ยอดลงทุนปี 67 พุ่งทะลุ 1 ล้านล้าน “บีโอไอ” เผยมีโครงการสูงสุดตั้งแต่ก่อตั้ง

13 ม.ค. 2568 | 14:02 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ม.ค. 2568 | 14:03 น.

ยอดลงทุนปี 67 พุ่งทะลุ 1 ล้านล้าน “บีโอไอ” เผยมีโครงการสูงสุดตั้งแต่ก่อตั้ง ชี้ เป็นโอกาสสำคัญของไทยในการสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ที่จะนำไปสู่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) เปิดเผยว่า ปี 2567 คำขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุน โดยมีจำนวน 3,137 โครงการ เพิ่มขึ้น 40% เมื่อเทียบกับปีก่อน 

ทั้งนี้ นับถือเป็นยอดจำนวนโครงการที่สูงสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งบีโอไอ และมีมูลค่าเงินลงทุน 1,138,508 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35% สูงสุดในรอบ 10 ปี  แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อม 

ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน พื้นที่รองรับอุตสาหกรรม ไฟฟ้าที่มีความเสถียรและมีศักยภาพด้านพลังงานสะอาด บุคลากรที่มีคุณภาพ ซัพพลายเชนที่ครบวงจร ต้นทุนการประกอบธุรกิจที่เหมาะสม มาตรการสนับสนุนต่าง ๆ  ของรัฐบาล สิทธิประโยชน์และการบริการต่าง ๆ ของบีโอไอ  

ปี 2567 ถือเป็นปีทองของการลงทุนอย่างแท้จริง และเป็นโอกาสครั้งสำคัญของประเทศไทยในการสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ที่จะนำไปสู่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 

  • อุตสาหกรรมดิจิทัล 243,308 ล้านบาท 150 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในกิจการ Data Center และ Cloud Service โดยบริษัทชั้นนำจากทั้งสหรัฐอเมริกา จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และไทย  เงินลงทุนรวมกว่า 240,000 ล้านบาท นอกจากนี้ จะเป็นกิจการพัฒนาซอฟต์แวร์ แพลตฟอร์มเพื่อให้บริการดิจิทัล และดิจิทัลคอนเทนต์ 

ยอดลงทุนปี 67 พุ่งทะลุ 1 ล้านล้าน “บีโอไอ” เผยมีโครงการสูงสุดตั้งแต่ก่อตั้ง

  • อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า 231,710 ล้านบาท 407 โครงการ กิจการที่มีการลงทุนสูง เช่น การผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) และวัตถุดิบสำหรับ PCB จำนวน 83 โครงการ เงินลงทุนรวม 86,426 ล้านบาท นอกจากนี้ ก็มีโครงการผลิตชิป (Wafer) การออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ (IC Design) การประกอบและทดสอบเซมิคอนดักเตอร์และวงจรรวม การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ 
  • อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน 102,366 ล้านบาท 309 โครงการ ประกอบด้วยโครงการลงทุนผลิตรถยนต์ EV และ ICE โดยค่ายญี่ปุ่น จีน และยุโรป การผลิตยางล้อรถยนต์ ยางล้ออากาศยาน ระบบอัจฉริยะในรถยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ต่าง ๆ 
  • อุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร 87,646 ล้านบาท 329 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในกิจการผลิตอาหาร เครื่องดื่มและสิ่งปรุงแต่งอาหาร กิจการผลิตอาหารสัตว์ กิจการผลิตน้ำมันหรือไขมันจากพืชหรือสัตว์ กิจการผลิตบรรจุภัณฑ์จากผลผลิตหรือเศษวัสดุทางการเกษตร กิจการขยายพันธุ์สัตว์และเลี้ยงสัตว์
  • อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 49,061 ล้านบาท 235 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นการผลิตเคมีภัณฑ์ พอลิเมอร์ชนิดพิเศษ พลาสติกสำหรับอุตสาหกรรม และบรรจุภัณฑ์ชนิดหลายชั้น   

นอกจากนี้ ยังมีกิจการอื่นที่มีการลงทุนสูงและมีความสำคัญต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เช่น

  • กิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนหรือขยะ 114,484 ล้านบาท 515 โครงการ  
  • กิจการผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ ระบบอัตโนมัติ และเครื่องจักรที่มีความแม่นยำสูง 39,162 ล้านบาท  174 โครงการ  
  • กิจการผลิตอุปกรณ์การแพทย์และบริการทางการแพทย์ 18,237 ล้านบาท 92 โครงการ

การขอรับส่งเสริมตามมาตรการยกระดับอุตสาหกรรม (Smart and Sustainable Industry) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งมาตรการสำคัญที่ช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการรายเดิมให้สามารถปรับตัวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต    ในปี 2567 มีคำขอรับการส่งเสริมจำนวน 407 โครงการ เงินลงทุนรวม 35,560 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนด้านการประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานทดแทน รองลงมา คือ ด้านการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในสายการผลิต 

ด้านการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 2,050 โครงการ เพิ่มขึ้น 51% เงินลงทุนรวม 832,114 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% 

โดยประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีมูลค่าขอรับการส่งเสริมสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 

  • สิงคโปร์ 357,540 ล้านบาท 305 โครงการ   
  • จีน 174,638 ล้านบาท 810 โครงการ 
  • ฮ่องกง 82,266 ล้านบาท 177 โครงการ 
  • ไต้หวัน 49,967 ล้านบาท 126 โครงการ 
  • ญี่ปุ่น 49,148 ล้านบาท 271 โครงการ 

ด้านสหรัฐอเมริกา มีเงินลงทุน 25,739 ล้านบาท   66 โครงการ แต่หากนับรวมตัวเลขที่ลงทุนผ่านสิงคโปร์แล้ว จะมีมูลค่ารวมกว่า 70,000 ล้านบาท เนื่องจาก     การลงทุนของสิงคโปร์ที่สูงขึ้นมาก เกิดจากการลงทุนขนาดใหญ่ของบริษัทที่มีบริษัทแม่เป็นสัญชาติจีนและสหรัฐอเมริกา     

ในแง่พื้นที่ เงินลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออก 573,066 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ ภาคกลาง 392,267 ล้านบาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 71,591 ล้านบาท ภาคเหนือ 42,525 ล้านบาท ภาคใต้ 37,215 ล้านบาท และภาคตะวันตก 21,843 ล้านบาท ตามลำดับ

ขณะที่สถิติการออกบัตรส่งเสริม หลังจากที่บีโอไออนุมัติโครงการแล้ว บริษัทต้องมายื่นเอกสารด้านการเงินและการจัดตั้งบริษัทเพื่อออกบัตรส่งเสริม ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใกล้เคียงการลงทุนจริงมากที่สุด โดยในปี 2567 มีการออกบัตรส่งเสริม จำนวน 2,678 โครงการ เพิ่มขึ้น 47% เงินลงทุน 846,461 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 72% เป็นสัญญาณที่ดีว่า ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า จะมีเม็ดเงินลงทุนจริงจำนวนมากเกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ

มหาอำนาจทั้งจีนและสหรัฐอเมริกาได้เพิ่มการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงกลุ่มนักลงทุนหลักอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน และยุโรป ก็ยังเดินหน้าขยายการลงทุนในไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ ดาต้าเซ็นเตอร์และบริการคลาวด์ที่รองรับเทคโนโลยี AI และดิจิทัลขั้นสูง ยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญ และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้จะมีความสำคัญต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ช่วยต่อยอดฐานอุตสาหกรรมเดิมให้มั่นคง สร้างมูลค่าจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ สร้างงาน และสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทย โดยโครงการที่ได้รับส่งเสริมในปี 2567 จะมีการจ้างงานบุคลากรไทยเพิ่มกว่า 2.1 แสนคน จะใช้วัตถุดิบและชิ้นส่วนในประเทศกว่า 1 ล้านล้านบาทต่อปี และจะเพิ่มมูลค่าส่งออกของประเทศอีกกว่า 2.6 ล้านล้านบาทต่อปี