กางแผนขยายธุรกิจรับทัวร์จีน ‘นิวเจนแอร์’ เพิ่มทุน 305 ล้านคาดปีนี้ผู้โดยสาร1 ล้านคน

16 ก.ค. 2559 | 10:00 น.
617
นิว เจน แอร์เวย์ส เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 305 ล้านบาท รับแผนขยายธุรกิจรองรับดีมานต์ผู้โดยสารจีนพุ่ง คาดปีนี้ทะลุ 1 ล้านคนปีหน้า 2 ล้านคน ขึ้นแท่นผู้นำตลาดเช่าเหมาลำที่มีตารางบินที่แน่นอนด้วยจุดบินสู่แดนมังกรมากถึง 14 เมืองรอง พร้อมกางแผน 3 ปี เช่าเครื่องบินเพิ่มอีก 12 ลำรับจุดบินใหม่อีก 5 เส้นทาง เล็งเปิดบิน 4 เมืองรองของอินเดีย

[caption id="attachment_70877" align="aligncenter" width="335"] เจริญพงษ์ ศรประสิทธิ์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนิว เจน แอร์เวย์ส เจริญพงษ์ ศรประสิทธิ์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
สายการบินนิว เจน แอร์เวย์ส[/caption]

นายเจริญพงษ์ ศรประสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินนิว เจน แอร์เวย์ส เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่าปัจจุบันสายการบินได้เพิ่มทุนจดทะเบียนขึ้นจาก 200 ล้านบาทเป็น 305 ล้านบาท
หลังจากเปิดดำเนินธุรกิจมากว่า 2 ปี นับจากเริ่มเปิดทำการบินเมื่อปีกลางปี 2557 โดยผู้ถือหุ้น
ของบริษัททั้งฝั่งไทยที่ถือหุ้นอยู่ 65% อาทิ นางสาวจุฑาทิพย์ วิลาด นางสาวนิตยา ขจรเกียรติชัย และผู้ถือหุ้นชาวจีน ที่ถือหุ้นอยู่ 35% ไม่ขอรับผลกำไรจากการดำเนินธุรกิจ แต่นำมาเป็นทุนสำหรับขยายธุรกิจ

เนื่องจากที่ผ่านมาสายการบินได้รับการตอบรับที่ดีจากเอเย่นต์ของประเทศจีน ในการใช้บริการ เพื่อนำนักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวเมืองไทย ทำให้สายการบินได้ขยายจำนวนเครื่องบินเช่าเพิ่มขึ้น เพื่อนำมาทำการบินในขณะนี้ทั้งหมด 8 ลำ แบ่งเป็นโบอิ้ง 787-400 จำนวน 4 ลำ จุผู้โดยสารได้ 168 ที่นั่งและโบอิ้ง 737-800 จำนวน 4 ลำ ขนาด 189 ที่นั่ง โดยให้บริการในแบบเที่ยวบินเช่าเหมาลำที่มีตารางบินแน่นอน (Schedule Charter Flight) รวม 14 จุดบินจากจีน รัศมีการบิน 4-6 ชั่วโมง ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาสายการบินให้บริการผู้โดยสารไปแล้วถึง 1 ล้านคน และถือว่าเป็นผู้นำในตลาดเช่าเหมาลำที่มีตารางบินที่แน่นอนในเส้นทางบินสู่จีนมากที่สุดของไทย

จุดเด่นของการให้บริการของสายการบิน คือ การทำการบินในเส้นทางเมืองรองจากจีนเข้าไทย ซึ่งมีดีมานต์ในการเดินทางมาเที่ยวไทยสูงมาก ซึ่ง 14 จุดบินจากจีนเข้าในปัจจุบันจะใช้สนามบินดอนเมือง และสนามบินกระบี่เป็นศูนย์กลางการบิน ได้แก่ เส้นทางจากสนานบินดอนเมืองสู่เมืองฉางชา,หนางหนิง,กุ่ยหลิน,เหอเป่ย,ซู่โจว,กุ่ยหยาง,เวิ้นโจว,หนานชาง นอกนั้นจะเป็นเส้นทางจากกระบี่สู่ เมืองจี้หนาน,หูซี,ฟู่โจว, กุ่ยหยาง,นานกิง,วูฮั่น ซึ่งทำการบินในแต่ละเส้นทางด้วยความถี่ตั้งแต่ 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ไปจนถึง 11 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ลูกค้าของสายการบินจะเป็นเอเย่นต์รายใหญ่จากจีนไม่ต่ำกว่า 6 บริษัท

