เบื้องลึกไตรภาคี ขึ้นค่าแรง 400 บาท แค่ 4 จังหวัด เหตุผลที่ยากปฏิเสธ

26 ธ.ค. 2567 | 06:52 น.
2.0 k

เปิดข้อมูลเบื้องลึกประเด็นการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ หรือ “ค่าแรงขั้นต่ำ” 400 บาท บาท โดยนำร่อง 4 จังหวัด และ 1 อำเภอ เช็คเหตุผลสำคัญที่ปฏิเสธไม่ได้ของคณะกรรมการไตรภาคี ก่อนมีบทสรุปแบบวิน-วิน

ประเด็นการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ หรือ “ค่าแรงขั้นต่ำ” 400 บาท โดยนำร่อง 4 จังหวัด และ 1 อำเภอ ได้แก่ ภูเก็ต ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเตรียมจะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไปนั้น นับเป็นอีกหนึ่งบทสรุปที่พบกันแบบ “วิน-วิน” ระหว่างลูกจ้าง นายจ้าง และนโยบายรัฐบาล 

หลังจากต่อสู้กันมาหลายเดือนกับการคิดสูตรอัตราค่าจ้างรอบใหม่ที่ต้องเหมาะสมกับสถานการณ์ และต้องบาลานซ์ให้ไม่เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบการและภาวะเศรษฐกิจ แม้ว่ารัฐบาลจะปักธงขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ

แต่ในที่สุดบนเวทีคณะกรรมการค่าจ้าง หรือไตรภาคี ซึ่งประชุมกันสัปดาห์สุดท้ายของปี 2567 ก็ได้ข้อสรุปอนุมัติอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มในอัตราวันละ 7-55 บาท เป็นอัตราวันละ 337 – 400 บาท เป็นครั้งแรก โดยนำร่องในจังหวัดพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และจังหวัดท่องเที่ยวก่อน

แหล่งข่าวจากกระทรวงแรงงานแจ้งข้อมูลว่า การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคีตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ประกอบด้วย ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และผู้แทนฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายละ 5 คนเท่ากัน บอร์ดชุดนี้มีแนวคิดเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำว่า 

“เป็นอัตราค่าจ้างที่เพียงพอสำหรับแรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงาน 1 คน ให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามสมควรแก้มาตรฐานการครองชีพ สภาพเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งเหมาะสมตามความสามารถของธุรกิจในท้องถิ่นนั้น”

 

เบื้องลึกไตรภาคี ขึ้นค่าแรง 400 บาท แค่ 4 จังหวัด เหตุผลที่ยากปฏิเสธ

 

ดังนั้นในการการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทุกครั้ง คณะกรรมการค่าจ้างจะศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด นั่นคือ อัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ประกอบกับข้อเท็จจริงอื่น โดยคำนึงถึงดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม

เทียบค่าแรงขั้นตำตามเกณฑ์ตปท.

สำหรับการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ หรือ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2568 คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ได้ศึกษาข้อมูลตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และได้กำหนดสูตรคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย โดยเทียบเคียงกับสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของต่างประเทศ เช่น ฝรั่งเศส มาเลเซีย บราซิล และคอสตาริกา เป็นต้น 

โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO) นำมาแสดงเป็นกรณีตัวอย่างของสูตรที่ต่างประเทศยอมรับว่าสามารถดูแลคุณภาพชีวิตของลูกจ้างได้ ซึ่งการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้จะทำให้แรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงานที่เข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่ในปี 2568 รวมทั้งแรงงานที่ทำงานในสถานประกอบกิจการอยู่แล้วใน 77 จังหวัดได้รับการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น

คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ได้กระจายอำนาจการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไปยังภูมิภาค โดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกรุงเทพมหานคร และคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด รวม 77 คณะ ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคีเช่นเดียวกับคณะกรรมการค่าจ้าง เพื่อให้ทำหน้าที่เสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดให้สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละพื้นที่มากยิ่งขึ้น 

รวมทั้งได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรอง เพื่อพิจารณากลั่นกรองข้อเสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำของทุกจังหวัด และพิจารณาข้อมูลข้อเท็จจริงของสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้สอดคล้องกับกรอบแนวทางและหลักเกณฑ์การพิจารณาอัตราค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานมาเสนอต่อคณะกรรมการค่าจ้าง

 

เบื้องลึกไตรภาคี ขึ้นค่าแรง 400 บาท แค่ 4 จังหวัด เหตุผลที่ยากปฏิเสธ

 

เหตุผลเบื้องลึกวงไตรภาคีขึ้นค่าแรง

บทสรุปขอการพิจารณาอัตราค่าแรงขั้นต่ำรอบใหม่ คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ในการประชุม เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2567 ได้พิจารณาภาวะเศรษฐกิจไทยเดือนเดือนตุลาคม ปี 2567 ปรับดีขึ้นจากรายรับภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนที่ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ในประเทศและการส่งออก และแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัว 2.8%

อีกทั้งเมื่อพิจารณาราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในการครองชีพของลูกจ้างในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2567 พบว่า ราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เกือบทุกรายการมีราคาสูงขึ้น ได้ส่งผลให้ค่าจ้างที่แท้จริงของแรงงานลดลง 

ดังนั้น เพื่อรักษาอำนาจซื้อของแรงงานทั่วไปที่เริ่มเข้าทำงานใหม่ให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ในแต่ละวันอย่างมีคุณภาพ คณะกรรมการค่าจ้าง จึงได้มีมติให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มในอัตรา 7 - 55 บาท เป็นอัตราวันละ 337 – 400 บาท โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน ระบุว่า การพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2568 ของคณะกรรมการค่าจ้างฯ อยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค และรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย ผลการพิจารณาจะนำไปสู่ข้อยุติที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันของทุกฝ่าย เพื่อให้นายจ้างสามารถประกอบธุรกิจอยู่ได้ ลูกจ้างสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุข 

นอกจากนี้ยังเชื่อมั่นว่าจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ หรือมีผลทำให้ราคาสินค้า และอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อภาวการณ์ครองชีพของประชาชนโดยทั่วไปด้วย