ผศ.ดร.อุดมศักดิ์ รักวงษ์วาน อาจารย์ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้ร่วมก่อตั้ง FWX แพลตฟอร์ม DeFi ได้แสดงความเห็นในรายการ "เข้าเรื่อง" เผยแพร่ทางยูทูปช่องฐานเศรษฐกิจ ต่อแนวคิดการออกStablecoinของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ได้นำเสนอในงานปาฐกถาพิเศษอีสานเน็กซ์
ดร.อุดมศักดิ์ได้อธิบายว่า Stablecoinเป็นเหรียญคริปโตประเภทหนึ่งที่อยู่บนบล็อกเชน โดยมีมูลค่าคงที่และมีสินทรัพย์หนุนหลัง ซึ่งแตกต่างจากคริปโตเคอร์เรนซีทั่วไปอย่างบิทคอยน์ที่ราคาผันผวนตามตลาด ยกตัวอย่างเช่น USDT ที่มีมูลค่าเท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เสมอ โดยบริษัทผู้ออก USDT จะเก็บเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ไว้เป็นสินทรัพย์ค้ำประกัน
แต่USDT นั้น ไม่ได้ออกโดยรัฐบาล ผู้ออกเหรียญ USDT เป็นบริษัทเอกชนซึ่งเมื่อมีคนนำเงินมากแลกเป็นเหรียญUSDT ทางบริษัทก็จะนำไปซื้อพันธบัตรสหรัฐฯเก็บไว้เพราะมีผลตอบแทน
ซึ่งหากทางรัฐบาลต้องการออกหนึ่งStablecoin เท่ากับหนึ่งบาท Stablecoinตัวนี้ก็จะกลายเป็นคู่แข่งกับเงินบาท ทางรัฐบาลก็ต้องไปคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ เพราะอาจส่งกระทบและมีสิ่งที่แบงก์ชาติมีความกังวลใจ
สำหรับแนวคิดของอดีตนายกฯ ทักษิณนั้น ดร.อุดมศักดิ์มองว่าเป็นแนวคิดแบบไฮบริด ที่ไม่ได้นำพันธบัตรที่มีอยู่มาปล่อยเงินเข้าระบบทั้งหมด และไม่ได้กำหนดให้ประชาชนต้องนำเงินมาแลกทั้งหมด โดยอาจมีเงินประชาชนส่วนหนึ่งมาซื้อพันธบัตรและออกเป็นสเตเบิลคอยน์ ขณะที่รัฐบาลอาจออกStablecoinบางส่วนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
และได้เสนอให้ไทยพิจารณาการออกStablecoinบนบล็อกเชนสาธารณะ แทนการสร้างบล็อกเชนของรัฐบาลเอง เนื่องจากจะเพิ่มโอกาสการใช้งานในระดับสากล ไม่จำกัดเฉพาะในประเทศ และเงินบางส่วนอาจไหลเวียนในระบบคริปโตสากล ขณะที่รัฐบาลได้ผลตอบแทนจากการถือพันธบัตร นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสสร้างรายได้ให้ประเทศจากการเป็นผู้ออกStablecoin และสร้างความต้องการเงินบาทในตลาดโลก
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวต้องเผชิญความท้าทายสำคัญ 3 ประการ ประการแรก คือผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ซึ่งต้องได้รับการยอมรับจากธนาคารแห่งประเทศไทย และอาจกระทบต่อการควบคุมอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อ รวมถึงต้องพิจารณาผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงิน
ประการที่สอง คือการขาดแคลนบุคลากร เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญด้านบล็อกเชนส่วนใหญ่ทำงานต่างประเทศ และขาดกฎหมายรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมคริปโต
ประการสุดท้ายคือการยอมรับจากประชาชน เพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่คุ้นเคยกับการใช้คริปโต
สุดท้ายได้ยกตัวอย่างความสำเร็จของ USDT ที่ดำเนินการโดยบริษัท Tether ซึ่งสร้างรายได้มหาศาลจากการถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เนื่องจากผู้ใช้ส่วนใหญ่เก็บ USDT ไว้ใช้ในระบบคริปโต โดยไม่ได้นำมาแลกคืนเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