TCELS จัดประกวดสุดยอดหุ่นยนต์การแพทย์เพื่อสุขภาพ  i-MEDBOT Innovation Contest 2016

15 มิ.ย. 2559 | 15:19 น.
อัปเดตล่าสุด :15 มิ.ย. 2559 | 22:52 น.
ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) เปิดเผยว่า ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ จัด“การประกวดสุดยอดหุ่นยนต์การแพทย์เพื่อสุขภาพ i-MEDBOT Innovation Contest 2016” เพื่อเฟ้นหาสุดยอดผลงานหุ่นยนต์ทางการแพทย์เพื่อสุขภาพ ครั้งที่ 2 พร้อมเปิดโอกาสให้ทุกเพศ ทุกวัย ส่งผลงานเข้าร่วมประกวด ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 3 แสนบาท และผลงานที่ชนะทั้ง 3 อันดับ จะได้รับการพิจารณาเพื่อรับสิทธิ์ในการได้รับคัดเลือกเข้าสู่ startup mentoring program ที่ TCELS จะจัดขึ้นในอนาคต

[caption id="attachment_62556" align="aligncenter" width="503"] น้องมีดี (MEEDEE) น้องมีดี (MEEDEE)[/caption]

สำหรับการประกวดสุดยอดหุ่นยนต์ทางการแพทย์เพื่อสุขภาพ i-MEDBOT Innovation Contest 2016 นับเป็นครั้งที่ 2 ของโครงการเทคโนโลยีหุ่นยนต์ทางการแพทย์ชั้นสูง โดยหลังจากเมื่อปี 2557ทาง TCELS ได้รับการตอบรับที่ดีมากจากนิสิตและนักศึกษา ร่วมส่งแนวความคิดและผลงานเข้าร่วมประกวดสุดยอดหุ่นยนต์ทางการแพทย์ ภายใต้ชื่อ i,MedBot 2014 : Bring Life, Brighten the World แต่ในปีนี้ TCELS เปิดโอกาสให้ผู้สนใจทุกเพศ ทุกวัย ส่งผลงานได้มากกว่า 1 ผลงาน โดยสามารถเป็นสมาชิกได้ไม่เกิน 3 กลุ่ม หรือจะร่วมส่งผลงานแบบเดี่ยวหรือกลุ่มก็ได้ โดย TCELS ต้องการผลงานที่สามารถนำไปพัฒนาให้ใช้ได้จริงในทางการแพทย์ และเพื่อเป็นการกระตุ้นไอเดียคนไทยให้ก้าวเข้าสู่เทคโนโยลีทางการแพทย์ชั้นสูงได้ในระดับสากล

“ทาง TCELS มุ่งหวังให้บริษัทต่างๆ นิสิตนักศึกษา และรวมไปถึงประชาชนทั่วไปที่มีผลงานหรือมีประสบการณ์ที่เกี่ยวกับผู้ป่วยโดยตรง และต้องการนำเสนอผลงานทางด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่สามารถนำไปใช้กับผู้ป่วยจริง ซึ่ง TCELS จะช่วยผลักดันผลงานที่ชนะการประกวดให้พัฒนาเพื่อต่อยอดจนสามารถนำไปใช้ได้จริง ทั้งนี้ TCELS จะดำเนินการเรื่องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้กับผลงานที่ผ่านเข้าสู่รอบของการประกวด โดยผลงานที่ส่งเข้าประกวดถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของผู้สร้างสรรค์เท่านั้น”

ตัวอย่างนวัตกรรมหุ่นยนต์เพื่อสุขภาพ  อาทิ  หุ่นยนต์ดินสอมินิ (Dinsow Mini) ออกแบบมาเพื่อดูแลผู้ป่วยสูงอายุที่อยู่ตามลำพัง อายุตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไป โดยหุ่นยนต์ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้และเคลื่อนไหวได้น้อย คอยดูแลผู้ป่วยผ่านระบบสัมผัสหน้าจอ, น้องมีดี หุ่นยนต์เสริมฝึกทักษะการสื่อสาร (MEEDEE: Robot Assisted Communication Skill Training) ซึ่งเป็นชุดหุ่นยนต์เสริมการเรียนรู้ ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อเป็นเครื่องมือในการจัดการเรียนการสอนให้กับเด็กที่มีความต้องการฝึกทักษะด้านการสื่อสาร โดยหุ่นยนต์จะสามารถสื่อสารและโต้ตอบได้ตามโปรแกรมที่ตั้งไว้, เครื่องฆ่าเชื้อช้อนส้อม อัลตร้าไวโอเลต (Utensil Sterilization) เป็นนวัตกรรมเครื่องฆ่าเชื้อบนช้อนส้อม ด้วยระบบแสงอัล ตร้าไวโอเลต สามารถทดแทนการใช้หม้อลวกช้อนทั่วไป ลดการปนเปื้อนของเชื้อโรคได้สูงสุด 99.99% โดยปัจจุบัน ได้ถูกนำไปใช้ในศูนย์อาหารภายในห้างสรรพสินค้า และโรงพยาบาล ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมที่ถูกพัฒนาจากโครงการ i-MEDBOT ที่นำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพานิชได้อย่างแท้จริง

“ภายในงานยังมีกิจกรรม workshop for Healthcare Robotics and Device Entrepreneurs จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญอย่าง Mr.Douglas Abrams,CEO of Expara บริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านการให้คำปรึกษาในการลงทุน และสนับสนุนการดำเนินธุรกิจทางด้านการเงินให้กับบริษัทหน้าใหม่ (start-up) โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรม workshop กว่า 30 ท่าน ทั้งจากหน่วยงาน องค์กร นิสิตและนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้าร่วมอีกด้วย และหลังจากนี้จะเปิดรับข้อเสนอผลงาน ตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2559 จนถึง วันที่ 20 กรกฎาคม 2559 จากนั้นจะแจ้งผลการคัดเลือกแนวความคิดที่ผ่านเข้ารอบ ในวันที่ 22 สิงหาคม 2559 และแนวความคิดที่ผ่านเข้ารอบจะต้องนำเสนอผลงานบนเวทีประกวดสุดยอดหุ่นยนต์การแพทย์เพื่อสุขภาพ i-MEDBOT Innovation Contest 2016 ในวันที่ 10 กันยายน 2559 รางวัลที่ 1 ได้รับใบประกาศเกียรติคุณพร้อมเงินรางวัล 150,000 บาท, รางวัลที่ 2 ได้รับใบประกาศเกียรติคุณพร้อมเงินรางวัล 100,000 บาท และรางวัลที่ 3 ได้รับใบประกาศเกียรติคุณพร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท และทั้ง 3 ทีมที่ชนะจะได้รับสิทธิ์ในการได้รับคัดเลือกเข้าสู่ startup mentoring program ที่ TCELS จะจัดขึ้นในอนาคตอีกด้วย”

สำหรับผู้ที่สนใจส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดใน  โครงการสุดยอดหุ่นยนต์การแพทย์เพื่อสุขภาพ  i-MEDBOT Innovation Contest 2016 สามารถดูรายละเอียดได้ที่ www.tcels.or.th/robot