บสย.ค้ำประกันสินเชื่อพุ่ง 4.3 หมื่นล้าน ชี้ 90% เป็นไมโครเอสเอ็มอี

22 พ.ย. 2567 | 18:55 น.
อัปเดตล่าสุด :22 พ.ย. 2567 | 18:55 น.

บสย.ค้ำประกันสินเชื่อ 10 เดือน พุ่ง 4.3 หมื่นล้าน ชี้ 90% เป็นไมโครเอสเอ็มอี เกิดผลทางเศรษฐกิจมากกว่า 1.7 แสนล้านบาท

นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ผลดำเนินงาน 10 เดือนของปี 2567 (ม.ค. – ต.ค.) บสย. มียอดค้ำประกันสินเชื่อ 43,228 ล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการ SMEs ได้รับสินเชื่อเพิ่มขึ้น 76,840 ราย 

นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มรายย่อย (Micro SMEs) ในสัดส่วนสูงถึง 90% ค้ำประกันเฉลี่ย 90,000 บาทต่อราย ที่เหลือ 10% เป็นกลุ่ม SMEs ค้ำประกันเฉลี่ย 4.78 ล้านบาทต่อราย 

"ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน46,775 ล้านบาท รักษาการจ้างงาน 398,998ตำแหน่ง และก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 177,056 ล้านบาท" 

ทั้งนี้ ดำเนินการภายใต้ 3 โครงการหลัก ได้แก่

1. โครงการตามมาตรการรัฐ วงเงิน 25,057ล้านบาท คิดเป็น 58% ของยอดค้ำประกัน ช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อ 71,570 ราย

2. โครงการค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยถูก (พ.ร.ก. สินเชื่อฟื้นฟู ระยะที่ 2) วงเงิน 9,893 ล้านบาท คิดเป็น 23% ของยอดค้ำประกัน ช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อ 1,543 ราย

3. โครงการค้ำประกันสินเชื่อ ดำเนินการโดย บสย. วงเงิน 8,278 ล้านบาท คิดเป็น 18% ของยอดค้ำประกัน ช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อ 4,481 ราย

สำหรับโครงการหลัก PGS 11 “บสย. SMEs ยั่งยืน” ซึ่ง บสย. ลงนามความร่วมมือกับสถาบันการเงิน เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 ถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีเยี่ยม ตั้งแต่เปิดโครงการถึง 31 ตุลาคม 2567 มียอดค้ำประกัน 20,131 ล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อ 19,039 ราย 

บสย.ค้ำประกันสินเชื่อพุ่ง 4.3 หมื่นล้าน ชี้ 90% เป็นไมโครเอสเอ็มอี

“ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มที่ไม่เคยใช้บริการ บสย. ถึง 73% (ลูกค้าใหม่) ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Micro SMEs สะท้อนว่า โครงการนี้ประสบความสำเร็จในการช่วยเหลือ “กลุ่มเปราะบาง” ผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้า แม่ค้า อาชีพอิสระ ที่มีปัญหาในการเข้าถึงสินเชื่อ ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้มากขึ้น”

ขณะที่ประเภทธุรกิจค้ำประกันสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่

  1. ภาคบริการ 28.8%
  2. การผลิตสินค้าและการค้าอื่นๆ 11.4%
  3. อาหารและเครื่องดื่ม 10%

ซึ่งทั้ง 3 อุตสาหกรรมมีสัดส่วนค้ำประกัน 50% สะท้อนถึงทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมหลักในประเทศ ซึ่งได้รับอานิสงส์จากความต้องการสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวโดยเฉพาะช่วงปลายปีที่กิจการต่างๆ เน้นขยายการลงทุนเพื่อรองรับไฮซีซั่น 

ทั้งนี้ คาดว่าจะมีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจำนวนมาก สอดคล้องกับตัวเลขของกระทรวงการคลัง ที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวที่ 2.7% ต่อเนื่องไปถึงปี 2568 ที่คาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้นที่ 3% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.5-3.5%) จากปัจจัยบวก 4 ด้าน คือ การบริโภคภาคเอกชน การส่งออกสินค้า การท่องเที่ยว และการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน