รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจภายใน รัฐบาลควรเสริมความเข้มแข็งให้กับระบบประกันสังคมซึ่งเป็นเสาหลักของระบบสวัสดิการสังคมของไทยด้วยการเพิ่มการจ่ายเงินสมทบเป็น 5% ให้เท่ากับนายจ้าง ผู้ประกันตน
นอกจากนี้ควรเร่งดำเนินการขยายฐานสมาชิกและนำแรงงานต่างด้าวให้เข้ามาอยู่ในระบบประกันสังคม ขณะนี้ สำนักงานประกันสังคมและกระทรวงแรงงานได้มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานดีขึ้น
อย่างล่าสุด มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์สงเคราะห์บุตรเป็น 1,000 บาทต่อเดือนต่อบุตรหนึ่งคน สิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นนี้ เด็กกว่า 1.2 ล้านคนในครอบครัวผู้ประกันตนจะได้รับประโยชน์ทันที เงินจากกองทุนประกันสังคมนี้จะช่วยให้ครอบครัวรายได้น้อยดูแลลูกๆของแต่ละครอบครัวได้ดีขึ้น พวกเขา คือ อนาคตของสังคมไทยและโลก
ทั้งนี้ กรณีว่าที่ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ต้องการนำคลองปานามากลับมาสู่ภายใต้อำนาจสหรัฐอเมริกาและการเสนอซื้อกรีนแลนด์นั้น ความเคลื่อนไหวดังกล่าวหากไม่ได้เป็นเพียงกลยุทธสร้างอำนาจต่อรองในการดำเนินนโยบายต่างประเทศเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาแล้ว สิ่งนี้อาจจะสะท้อนยุทธศาสตร์การดำเนินนโยบายต่างประเทศของทีมที่ปรึกษาของประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ได้ไม่น้อยว่า ต้องการสร้างระบบ Deal-based มากกว่าระบบ Rule-based ในระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
และเป็นการจัดระเบียบโลกใหม่ภายใต้บทบาทนำของสหรัฐฯอีก 4 ข้างหน้า มีแนวโน้มของการใช้อำนาจที่เหนือกว่าบีบให้เจรจาแบบทวิภาคีแทนระบบพหุภาคี สิ่งนี้จะสั่นคลอนรากฐานของระบบพหุภาคีทางการค้าและเศรษฐกิจที่ได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องภายใต้ทุนนิยมโลกาภิวัตน์ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป
แต่ที่แน่นอนที่สุด คือ การสร้างระบบความสัมพันธ์แบบใหม่ที่ต่างไปจากระบบโลกาภิวัตน์ในช่วงสามสี่ทศวรรษที่ผ่านมา การพูดถึงนโยบายการขยายอิทธิพลและดินแดนของว่าที่ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์กับกลุ่มชาตินิยมขวาจัดในสหรัฐฯ สะท้อนฐานคิดแบบชาตินิยมจะเป็นสิ่งที่กำหนดนโยบายเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศของสหรัฐฯมากยิ่งกว่าเดิม
แนวนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลทรัมป์จะผลักภาระงบประมาณทางการทหารไปที่ประเทศพันธมิตรต่างจากแนวทางของสหรัฐฯที่ผ่านมาที่ได้รับอิทธิพลจากลัทธิทรูแมนที่สหรัฐอเมริกา ทำตัวเป็นตำรวจโลก
รัฐบาลทรัมป์มองว่าข้อตกลงการค้าเสรีจำนวนหนึ่งไม่เป็นธรรมกับสหรัฐฯและต้องเจรจรตกลงกันใหม่ และให้น้ำหนักต่อการปรับเพิ่มกำแพงภาษีนำเข้าเพื่อลดการขาดดุลการค้า ปกป้องอุตสาหกรรมและตลาดแรงงานภายในของสหรัฐฯภายใต้แนวคิดลัทธิปกป้องทางการค้า (Trade Protectionism) มีท่าทีที่เป็นมิตรกับระบอบอำนาจนิยมของรัสเซียอันอาจส่งผลดีต่อการยุติสงครามยูเครนได้ โดนัล ทรัมป์สมัยเป็นนักธุรกิจเคยวิพากษ์วิจารณ์นโยบายทางการทหารของรัฐบาลสหรัฐฯว่าทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณในการช่วยเหลือประเทศต่างๆ เมื่อเข้ามาทำงานทางการเมืองก็ยังมีจุดยืนชัดเจนในการลดการสนับสนุนทางการทหารต่อประเทศพันธมิตร
โดนัล ทรัมป์แสดงจุดยืนด้านการต่างประเทศแบบกลุ่มทุนชาตินิยมอย่างชัดเจนมากว่า 40 ปีที่แล้ว เมื่อตอนที่มีการขยายตัวของกลุ่มทุนข้ามชาติญี่ปุ่นอย่างก้าวกระโดด (คล้ายกับกลุ่มทุนจีนในปัจจุบัน) และมีการลงทุนและซื้อกิจการอย่างมหาศาลของกลุ่มทุนญี่ปุ่น โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในมหานครนิวยอร์ก อย่างเช่น กลุ่มมิตซูบิชิได้เข้าซื้อกลุ่มอาคารร็อกกี้เฟลเลอร์ เซ็นเตอร์ (Rockefeller Center) เป็นต้น โดนัล ทรัมป์ได้แสดงจุดยืนแบบกลุ่มทุนชาตินิยมจ้ะตั้งแต่ช่วงนั้น การดำเนินนโยบายแนวกลุ่มทุนชาตินิยมจึงไม่ใช่สิ่งที่น่าประหลาดใจแต่อย่างใด แต่สิ่งที่ต้องจับตาผลกระทบอย่างใกล้ชิด คือ การปลุกกระแสชาตินิยมขวาจัดในหมู่คนรุ่นใหม่ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมติดตามมาหากไม่สามารถกำกับควบคุมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม