สานพลังประชารัฐฯจับมือไมโครซอฟท์สร้างศูนย์การเรียนรู้ฯพัฒนาอาชีวฝืมือชน

19 ก.ย. 2559 | 19:30 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.ย. 2559 | 02:21 น.
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส หัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ กล่าวว่า คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ โดย สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) โดยไมโครซอฟท์จะสนับสนุนศูนย์การเรียนรู้และสร้างโอกาสทางอาชีพบนคลาวด์  เพื่อใช้พัฒนาอาชีวะฝืมือชน เสริมทักษะวิชาชีพนอกห้องเรียนด้านต่างๆ ที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานโดยรวบรวมความรู้ไว้กว่า 2,500 หลักสูตร พร้อมขยายช่องทางให้เยาวชนอาชีวะได้เลือกงานที่ใช่ในแบบที่ชอบ และเชื่อมเครือข่ายกับผู้ประกอบการได้โดยตรง สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจสังคมดิจิตัล ในยุคไทยแลนด์ 4.0

การจับมือกับไมโครซอฟท์ ซึ่งเป็นองค์กรภาคเอกชนที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกถึงความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการพัฒนาแพลตฟอร์มที่มุ่งเสริมประสิทธิภาพการสร้างสรรค์ในโลกยุคใหม่ ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญ ที่จะช่วยยกระดับมาตรฐานความรู้ของนักเรียนอาชีวศึกษา ด้วยหลักสูตรเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่จำเป็นต่อวิชาชีพ อาทิ หลักสูตรด้านไอที ภาษาอังกฤษ และการเป็นผู้ประกอบการในรูปแบบศูนย์กลางคลังความรู้ออนไลน์ขนาดใหญ่ที่มีความยืดหยุ่น สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา รวมทั้งการเปิดโอกาสให้พวกเขาได้เลือกงานที่ใช่ในแบบที่ชอบ ในขณะที่ผู้ประกอบการก็จะได้เข้ามาเลือกเฟ้นฝีมือชนที่มีคุณสมบัติตรงกับความต้องการของตนได้อย่างง่ายดาย ซึ่งจะถือเป็นการเปิดประตูบานใหม่ที่ต่อยอดการเชื่อมโยงการศึกษาและพัฒนาคุณภาพอาชีวศึกษาร่วมกันกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งผลิตกำลังพลอาชีวะที่เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพตามเป้าหมายของภาครัฐในเร็ววัน

นายอรพงศ์ เทียนเงิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นหนึ่งในพันธกิจของไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น ในการมอบเทคโนโลยีคลาวด์ให้กับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรและภาคการศึกษาในประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมมูลค่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในระยะเวลา 3 ปี นับจากปีนี้ โดยเทคโนโลยีคลาวด์จะช่วยให้บุคลากรขององค์กรต่างๆ สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลและแหล่งการเรียนรู้ เพื่อเป็นกำลังสำคัญให้กับทุกคนและองค์กรในทุกมุมโลกได้บรรลุผลสำเร็จที่ดียิ่งกว่า ด้วยการเปิดกว้างให้เข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างเท่าเทียมกัน และหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของไมโครซอฟท์ คือ การสนับสนุนภาครัฐและสถาบันการศึกษาในการผลิตและสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพสู่สังคมไทย

อาชีวศึกษาเป็นหนึ่งในสายอาชีพที่ประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรที่มีคุณภาพอีกเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุผลดังกล่าว ไมโครซอฟท์จึงให้ความสำคัญในการสนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาทักษะต่างๆ ที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพในอนาคต และที่สำคัญช่วยนำเยาวชนเหล่านี้ออกสู่ตลาดแรงงาน โดยแพลตฟอร์ม ‘Microsoft YouthWorks’ ตอบโจทย์ดังกล่าวได้อย่างดี โดยขณะนี้เกิดเป็นความร่วมมือกับทั้งรัฐบาล องค์การระหว่างประเทศ และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ใน 18 ประเทศไปแล้ว อาทิประเทศในแถบตะวันออกกลางและแอฟริกา ซึ่งไมโครซอฟท์จะเข้าไปช่วยจัดระบบให้เข้ากับความต้องการของแต่ละประเทศ ปัจจุบันมีเยาวชนกว่า 23 ล้านคน ที่ได้ใช้งาน ‘Microsoft YouthWorks’ นี้” นายอรพงศ์ฯ กล่าวเสริม

ทั้งนี้ ความร่วมมือครั้งสำคัญครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกในเอเชียและในประเทศไทยที่ไมโครซอฟท์สนับสนุนองค์กรด้านการศึกษาผ่านเทคโนโลยีคลาวด์ มูลค่ารวมกว่า 3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 105 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 5 ปี เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ของ นายสัตยา นาเดลลา ซีอีโอของไมโครซอฟท์ ที่ประกาศการช่วยเหลือสังคมโดยใช้เทคโนโลยีคลาวด์เป็นสื่อกลาง “Public Cloud for Public Good หรือ คลาวด์สาธารณะ เพื่อสาธารณประโยชน์” เมื่อครั้งเยือนประเทศไทยเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2557 จนถึงปัจจุบัน มีเยาวชนกว่า 23 ล้านคนทั่วโลกสามารถเข้าถึงศูนย์การเรียนรู้และสร้างโอกาสทางอาชีพบนคลาวด์ หรือ แพลตฟอร์ม ‘Microsoft YouthWorks’ โดยเทคโนโลยีดังกล่าวช่วยจับคู่ตำแหน่งงานแล้วกว่า 253,000 ตำแหน่งและช่วยพัฒนาทักษะเยาวชนในด้านต่างๆ กว่า 436,000 คน

โดยไมโครซอฟท์ได้จัดตั้งหน่วยงานที่ชื่อ Microsoft Philanthropies (ไมโครซอฟท์ฟิแลนทรอฟีส์) เพื่อช่วยเหลือสังคมและได้บริจาคเทคโนโลยีคลาวด์มูลค่ากว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐให้กับภาครัฐและองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรกว่า 70,000 แห่งทั่วโลก ตลอดระยะเวลา 22 ปี ในประเทศไทย ไมโครซอฟท์ได้นำเทคโนโลยีมาช่วยลดช่องว่างทางความรู้ เพื่อสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงเทคโนโลยี ในประเทศไทย ไมโครซอฟท์ ได้บริจาคซอฟต์แวร์รวมมูลค่ากว่า 2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 70 ล้านบาท ให้กับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรต่างๆ กว่า 430 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 25 พฤษภาคม 2559) พร้อมการฝึกอบรมเทคโนโลยีโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อช่วยให้องค์กรเหล่านั้นมีศักยภาพที่เพิ่มขึ้นในการที่จะช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสของตนได้ดียิ่งขึ้น