอดขายก่อนคู่แข่ง อานิสงส์จากโครงการ Easy E-Receipt 2.0 ที่กระตุ้นให้คนออกมาจับจ่ายซื้อสินค้าเพื่อนำไปลดหย่อนภาษี รวมไปถึงการมาของฝุ่น PM2.5 ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้คนไทยหันมาซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าเร็วขึ้นกว่าทุกปี
TCL หนึ่งในแบรนด์สัญชาติจีน ที่สร้างปรากฏการณ์คว้าแชมป์ตลาดเครื่องปรับอากาศภายในบ้านในประเทศไทย ปี 2567 โดยสามารถกวาดยอดขายมาได้ 8,000 ล้านบาท ผลจากการลงทุนอย่างหนักทั้งในด้านการผลิตและการตลาด ซึ่งในปีนี้ TCL ตั้งเป้ายอดขายรวม 1 หมื่นล้านบาท คาดเฉพาะในไตรมาสแรกคาดว่าโครงการ Easy E-Receipts 2.0 จะช่วยกระตุ้นยอดขายได้ 20-30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
“แกรี่ จ้าว” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีซีแอล อิเล็กทรอนิกส์ (ไทยแลนด์) จำกัด หรือ TCL บอกว่า ปีนี้ทีซีแอลขนทัพสินค้าพรีเมี่ยม นวัตกรรมเฉพาะตัว พร้อมอัพเกรดบริการหลังการขายมาใช้เป็นกลยุทธ์สำคัญในการเดินหน้ารุกตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าเมืองไทย รวมทั้งเพิ่มงบการตลาดสูงขึ้นจากปีก่อนอีก 40% โดยนำร่องรุกทำตลาดเครื่องปรับอากาศเป็นหลัก พร้อมตั้งเป้าหมายที่จะมียอดขาย 5 แสนเครื่องในปีนี้
โดยไฮไลท์จะเป็นรุ่น FreshIN 3.0 ที่คาดว่าจะทำยอดขายได้ 1 หมื่นเครื่องในปีนี้ หลังจากที่ปี 2567 ทำยอดขายแอร์ได้ 3.8 แสนเครื่อง ส่วนทีวี ตั้งเป้ายอดขาย 4 แสนเครื่อง ส่วนปี 2567 ทำยอดขายได้ 3 แสนเครื่อง และในปี 2570 คาดว่าจะมียอดขาย 1.7 หมื่นล้านบาท และมีส่วนแบ่งตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้า 20% จากการที่แอร์ และทีวีเป็นเบอร์ 1 ส่วนตู้เย็นและเครื่องซักผ้าอยู่ใน Top 3 ซึ่งจะทำให้แบรนด์ขึ้นเป็นเบอร์ 1 ได้
“ต่ง เจี้ยนผิง” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไฮเออร์ อีเลคทริคอล แอพพลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและการส่งออกในปี 2568 มีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัว โดยคาดการณ์ว่าภาพรวมการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าจะขยายตัวอยู่ที่ 1.2%YoY (ข้อมูลอ้างอิงจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC) โดยไฮเออร์เองตั้งเป้าที่จะมียอดขายในปีนี้ราว 1.4 หมื่นล้านบาท เติบโต 28% โดยจะใช้งบด้านการตลาดกว่า 1,200 ล้านบาท
ขณะที่ในปีที่ผ่านมา บริษัทมียอดขายกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท เติบโต 22% จากปี 2566 ที่มียอดขาย 9,070 ล้านบาท โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดในเชิงปริมาณที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในแต่ละประเภท ดังนี้ ยอดขายเครื่องปรับอากาศภายในบ้านครองอันดับ 1 ของตลาดด้านจำนวนในตลาดออฟไลน์ ด้วยยอดขาย 5,100 ล้านบาท เติบโต 26%
ทั้งนี้ ไฮเออร์ทุ่มงบกว่า 1 หมื่นล้านบาทในการลงทุนสร้างโรงงานแห่งใหม่ในประเทศไทยที่ จ.ชลบุรี พร้อมเริ่มเดินเครื่องการผลิตได้ในเดือนต.ค. 2568 มีกำลังการผลิตเครื่องปรับอากาศประมาณ 3 ล้านเครื่อง และปีต่อไปจะเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้ 6 ล้านเครื่อง รองรับการทำตลาดทั้งในไทย อาเซียน รวมถึงในระยะยาว รองรับส่งออกไปในยุโรปและสหรัฐฯ คาดว่าสัดส่วนการผลิตแบ่งเป็น ไทย 30% และส่งออก 70%
