ดีเดย์ 1 ม.ค.68 ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แตะ 400 บาท/วัน ของขวัญปีใหม่แรงงาน

01 ม.ค. 2568 | 06:36 น.
1.3 k

ดีเดย์ 1 ม.ค.2568 ปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ หรือ ค่าแรงขั้นต่ำ ให้กับแรงงานทั่วประเทศ 17 อัตรา ตั้งแต่ขึ้น 7-55 บาท แตะ 400 บาท/วัน เป็นของขวัญปีใหม่ เช็คตัวเลขรายจังหวัดอีกครั้งปรับขึ้นมากแค่ไหน

วันนี้ (1 มกราคม 2568) นับเป็นวันแรกที่มีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ หรือ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ให้กับแรงงานทั่วประเทศ ภายหลัง ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 13) ซึ่งมีมติเห็นชอบให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อใช้บังคับแก่นายจ้างและลูกจ้างทุกคน ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป

สาระสำคัญของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรอบใหม่ ประกอบด้วย 17 อัตราทั่วประเทศ โดยค่าจ้างใหม่อยู่ระหว่าง 337 – 400 บาทต่อวัน ปรับขึ้นต่ำสุด 7 บาทจนไปถึงสูงสุด 55 บาท หรือเฉลี่ย 2.9%

คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ในการประชุม เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2567 ระบุถึงเหตุผลของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ว่า ได้พิจารณาภาวะเศรษฐกิจไทยเดือนตุลาคม 2567 ปรับดีขึ้นจากรายรับภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ในประเทศและการส่งออก และแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ในปี 2568 ก็คาดว่าจะขยายตัว 2.8%

ขณะที่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในการครองชีพของลูกจ้างในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2567 พบว่า ราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เกือบทุกรายการมีราคาสูงขึ้น ได้ส่งผลให้ค่าจ้างที่แท้จริงของแรงงานลดลง 

 

ภาพประกอบข่าวการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ หรือ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 1 มกราคม 2568

 

ดังนั้น เพื่อรักษาอำนาจซื้อของแรงงานทั่วไปที่เริ่มเข้าทำงานใหม่ให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ในแต่ละวันอย่างมีคุณภาพ คณะกรรมการค่าจ้าง จึงได้มีมติให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มในอัตรา 7 - 55 บาท เป็นอัตราวันละ 337 – 400 บาท โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป 

อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ หรือ ค่าแรงขั้นต่ำ 2568

สำหรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ หรือ ค่าแรงขั้นต่ำ 17 อัตราทั่วประเทศ มีดังนี้

  1. วันละ 400 บาทในท้องที่ จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ภูเก็ต ระยอง และจังหวัดสุราษฎร์ธานี เฉพาะ อ.เกาะสมุย
  2. วันละ 380 บาทในท้องที่ จ.เชียงใหม่ เฉพาะ อ.เมืองเชียงใหม่ และ จ.สงขลา เฉพาะ อ.หาดใหญ่
  3. วันละ 372 บาทในท้องที่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
  4. วันละ 359 บาทในท้องที่ จ.นครราชสีมา
  5. วันละ 358 บาทในท้องที่ จ.สมุทรสงคราม
  6. วันละ 357 บาทในท้องที่ จ.ขอนแก่น เชียงใหม่ ยกเว้น อ.เมืองเชียงใหม่ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา และสระบุรี
  7. วันละ 356 บาทในท้องที่ จ.ลพบุรี
  8. วันละ 355 บาทในท้องที่ จ.นครนายก สุพรรณบุรี และหนองคาย
  9. วันละ 354 บาทในท้องที่ จ.กระบี่ และตราด
  10. วันละ 352 บาทในท้องที่ จ.กาญจนบุรี จันทบุรี เชียงราย ตาก นครพนม บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พังงา พิษณุโลก มุกดาหาร สกลนคร สงขลา ยกเว้น อำเภอหาดใหญ่ สระแก้ว สุราษฎร์ธานี ยกเว้น อ.เกาะสมุย และอุบลราชธานี
  11. วันละ 351 บาทในท้องที่ จ.ชุมพร เพชรบุรี และสุรินทร์
  12. วันละ 350 บาทในท้องที่ จ.นครสวรรค์ ยโสธร และลำพูน
  13. วันละ 349 บาทในท้องที่ จ.กาฬสินธุ์ นครศรีธรรมราช บึงกาฬ เพชรบูรณ์ และร้อยเอ็ด
  14. วันละ 348 บาทในท้องที่ จ.ชัยนาท ชัยภูมิ พัทลุง สิงห์บุรี และอ่างทอง
  15. วันละ 347 บาทในท้องที่ จ.กำแพงเพชร พิจิตร มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ระนอง ราชบุรี ลำปาง เลย ศรีสะเกษ สตูล สุโขทัย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี
  16. วันละ 345 บาทในท้องที่ จ.ตรัง น่าน พะเยา และแพร่
  17. วันละ 337 บาทในท้องที่ จ.นราธิวาส ปัตตานี และยะลา

มุมมองนายจ้างหลังปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

 

ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

 

ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ยอมรับถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรอบนี้ว่า หากเป็นนายจ้างอาจบอกว่าพอรับได้ โดยเฉพาะกทม.และจังหวัดปริมณฑลที่เป็นแหล่งจ้างงานใหญ่สุดค่าจ้างเพิ่มขึ้นวันละ 9 บาทคิดเป็น 2.48% ขณะที่ 67 จังหวัดที่ค่าจ้างต่ำสุดอยู่ที่ 337 บาทและสูงสุด 359 บาท 

โดยเฉลี่ยการปรับใช้อัตราที่รอมชอมกันคือปรับเพิ่มเฉลี่ย 2% ทำให้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นวันละ 7 บาท หรือเดือนละไม่เกิน 210 บาท คงเพิ่มต้นทุนบ้าง แต่คงไม่ถึงกับมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจหรือทำให้ข้าวของ-สินค้าขึ้นราคา 

ส่วนจังหวัดที่ปรับ 400 บาท ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจทั้งด้านการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรม ซึ่งค่าจ้างอยู่ในอัตราที่สูงอยู่ก่อนหน้าแล้ว เนื่องจากค่าครองชีพสูงและแรงงานหายาก 

แต่ยอมรับว่า กลุ่มที่ต้องปรับตัวมากหน่อย คือสถานประกอบการที่อยู่อำเภอหาดใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมหรืองานที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปสินค้าประมงจากทะเล อุตสาหกรรมยางพารา และแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา เพื่อการส่งออก

"อุตสาหกรรมเหล่านี้ใช้แรงงานมากและมีมาร์จินค่อนข้างต่ำ หากปรับค่าจ้างรวดเดียววันละ 35 บาท หรือเดือนละประมาณ 1,050 บาทต่อคน คงได้รับผลกระทบ" ดร.ธนิต ระบุ