ตลาดสุกี้ในเมืองไทยตอนนี้ร้อนแรงต่อเนื่อง สองแบรนด์ใหญ่คือ "MK" ที่อยู่มานาน กับ "ตี๋น้อย" น้องใหม่ไฟแรง กำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือดเพื่อช่วงชิงใจลูกค้าคนไทย
MK อยู่ภายใต้การบริหารของบริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าตลาดสุกี้ที่อยู่มานานกว่า 39 ปี มีลูกค้าประจำมาก เมนูอาหารหลากหลาย แต่ช่วงหลังๆ เริ่มมีคู่แข่งรายใหม่เข้ามาท้าทาย ส่วน ตี๋น้อย บริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองก์ กรุ๊ป จำกัด เป็นแบรนด์น้องใหม่ที่เปิดตัวมาได้แค่ 5 ปี แต่เติบโตอย่างเร็ว กำลังไล่จี้ MK อย่างใกล้ชิด
MK Restaurants สร้างความฮือฮาด้วยการปรับกลยุทธ์ทางการตลาดครั้งใหญ่ ผ่านการเปลี่ยนชื่อ 4 สาขาหลัก ได้แก่
จากเดิมที่เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ "MK Restaurants" มาเป็น "Mongkol Restaurants" หรือ "มงคล เรสโตรองต์" โดยมีเป้าหมายเพื่อขี่กระแส "มูเก็ตติ้ง" หรือการตลาดที่ผูกโยงกับความเชื่อและความเป็นสิริมงคล เพื่อดึงดูดลูกค้าในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่กำลังจะมาถึง
การตัดสินใจครั้งนี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของ MK Restaurants ที่ดำเนินธุรกิจมาแล้วกว่า 39 ปี โดยทางบริษัทได้ให้เหตุผลว่า "ต้องการเสริมสร้างความเป็นสิริมงคลให้กับทุกครอบครัวในช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนให้ความสำคัญกับเรื่องของความเชื่อและโชคลาภเป็นอย่างมาก"
การนำกลยุทธ์ "มูเก็ตติ้ง" มาใช้ในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของ MK Restaurants ในการปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับประสบการณ์และความหมายที่ได้จากการบริโภคสินค้าและบริการมากขึ้น
การเปลี่ยนชื่อสาขาเป็น "Mongkol Restaurants" นอกจากจะเป็นการสร้างความแตกต่างและดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคแล้ว ยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่เป็นมิตรและเข้าถึงง่ายมากยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อเรื่องความเป็นสิริมงคลที่คนไทยให้ความสำคัญ
"Mongkol Restaurants" ได้สร้างกระแสความสนใจและการพูดถึงในวงกว้างบนโลกโซเชียลมีเดีย ในกลุ่มผู้บริโภคที่ให้ความสนใจในเรื่องของความเชื่อและโชคลาภ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้มีผู้บริโภคจำนวนมากเดินทางไปยังสาขาที่เปลี่ยนชื่อเพื่อสัมผัสประสบการณ์ใหม่ ๆ และถ่ายภาพลงบนโซเชียลมีเดีย จะช่วยในการประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ให้กับแบรนด์มากยิ่งขึ้น
ผลประกอบการ M ในช่วงไตรมาส 3/2567 มีกำไรสุทธิ 341 ล้านบาท ลดลง 12.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่งผลให้งวด 9 เดือนปี 67 มีกำไรสุทธิ 1,088 ล้านบาท ลดลง 7.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ในไตรมาส 3/2567 มีรายได้จากการขายและบริการเท่ากับ 3,683 ล้านบาท ลดลง 10.1% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และยอดขายสาขาเดิมก็ได้ปรับลดลง 12.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่อ่อนตัวลงจากค่าครองชีพและภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น
ส่วนรายได้จากการขายและบริการสำหรับงวด 9 เดือนของปี 2567 นั้นเท่ากับ 11,735 ล้านบาทลดลง 7% จากงวดเดียวกันของปี ก่อนหน้า แต่ยอดขายสาขาเดิมก็ได้ปรับลดลง 9.9% เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
สำหรับแบรนด์ร้านอาหารเอ็มเค ยังถือเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้หลัก ซึ่งพบว่า มีสัดส่วนรายได้จากการขายและบริการกว่า 72% ตามด้วย ยาโยอิ 18% แหลมเจริญ 7% และอื่นๆ อีกเพียง 3%
การที่ MK เลือกที่จะใช้กลยุทธ์ "มูเก็ตติ้ง"อาจเป็นการตอบโต้ต่อการเติบโตอย่างรวดเร็วของ ตี๋น้อย ที่เข้ามาตีตลาดด้วยราคาที่เข้าถึงง่ายและรูปแบบร้านที่ทันสมัย โดยการเน้นเรื่องความเป็นสิริมงคลและประสบการณ์ในการรับประทานอาหาร อาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับลูกค้าที่กำลังมองหาอะไรใหม่ ๆ
"สุกี้ตี๋น้อย" ได้รายงานผลประกอบการที่น่าประทับใจ ปี 2567 ไตรมาส 3 มีกำไรสุทธิ 890 ล้านบาท แบ่งส่วนกำไรให้ บมจ.เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (JMART) ไปจำนวน 267 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35.5% จากปัจจุบัน JMART ถือหุ้น BNN อยู่ในสัดส่วน 30%
สำหรับจำนวนสาขา Teenoi มีสาขารวมทั้งหมด 73 สาขา เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/2567 จำนวน 6 สาขา Teenoi ยังคงเปิดสาขาในต่างจังหวัดมากต่อเนื่อง ทั้งนี้การเปิดสาขาใหม่ที่ผ่านมาทำให้ Teenoi มีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นต่อเนื่อซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงกลยุทธ์ในการขยายฐานลูกค้าไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ (สิ้นสุด 30 ก.ย. 2567)