"เอเย่นต์ของจีนมีความต้องการจองตั๋วผ่านสายการบิน เพื่อนำไปจัดแพ็คเกจทัวร์ขายเมืองไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งสายการบินขายตั๋วให้เอเย่นต์ไป-กลับ ราคาตั้งแต่ 5 พันบาทไปจนถึง 1 หมื่นกว่าบาท โดยเป็นราคาที่นิว เจน แอร์ คำนวณแล้วว่าสามารถดำเนินธุรกิจได้ดี เพราะเรามีต้นทุนที่ไม่สูงเกินไป ขณะที่เอเย่นต์จีน ก็มองว่าได้ราคาดี เพราะหากไปซื้อที่นั่งผ่านสายการบินทั่วไปของจีนเองเพื่อเดินทางเข้าไทย จะต้องซื้อตั๋วในราคาที่สูงกว่า เพราะ ไชน่า เซ้าท์เทิร์น ไชน่า อีสเทิร์น หรือแม้แต่โอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ส จะมีต้นทุนในการดำเนินธุรกิจที่สูงกว่านิวเจนแอร์"

ทำให้ที่ผ่านมาเอเย่นต์จีน จึงหันมาใช้บริการของ นิวเจนแอร์ เพิ่มขึ้น จากเริ่มต้นบริการผู้โดยสารที่ 7 หมื่นคนนับจากเปิดให้บริการกลางปี2557 ขยับมาเป็น 4 แสนกว่าคน ในปี 2558 มีรายได้จากยอดขาย 2,700 ล้านบาท มีกำไร 221 ล้านบาท และแค่ 6 เดือนแรกของปี 2559 ก็มีถึง 4 แสนคน ทำให้ตลอดทั้งปีนี้คาดว่าผู้โดยสารจะถึง 1 ล้านคน คาดว่ายอดขายจะอยู่ที่ 5 พันล้านบาท กำไร 8-10% หรือราว 400-500 ล้านบาท จากอัตราการบรรทุกเฉลี่ยสูงถึง 90% และปีหน้า มีโอกาสถึง 2 ล้านคน

จากการเติบโตดังกล่าว ทำให้สายการบินมีแผนจะเช่าเครื่องบินเพิ่มอีก ซึ่งทางผู้ถือหุ้นก็คงจะ
พิจารณาทยอยเพิ่มทุนอีก เพราะในช่วง 3 ปีนี้ (ปี2559-2560)จะมีเครื่องบินเข้ามาปีละ 4 ลำ (ค่าเช่า 1 ลำ ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านดอลล่าร์สหรัฐไม่รวมค่าเช่ารายเดือน) ซึ่งเป็นเครื่องบินเช่าอายุ 11-12 ปี สัญญา 3 ปี จากบริษัทเช่าเครื่องบินเบอร์ 1 และ2 ของโลก คือ จีอี แคปปิตอลและAERCAP เพื่อนำมาใช้ทดแทนเครื่องบินเดิมที่จะหมดสัญญาเช่า และนำมาใช้สำหรับการเพิ่มความถี่ในเส้นทางบินที่มีอยู่อยู่ และการขยายจุดบินใหม่สู่จีน อีกราว 5 เส้นทางบินในปีหน้า

เนื่องจากรัฐบาลจีนมีนโยบายสนับสนุนการสร้างสนามบินใหม่ๆในเมืองต่างๆของจีนไม่ต่ำกว่า 30 แห่ง เพื่อลดความหนาแน่นในสนามบินเมืองหลักๆของจีน และที่ผ่านมามีหลายเมืองรองจากจีน สนใจอยากให้นิวเจนแอร์ ไปเปิดให้บริการ แต่สายการบินก็ค่อยๆขยาย เพราะต้องดูศักยภาพของเครื่องบินที่มี รวมถึงการพัฒนาบุคลากรในการรองรับด้วย ซึ่งแม้ไทยจะติดธงแดงจากองค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศหรือ ICAO แต่สายการบินก็ไม่มีปัญหาในการดำเนินธุรกิจ เพราะการพิจารณาทางกรมการบินพลเรือน มีมาตรฐานของตัวเอง ทำให้สายการบินจึงสามารถเปิดให้บริการหรือเพิ่มเที่ยวบินได้ตามปกติ

นอกจากจุดบินในจีน ในขณะนี้สายการบินได้ยื่นขอสิทธิการบินเพื่อขอเปิดทำการบิน 4 เส้นทางเมืองรองของอินเดียเข้าไทย คาดว่าจะทำการบินได้ในปี 2561 เพราะต้องรอการรับมอบเครื่องบินที่เช่ามาเพิ่ม ซึ่งมองที่จะเปิดทำการบินแบบประจำ ( Schedule Flight) ขายตั๋วเองและการขายผ่านเอเย่นต์ด้วย

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,174 วันที่ 14 - 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2559