จับตา “BOI” ประกาศยอดลงทุนในไทยปี 67 พุ่ง 1 ล้านล้านบาทวันนี้

13 ม.ค. 2568 | 08:17 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ม.ค. 2568 | 11:58 น.

จับตา “BOI” ประกาศยอดลงทุนในไทยปี 67 พุ่ง 1 ล้านล้านบาทวันนี้ หลังเตรียมเปิดแถลงข่าว สถิติการขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งปี และทิศทางการส่งเสริมปี 68 หลังยอดขอส่งเสริมลงทุน 9 เดือนแรกพุ่ง 7.2 แสนล้าน สูงสุดรอบ 10 ปี

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) จะมีการแถลงข่าวสถิติการขอรับส่งเสริมการลงทุนปี 2567 และทิศทางการส่งเสริมการลงทุนปี 2568 วันนี้ (13 ม.ค. 2568)

ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่าการแถลงข่าวดังกล่าวจะเป็นข่าวยอดการขอรับการส่งเสริมการลงทุนครั้งใหญ่ของบีโอไอ 

อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบของ “ฐานเศรษฐกิจ” ประกอบการได้รับคำตอบจากแหล่งข่าววงใน พบว่า การแถลงวันนี้จะเป็นการเปิดเผยตัวเลขการขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งปี 2567 ที่มีมูลค่าสูงถึง 1 ล้านล้านบาท

สำหรับตัวเลขคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม - กันยายน 2567) จากการเปิดเผยของนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการบีโอไอ พบว่า มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 722,528 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

จับตา “BOI” ประกาศยอดลงทุนในไทยปี 67 พุ่ง 1 ล้านล้านบาทวันนี้

โดยเป็นยอดลงทุนที่สูงสุดในรอบ 10 ปี และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน สะท้อนถึงศักยภาพและพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดีของประเทศไทย รวมทั้งความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อนโยบายรัฐบาลและมาตรการสนับสนุนของรัฐ และการดึงดูดการลงทุนเชิงรุกของรัฐบาลและบีโอไอ ได้ทำให้เกิดการลงทุนโครงการใหญ่ในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ จำนวนมาก เช่น เซมิคอนดักเตอร์ และแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ ยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) และชิ้นส่วน และพลังงานหมุนเวียน 

นอกจากนี้ รัฐบาลยังเร่งพัฒนาระบบนิเวศและปัจจัยที่จะส่งผลต่อการลงทุนในห้วงเวลาสำคัญที่มีกระแสเคลื่อนย้ายฐานการผลิตโลก เช่น การพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะรองรับเทคโนโลยีใหม่ กลไกจัดหาพลังงานสะอาดในราคาที่เหมาะสม พื้นที่รองรับอุตสาหกรรมใหม่ ๆ การปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการลงทุน เป็นต้น

ด้านกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า มูลค่า 183,444 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ ดิจิทัล มูลค่า 94,197 ล้านบาท ยานยนต์และชิ้นส่วน มูลค่า 67,849 ล้านบาท เกษตรและแปรรูปอาหาร มูลค่า 52,990 ล้านบาท ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ มูลค่า 34,341 ล้านบาท โดยกิจการที่มีการลงทุนสูงและอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เช่น

  • กิจการ Data Center จำนวน 8 โครงการ เงินลงทุนรวม 92,764 ล้านบาท โดยมีการลงทุนจากบริษัทรายใหญ่สัญชาติอเมริกัน ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง และอินเดีย   
  • กิจการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ได้แก่ การผลิต Wafer, การออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์,
  • การประกอบและทดสอบเซมิคอนดักเตอร์และวงจรรวม จำนวน 15 โครงการ เงินลงทุนรวม 19,856 ล้านบาท
  • กิจการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) และวัตถุดิบสำหรับ PCB จำนวน 55 โครงการ เงินลงทุนรวม 61,302 ล้านบาท
  • กิจการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ จำนวน 13 โครงการ เงินลงทุนรวม 38,973 ล้านบาท
  • กิจการผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ ระบบอัตโนมัติ และเครื่องจักรที่มีความแม่นยำสูง จำนวน 117 โครงการ เงินลงทุนรวม 30,515 ล้านบาท
  • กิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จำนวน 351 โครงการ เงินลงทุนรวม 85,369 ล้านบาท

ทั้งนี้ในแง่พื้นที่ เงินลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออก 408,737 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ ภาคกลาง 220,708 ล้านบาท ภาคเหนือ 35,452 ล้านบาท ภาคใต้ 25,039 ล้านบาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 23,777 ล้านบาท และภาคตะวันตก 8,812 ล้านบาท