"สศอ." คาด "GDP-MPI" ภาคอุตสาหกรรมปี 68 ขยายตัว 1.5-2.5% รับอนิสงส์มาตรการรัฐ

27 ธ.ค. 2567 | 15:54 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ธ.ค. 2567 | 15:55 น.

"สศอ." คาด "GDP-MPI" ภาคอุตสาหกรรมปี 68 ขยายตัว 1.5-2.5% รับอนิสงส์มาตรการรัฐ ขณะที่การส่งออกทมีการขยายตัวขึ้นในหลายอุตสาหกรรม ส่วน MPI พฤศจิกายน 67 อยู่ที่ระดับ 93.41 หดตัว 3.58%  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ.ประมาณการณ์ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ปี 68 อยู่ที่ 1.5-2.5%  ส่วน GDP ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวอยู่ที่ 1.5-2.5 % จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ 

รวมถึงการส่งออกที่มีการขยายตัวขึ้นในหลายอุตสาหกรรม อีกทั้งนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ที่มาช่วยกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง แต่ยังคงต้องติดตามปัจจัยอื่นๆเพิ่มเติมอีกด้วย

ทั้งนี้ แนวโน้มปี 68 อุตสาหกรรมดาวเด่นมีแนวโน้มเติบโตจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1. การท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง 2. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น ภาครัฐให้เงินอุดหนุนค่าครองชีพ Easy E-Receipt 2.0 และ 3. การขยายตัวของภาคการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไทย สะท้อนได้จากมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวในเกณฑ์ดี 
 

โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับอานิสงส์ ประกอบด้วย อาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม บรรจุภัณฑ์ ทั้งพลาสติก กระดาษ และโลหะ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับห่วงโซ่การผลิตทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศ และ Hard Disk Drive ที่ผู้บริโภคมีความต้องการกลับมาอีกครั้ง ซึ่งเป็นไปตามโครงสร้างวัฏจักรของสินค้าที่เริ่มหมดอายุรับประกัน

อีกทั้ง ยังมีความต้องการเพิ่มขึ้นในกลุ่ม Data Centers ทำให้คำสั่งซื้อปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ ส่งผลให้ภาพรวมช่วง 11 เดือนแรกที่ผ่านมาในปี 2567 ขยายตัวมากกว่า50 %เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

"สศอ." คาด "GDP-MPI" ภาคอุตสาหกรรมปี 68 ขยายตัว 1.5-2.5% รับอนิสงส์มาตรการรัฐ

สำหรับดัชนี MPI พฤศจิกายน 2567 อยู่ที่ระดับ 93.41 หดตัว 3.58%  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 57.60 % ส่งผลให้ภาพรวม 11 เดือนแรกปี 2567 อยู่ที่ระดับ 96.25 หดตัวเฉลี่ย 1.78 %และอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 58.64 %โดยปัจจัยที่ส่งผลลบต่อภาคการผลิต ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ที่หดตัวต่อเนื่อง ตลาดภายในประเทศชะลอตัว กดดันกำลังซื้อของผู้บริโภค หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง และผลกระทบจากการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาที่มีนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน อาจทำให้สินค้าเข้ามาสู่ไทยและอาเซียนมากขึ้น
 

อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยบวก จากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายจากภาครัฐ เช่น โครงการเงิน 10,000 บาท โครงการแจกเงินผู้สูงอายุ โครงการช่วยเหลือเกษตรกร การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถัง และอากาศยานรบ) ขยายตัว 7.5 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และภาคการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องขยายตัวเพิ่มขึ้น

ด้านระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือนธันวาคม 2567 “ส่งสัญญาณปกติเบื้องต้น” โดยปัจจัยภายในประเทศส่งสัญญาณปกติเบื้องต้น เนื่องจากปริมาณสินค้านำเข้าขยายตัว ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและการส่งเสริมการท่องเที่ยว ในขณะที่ปัจจัยต่างประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังลดลง จากภาคการผลิตในสหภาพยุโรปที่ขยายตัว เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเติบโตได้ แต่ยังมีความกังวลต่อนโยบายทางการค้าในอนาคต รวมถึงภาคการผลิตของประเทศญี่ปุ่นยังซบเซา 

ขณะที่อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตเดือนพฤศจิกายน 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เครื่องจักรอื่น ๆ ที่ใช้งานทั่วไป ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน24.56 % สัตว์น้ำบรรจุกระป๋อง ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน31.43 % เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย (ยกเว้นร้านตัดเย็บเสื้อผ้า) ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 26.58 %

ส่วนอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิตเดือนพฤศจิกายน 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 27.21 % น้ำมันปาล์ม หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 34.54 % ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.63%