เปิดกล่องของขวัญปีใหม่กระทรวงอุตฯ "ปลดล็อกโซลาร์รูฟท็อป-เพิ่มทุน SMEs"

26 ธ.ค. 2567 | 12:51 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ธ.ค. 2567 | 18:06 น.

เปิดกล่องของขวัญปีใหม่กระทรวงอุตฯ "ปลดล็อกโซลาร์รูฟท็อป-เพิ่มทุน SMEs" รุกส่งเสริมการลงทุนนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ในพื้นที่ Rubber City จ่ายเงินสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด เว้นค่าธรรมเนียมคำขอใบรับรอง

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนผ่านการบูรณาการความร่วมมือของทุกหน่วยงาน โดยแบ่งออกเป็น 4 กล่อง ประกอบด้วย

  • สนับสนุนสินค้าและบริการดี ได้แก่ 1.ปลดล็อกโซลาร์รูฟท็อปทุกกำลังการผลิต ไม่ต้องขออนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน เพื่อสนับสนุนใช้ไฟฟ้าสะอาดจากพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมตอบสนองกติกาสากลและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศแบบซีโร่คาร์บอน ,2.ส่งเสริมการลงทุน นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ในพื้นที่ Rubber City ซื้อที่ดินตั้งแต่ 3-121 ไร่ รับส่วนลด 3-15% ของอัตราราคาขายที่ดิน ,3.ส่วนลดราคาพิเศษ อาทิ ลดค่าสมาชิกสถาบันอาหาร 20% จำนวน 100 สิทธิ์ และ4.ลดราคาโปรแกรม HR สำหรับ SME 15% เป็นระยะเวลา 3 ปี ทดลองใช้ฟรี 30 วัน จำนวน 200 สิทธิ์
  • เสริมแกร่งธุรกิจ ได้แก่ 1.บริการซอฟต์แวร์จากดีพร้อมแคร์ ฟรี 6 เดือน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาการบริหารจัดการธุรกิจ อาทิ โปรแกรม SekWeb เครื่องมือสร้างเว็บไซต์อัจฉริยะพร้อมข้อมูล โปรแกรม PEAK บัญชีออนไลน์อำนวยความสะดวกด้านการเงินและงบการเงินต่าง ๆ โปรแกรมบอทน้อย เสริมพลังธุรกิจด้วยแชทบอทอัจฉริยะ ที่จะช่วยให้การสนทนาที่ขับเคลื่อนด้วย AI มูลค่า 25 ล้านบาท , 2.ฟรีอบรมด้าน ESG (E-Environment, S-Social และG-Governance) แก่บุคลากรของผู้ประกอบการเพื่อส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจสีเขียว จำนวนกว่า 400 คน และ 3.ฟรีอบรมการปรับเปลี่ยนวัตถุดิบ การพัฒนากระบวนการผลิต และการประยุกต์ใช้ระบบไอที ผ่าน www.plaskills.com จำนวน 100 ท่าน

เปิดกล่องของขวัญปีใหม่กระทรวงอุตฯ "ปลดล็อกโซลาร์รูฟท๊อป-เพิ่มทุน SMEs"

