กูรูชี้แนวโน้มเศรษฐกิจไทย 2568 โตต่ำ 3% เทรดวอร์เขย่าส่งออกไทย

30 ธ.ค. 2567 | 14:00 น.

โบรกคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2568 GDP โตต่ำ 3% การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐยังเป็นฟันเฟืองหลัก ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศยังเป็นความเสี่ยง ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และสงครามการค้า "ทรัมป์" คัมแบ็กเศรษฐกิจโลกป่วน กระทบส่งออกไปเผชิญความท้าทาย

นายวทัญ จิตต์สมนึก ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์กลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยมุมมองแนวโน้มเศรษฐกิจไทย 2568 ว่า มองปัจจัยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักๆ ได้แรงหนุนจากการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะในแง่ของการเบิกจ่ายงบประมาณและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ

หลังจากที่งบประมาณได้เบิกเริ่มมีการจ่ายมาตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2/2567 มาอย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน อีกทั้งรัฐบาลยังมีแนวโน้มในการขยายการลงทุนอื่นๆ ระหว่างทางเพิ่มเติม ส่งผลให้ความเชื่อมั่นการลงทุนของภาคเอกชนก็มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวตามไปด้วยเช่นเดียวกัน 

รวมไปถึงการเติบโตของการบริโภคที่จะดีขึ้นตามการท่องเที่ยวและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ และแม้ว่าภาคการส่งออกไทยปี 2568 อาจยังต้องเผชิญความเสี่ยงจากการกีดกันการค้าระหว่างสหรัฐฯกับนานาประเทศ แต่คาดการณ์ว่า GDP ปี 2568 จะขยายตัวอยู่ที่ราวๆ 2.9% จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน (อิงข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย)
 
ด้านอุตสาหกรรมที่โดดเด่นในปี 2568 เชื่อว่าจะยังเป็นการท่องเที่ยว ธุรกิจบริการ อาทิ ร้านอาหาร และโรงแรม ที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ซึ่งเป็นไปตามการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยว รวมไปถึงธุรกิจจำพวกอิงกับการลงทุนภาครัฐ เช่น วัสดุก่อสร้าง ปูน ยางมะตอย และรับเหมาก่อสร้าง จะเห็นการกลับมาฟื้นตัวในทิศทางที่ดีขึ้นหลังจากที่ชะลอตัวไปหลายปี

GDP ไทยโตต่ำ 3%

ดร.วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ บริษัท ทรีนีตี้วัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ TNITY ให้มุมมองต่อทิศทางเศรษฐกิจ 2568 ว่า คาดการณ์เศรษฐกิจปี 2568 ยังคงอยู่ในทรงของการชะลอตัว หรือฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

มองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจประเทศไทย 2568 อัตราการเติบโตของ GPD อาจต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์เฉลี่ยที่ระดับ 3% โดยอาจหดตัวอยู่ที่ระดับใกล้เคียงกับปี 2567 หรืออยู่ในระดับช่วงประมาณ 2.6-2.8% แม้ปัจจัยเชิงบวก เช่น นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีขึ้น ความต้องการบริโภคที่ขยายตัว รวมถึงการจับจ่ายใช้สอยที่ดีขึ้น

แต่ก็มีความท้าทายจากปัจจัยภายนอก ทั้งปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงประเด็นสงครามทางการค้า (เทรดวอร์) ซึ่งมองว่าจากการที่ "โดนัลด์ ทรัมป์" เข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการในช่วงต้นปี อาจได้เห็นนโยบายในการบริหารจัดการประเทศแบบพลิกผัน และมีความไม่แน่นอนอยู่มาก

แน่นอนว่าผลกระทบที่ตามมาอาจตกไปที่ภาคการส่งออกไทย 2568 ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทาย สังเกตได้ว่าในช่วงปลายปีนี้ยอดการส่งออกไทยมีอัตราการเติบโตที่ค่อนข้างสูงในสินค้าหลากหลายประเภท แต่ส่วนตัวมองว่าดีมานด์ที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการลดความเสี่ยงจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของทรัมป์ทำให้ผู้ประกอบการมีการนำเข้าสินค้ามาสต๊อกไว้

จากปัจจัยดังกล่าวทำให้ทางฝ่ายมองว่าในช่วงครึ่งแรกปีหน้าการตัวเลขการส่งออกไทยโดยเฉพาะกับตลาดสหรัฐฯ อาจชะลอตัวลง โดยคาดการณ์ว่าตัวเลขการส่งออกไทยจะอยู่ที่ระดับต่ำประมาณ 1.4-1.5% จากสิ้นปี 2567 ที่คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ระดับกว่า 3.6%

ปี 68 ส่งออกไทยเหนื่อย

นายเสริมศักดิ์ วงศ์สิทธิโชค ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายค้าตราสารการเงิน บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทิศทางเศรษฐกิจ 2568 ของประเทศไทยจะเริ่มเห็นการกลับมาฟื้นตัวในทิศทางที่ดีขึ้น หลักๆ เป็นผลมาจากการเดินหน้าลงทุนโครงการใหม่ๆ จากภาครัฐที่คาดว่าจะทยอยออกมามากขึ้น

โดยสัญญาณการลงทุนของภาครัฐฯ เริ่มกลับมาดีตั้งแต่เดือนกันยายน 2567 เป็นต้นมา ภาครัฐยังมีแผนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยที่อยู่ในระดับสูง ทำให้มองว่าปัจจัยในประเทศสำหรับปี 2568 ยังไม่น่าเป็นห่วงหากว่าไม่เจอจุดพลิกผันใหม่เข้ามากระทบ

แต่ปัจจัยต่างประเทศเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก ที่มาแน่ๆ คือ สงครามการค้าที่รุนแรงมายิ่งขึ้น ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง เศรษฐกิจจีนยังเผชิญหน้ากับปัญหาด้านโครงสร้างเศรษฐกิจ ดังนั้นมองว่า เศรษฐกิจปี 2568 ยังต้องติดตามผลช่วง 6 เดือนแรกของปีก่อนจึงจะเห็นความแน่ชัดว่าจะเป็นไปในแนวทางใด

โดยเฉพาะนโยบายการขึ้นกำแพงภาษีของทรัมป์ว่า จะมีการขยายผลขึ้นภาษีไปยังประเทศอื่นๆ เพิ่มเติมหรือไม่อย่างไร ทำให้การส่งออกไทยในปี 2568 อาจยังต้องเหนื่อยหน่อย ในส่วนของราคาพลังงานนั้น เชื่อว่าจะไม่แย่ไปกว่านี้ และค่าเงินยังคงมีความผันผวน