ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า พฤติกรรมการใช้จ่ายและทัศนคติของประชาชนในช่วงวันวาเลนไทน์ จะมีเงินสะพัดในช่วงเทศกาลแห่งความรักนี้เกือบ 2,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7.2% โดยสถานที่ที่ผู้คนนิยมไปฉลองวันวาเลนไทน์มากที่สุดคือ ร้านอาหาร 27.8% รองลงมาคือ ห้างสรรพสินค้า 24% และบ้าน 17.5%
นางสาวศิรินทร์ ใต้ชัยภูมิ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท มิส ลิลลี่ ฟลาวเวอร์ จำกัด ผู้ให้บริการจัดส่งดอกไม้ “มิส ลิลลี่” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แม้ราคาดอกไม้ในช่วงวันวาเลนไทน์ปีนี้จะไม่มีการปรับขึ้นจากปีก่อน แต่ราคาดอกกุหลาบก็ยังคงปรับตัวขึ้น 30% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
โดยเฉพาะดอกกุหลาบนำเข้าจากประเทศฮอลแลนด์ที่ร้านใช้ ซึ่งมีคุณภาพดี แข็งแรง ดอกใหญ่ สวย และมีความคงทนกว่าดอกกุหลาบไทย เนื่องมาจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น ทำให้ผลผลิตดอกกุหลาบในประเทศลดลง เมื่อความต้องการสูงขึ้น ราคาจึงปรับตัวตาม
อย่างไรก็ตามยอดการสั่งซื้อกลับเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งมียอดสั่งซื้อราว 700-800 ออเดอร์ (เฉพาะช่วงวันวาเลนไทน์) อีกทั้งวันวาเลนไทน์ในปีนี้ตรงกับวันศุกร์ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ลูกค้าวางแผนเซอร์ไพรส์คนรักก่อนเริ่มวันทำงานช่วงเช้า และพบกันในช่วงเย็น
นอกจากนี้การที่ผู้คนนิยมแชร์ภาพดอกไม้และของขวัญวันวาเลนไทน์บนโซเชียลมีเดีย อาจเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นอยากมอบดอกไม้ให้กับคนรักบ้าง
“การซื้อดอกไม้วันวาเลนไทน์ในปีนี้ คาดว่าจะมาจากกลุ่มลูกค้าที่มีอายุระหว่าง 25-60 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง
อย่างไรก็ตามทางร้านมองว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ก็มีกำลังซื้อและให้ความสำคัญกับการแสดงความรักในวันวาเลนไทน์เช่นเดียวกัน”
สำหรับดอกไม้ยอดนิยมในวันวาเลนไทน์คือ ดอกกุหลาบสีแดง ยังคงเป็นตัวเลือกแรกที่สื่อถึงความรักโรแมนติกและความรักอันลึกซึ้ง เหมาะสำหรับการมอบให้คนรักในโอกาสพิเศษนี้ นอกจากนี้ดอกกุหลาบสีขาว ที่สื่อถึงความรักบริสุทธิ์ และดอกกุหลาบสีชมพูที่ใช้ในการเฉลิมฉลองโอกาสต่างๆ เช่น วันครบรอบแต่งงาน ก็เป็นที่นิยมไม่แพ้กัน
ส่วนปีนี้ร้านได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์รูปแบบการขาย เพื่อให้เข้ากับความต้องการของลูกค้า โดยเน้นที่ลูกค้าเก่าเป็นหลัก มีการให้ส่วนลดและโปรโมชั่นเพิ่มขึ้น รวมถึงเพิ่มจำนวนดอกไม้ในช่อให้มากขึ้นในราคาที่เท่าเดิม เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า
ไฮไลท์สำคัญของร้านในปีนี้คือ การจัดดอกกุหลาบแดง 99 ดอก ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบจากเดิมที่จัดเป็นท่อกึ่งยาวกึ่งกลม มาเป็นช่อกลมที่สามารถตั้งได้ ทางร้านได้คิดค้นกิมมิคใหม่เพื่อให้ลูกค้าสามารถถ่ายรูปกับดอกไม้ได้ง่ายขึ้น ทั้งยังสามารถถือหรือวางได้โดยไม่ล้ม
การปรับกลยุทธ์ครั้งนี้ยังรวมถึงการใช้ช่องทางออนไลน์ในการสั่งซื้อ เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงสินค้าได้ง่ายขึ้น และลดภาระการจัดการในร้าน
สำหรับเทรนด์วันวาเลนไทน์ปีนี้มองว่าการจัดดอกไม้ในรูปแบบที่ไม่จำเจ เช่น รูปหมีแพนด้าหรือรูปสัตว์ต่างๆ กำลังมาแรง เพื่อดึงดูดลูกค้าที่ต้องการความแปลกใหม่ ไม่ซ้ำกับกระเช้าหรือช่อดอกไม้แบบเดิมๆ
นอกจากนี้ ลูกค้ายังนิยมสอบถามหาของแถมจากร้าน เช่น ลูกโป่งหรือช็อกโกแลต ทางร้านจึงได้ปรับเปลี่ยนเป็นการให้บัตรชมภาพยนตร์แทน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้มากยิ่งขึ้น
นางสาวศิรินทร์ กล่าวว่า ความท้าทายที่ร้านดอกไม้กำลังเผชิญ คือ การขาดแคลนบุคลากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานจัดดอกไม้ สาเหตุหลักมาจากการที่คนรุ่นใหม่ที่เข้ามาทำงานในร้านดอกไม้ มองว่างานดังกล่าวมีความซ้ำซาก ไม่มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และไม่มีสิ่งใหม่ๆ ให้เรียนรู้หรือดึงดูดใจ
ทำให้พนักงานส่วนใหญ่ในร้านเป็นคนเก่าหรือผู้สูงอายุ ซึ่งส่งผลให้ร้านไม่สามารถเตรียมออเดอร์ดอกไม้ได้ทันตามความต้องการของลูกค้าด้วยเหตุนี้ ร้านจึงให้ความสำคัญกับลูกค้าที่สั่งจองดอกไม้ล่วงหน้า เพื่อให้ร้านมีเวลาเพียงพอในการจัดเตรียมดอกไม้ให้ทันตามออเดอร์ที่ได้รับ
ในปีนี้ทางร้านได้ออกแบบช่อดอกไม้รูปแบบใหม่ที่หลากหลายมากขึ้นเพื่อตอบรับความต้องการของลูกค้า โดยมีให้เลือกตั้งแต่ช่อขนาดเล็กไปจนถึงช่อขนาดใหญ่ เริ่มต้นช่อ 6 ดอก, 9 ดอก, 12 ดอก, 24 ดอก, 36 ดอก และ 99 ดอก โดยราคาจำหน่ายเริ่มต้นที่ 2,700 บาท ไปจนถึง 39,650 บาท
แต่ทางร้านยังมีโปรโมชั่นพิเศษสำหรับลูกค้าที่สั่งจองล่วงหน้า โดยช่อดอกไม้ 6 ดอก ราคา 2,700 บาท จากราคา 3,600 บาท ช่อดอกไม้ 9 ดอก ราคา 3,800 บาท จากราคา 4,650 บาท และช่อดอกไม้ 99 ดอก ราคา 34,650 บาท จากราคา 39,650 บาท
หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,070 วันที่ 13 - 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568