  • สร้างโอกาส กระจายรายได้ ประกอบด้วย 1.โครงการเหมืองแร่ปลอดภัยห่วงใยประชาชน ปีที่ 8 อาทิ บริการตรวจสุขภาพฟรี ให้กับประชาชนรอบสถานประกอบการเหมืองแร่กว่า 30,000 ราย โครงการจัดสรรเงินผลประโยชน์พิเศษแก่รัฐ ซึ่งเป็นเงินที่ผู้ได้รับอาชญาบัตรพิเศษหรือประทานบัตรตอบแทนแก่รัฐตามที่ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 กำหนดให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 187 แห่ง ครอบคลุม 54 จังหวัด เพื่อนำไปพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชน รวมกว่า 525 ล้านบาท เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในชุมชน สร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก รวมทั้งฟื้นฟูผลกระทบที่เกิดจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
  • 2.สร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ดังนี้ สร้างแรงจูงใจแก่ชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสด คุณภาพดีร้อยละ 100 โดยจ่ายเงินสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อย ในอัตรา 69 บาทต่อตันอ้อย คาดการณ์ปริมาณอ้อยสดคุณภาพดี 75 ล้านตัน ,เพิ่มราคารับซื้อใบและยอดอ้อยในอัตรา 300 บาทต่อตันใบและยอดอ้อย หรือเท่ากับ 51 บาทต่อตันอ้อย ,การจัดหาเครื่องสางใบอ้อยให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยยืมใช้ ทั้ง 4 ภูมิภาค จำนวน 288 เครื่อง เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระชาวไร่อ้อย และการแจกอ้อยพันธุ์ดี ให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยนำไปขยายพันธุ์ในฤดูการผลิตปี 2568/2569 ทั่วประเทศ 200,000 ไร่ ผลผลิต 2 ล้านตัน มูลค่าไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท
  • เสริมสภาพคล่อง ได้แก่ 1.ยกเว้นค่าธรรมเนียมและลดค่าบริการ ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการลงทุนในระบบอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของสถานประกอบการ 10% ของรายจ่ายที่จ่ายไปเพื่อการลงทุนในเครื่องจักร โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งแล้วเสร็จและอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนในระบบอัตโนมัติกว่า 4,500 ล้านบาท ,2.ยกเว้นค่าธรรมเนียมคำขอใบรับรอง ฉบับละ 1,000 บาท ค่าธรรมเนียมใบรับรองฉบับละ 10,000 บาท ,3.ลดค่าใช้จ่ายต่างๆ อาทิ ลดค่าแปลใบอนุญาต มอก. 300 บาท / มผช. 100 บาท / มอก.เอส 100 บาท ลดค่าตรวจโรงงานในประเทศ 50% (มอก.) ลดค่าหลักสูตร TGI Industry Management Reform ยกระดับการจัดการอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน สูงสุด 20% /In-House Training ทุกหลักสูตร 5% ลดค่าทดสอบเครื่องเรือนสถานศึกษา 50% อาทิ โต๊ะนักเรียน (มอก.1494-2567) และเก้าอี้นักเรียน (มอก.1495-2567) ลดค่าสมาชิกสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 10-20% ลดค่าธรรมเนียม ทดสอบ มอก. บังคับ 10 มาตรฐาน 20% และตรวจโรงงาน มอก. ในประเทศ ลดค่าธรรมเนียม 20% / ใบรับรอง EEI Certificate 50% 

2.มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ประกอบด้วย เงินทุนต่อยอด ขับเคลื่อน SME อุตสาหกรรมฮาลาลสู่ตลาดโลก เรียนแล้ว รับรองได้ ลงทุนง่าย ขายส่งออกเป็น สานพลังแหล่งเงินทุน ผ่าน 8 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม รวมถึงแนวทางเกี่ยวกับการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล โดยสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,2.สินเชื่อต่างๆ อาทิ สินเชื่อเสือติดปีก 1,200 ล้านบาท วงเงินสูงสุดไม่เกิน 15 ล้านบาท ผ่อนสูงสุดไม่เกิน 10 ปี ดอกเบี้ย 3-5% ต่อปี ,สินเชื่อคงกระพัน 700 ล้านบาท วงเงินสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท ผ่อนสูงสุดไม่เกิน 3 ปี ดอกเบี้ย 4-7% ต่อปี ,สินเชื่อพิเศษ Diprom Pay วงเงินสูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท ผ่อนสูงสุดไม่เกิน 5ปี ดอกเบี้ย 3-7% ต่อปี ,สินเชื่อกู้ระยะยาว วงเงินสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท ผ่อนสูงสุดไม่เกิน 10 ปี ดอกเบี้ย 3-10% ต่อปี และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ Soft Loan เมื่อเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ทดแทนเครื่องจักรเดิม มูลค่า 60 ล้านบาท 

สินเชื่อธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม วงเงินสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท ผ่อนสูงสุดไม่เกิน 7 ปี ดอกเบี้ย 3-7% ต่อปี ,สินเชื่อลูกค้าใหม่ SME ดอกเบี้ยเริ่มต้น 2.99% ต่อปี ผ่อนนานสูงสุด 15 ปี (8) สินเชื่อสนับสนุน SME Green Productivity ดอกเบี้ยคงที่ 3% ต่อปีใน 3 ปีแรก ผ่อนนาน 10 ปี