ขณะที่ “อเล็กซ์ มา” รองประธานบริษัท บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด กล่าวถึงภาพรวมตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ทั้งในหมวดตู้เย็น เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านขนาดเล็กไม่รวมทีวี ในประเทศไทยว่า ปี 2567 มีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 8.3 หมื่นล้านบาท เติบโต 9% หรือคิดเป็น 21 ล้านเครื่อง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ สินค้าชิ้นใหญ่ (Major Appliance) อาทิ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า และเครื่องปรับอากาศ มีมูลค่าตลาดประมาณ 6.5 หมื่นล้านบาท เติบโต 11% หรือคิดเป็น 5.6 ล้านเครื่อง เติบโตราว 8% และสินค้าขนาดเล็ก (Small Appliance) อาทิ หม้อหุงข้าว ไมโครเวฟ เครื่องทำน้ำอุ่น พัดลม เป็นต้น มีมูลค่าตลาดประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท เติบโตทรงตัว หรือคิดเป็น 15.4 ล้านเครื่อง เติบโตราว 3%
“สำหรับปีนี้แบรนด์ทุ่มงบการตลาดเพิ่มขึ้น 14% ของรายได้ จากเดิม 10-12% เพื่อทุ่มทำการตลาดแบบ 360 องศา ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ ตั้งเป้ายอดขายเติบโต 25% และตั้งเป้าหมายที่จะเป็นแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน อันดับ 1 ในประเทศไทย”
นอกจากนี้โตชิบายังประกาศใช้งบลงทุนราว 5,000 ล้านบาท สร้างโรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศแห่งใหม่ในนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดและการขยายฐานการผลิตในภูมิภาคอาเซียน โดยตั้งเป้าหมายยอดขายเติบโต 25% ในปี 2568 พร้อมกันนี้ยังมีแผนเปิดตัวสินค้าใหม่กว่า 53 รุ่น มุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงบนที่ให้ความสำคัญกับดีไซน์และคุณสมบัติของสินค้า
ด้าน “โทชิยูกิ อีซูกะ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค กันยงวัฒนา จำกัด กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาถือได้ว่าเป็นปีที่เต็มไปด้วยความท้าทาย ทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ล่าช้า ปัญหาหนี้ครัวเรือนในระดับสูง ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น ขณะที่ตลาดเครื่องปรับอากาศรวมปี 2567 มีมูลค่า 3.12 หมื่นล้านบาท ตลาดยังคงแข่งขันดุเดือดอย่างต่อเนื่อง อย่างยิ่งในแง่ของสงครามราคา ขณะที่ในปีนี้ตลาดเครื่องปรับอากาศคาดว่าจะมีมูลค่ารวม 3.35 หมื่นล้านบาท
ทางมิตซูบิชิยังสามารถรักษาส่วนแบ่งการตลาดอันดับหนึ่งในหมวดเครื่องปรับอากาศภายในบ้านด้วยส่วนแบ่งการ 30% รวมถึง พัดลมระบายอากาศ และปั๊มน้ำ โดยในปีงบประมาณ 2567 (สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 68) คาดการณ์ว่ายอดขายรวมของบริษัท จะเติบโตเทียบเท่ากับปี 2566 และตั้งเป้าหมายการเติบโตของยอดขายในปีงบประมาณ 2568 ไว้ที่ 10%
“ตลาดเครื่องปรับอากาศปีนี้ มีแนวโน้มเติบโต 5% โดยปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ส่งผลให้โรงแรมและที่พักต่างๆ ต้องการเครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การเติบโตของธุรกิจ Data Center ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันตลาดให้ขยายตัว โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับภาคธุรกิจ (B2B)
“เครื่องปรับอากาศถือเป็นเรือธงหลักของมิตซูบิชิมีสัดส่วนรายได้กว่า 50% บริษัท จึงตั้งเป้าหมายยอดขายเครื่องปรับอากาศในปีนี้ให้เติบโต 10% วางงบการตลาดและสร้างการรับรู้แบรนด์ไว้กว่า 1,200 ล้านบาท โดยมุ่งเน้นการสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่”
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,066 วันที่ 30 มกราคม - 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568